Search This Blog

Tuesday, June 11, 2013

การผดุงครรภ์ไทย


 การผดุงครรภ์ไทย


จัดทำโดย อ. หมอสุชาติ ภูวรัตน์
นธ.เอกบาลีประโยค 1-2
(อดีตพระธรรมทูตต่างประเทศ)
B.S. Engineering Design Tech.
 B.A. ศาสนศาสตร์บัณฑิต
B.S. Computer Information Systems
B.TM. พทย์แผนไทยบัณฑิต
สาขาวิทยาศาสตร์สุขภาพ
บ.ภ.พท.ว.พท.ผ.พท.น.
ครูแพทย์แผนไทย 4 ด้าน
ศูนย์การแพทย์แผนไทยภูเก็ต
เพื่อการศึกษา และประโยชน์ของผู้ชม

การผดุงครรภ์ไทย

การผดุงครรภ์ไทย หรือการผดุงครรภ์แผนโบราณ เป็นศาสตร์แขนงหนึ่ง ในหลักวิชาการแพทย์แผนไทย เกี่ยวกับการดูแลมารดา และทารก ตั้งแต่ระยะเริ่มตั้งครรภ์ จนกระทั่งคลอด ดังนั้น แพทย์ผดุงครรภ์แผนโบราณ หรือที่เรียกกันว่า หมอตำแย จึงมีหน้าที่ ให้คำแนะนำ ดูแล แก้ไข ป้องกันอาการต่างๆ ของผู้หญิง ตั้งแต่เริ่มตั้งครรภ์ จนครบกำหนดคลอด ทำหน้าที่ทำคลอด ตลอดจน ดูแลสุขภาพมารดาหลังคลอด ทารกแรกเกิด ด้วยกรรมวิธีการแพทย์แผนไทย




ภาพจิตรกรรมฝาผนัง ที่สถาบันการแพทย์แผนไทย จ.นนทบุรี แสดงให้เห็นหญิงกำลังคลอด โดยมีหมอตำแยเป็นผู้ทำคลอด

แพทย์ผดุงครรภ์แผนโบราณต้องมีความรู้เกี่ยวกับความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับสตรี เมื่อเริ่มตั้งครรภ์จนถึงหลังคลอด การทำคลอด และการดูแลมารดาและทารกหลังคลอด หลักวิชาการแพทย์แผนไทยมีรายละเอียดทั้งหมดในคัมภีร์ปฐมจินดา และบางตอน ของคัมภีร์มหาโชติรัต โดยเฉพาะในคัมภีร์ปฐมจินดา มีรายละเอียดของการตั้งครรภ์ จนกระทั่งคลอด และโรคต่างๆ อันอาจเกิดกับทารก ที่คลอดออกมา จะขอกล่าวพอสังเขป เพียง 2 เรื่อง ดังนี้

1. การปฏิสนธิ การตั้งครรภ์ และการคลอด
หลักวิชาการแพทย์แผนไทยอธิบายว่า สตรีนั้นตั้งแต่กำเนิดมาจากครรภ์มารดา มีความแตกต่างจากเพศชายในเชิงสรีระอยู่ 4 ประการ คือ มีถันประโยธร (เต้านม) จริตกิริยา (การแสดงออกของร่างกาย) ที่ประเวณี (ช่องคลอด) และต่อมโลหิตระดู (มดลูก)

ผู้เป็นแพทย์ผดุงครรภ์แผนโบราณ จำเป็นต้องมีความรู้ในเรื่องกายวิภาค และสรีระของสตรีเป็นอย่างดี จึงจะรู้ และเข้าใจในหลักวิชาการผดุงครรภ์ไทย โดยอาจแบ่งออกเป็นความรู้ในสิ่งต่างๆ คือ

ก. ครรภ์วาระกำเนิด
หมายถึง การตั้งครรภ์ เริ่มตั้งแต่การปฏิสนธิ ไปจนถึงการเจริญเติบโตของทารกในครรภ์ เมื่อสตรีเริ่มตั้งครรภ์ จะมีความเปลี่ยนแปลงทางกายที่แสดงว่าตั้งครรภ์ อันได้แก่ เส้นเอ็นที่ผ่านหน้าอกนั้นมีสีเขียวเห็นได้ชัดเจนขึ้น หัวนมสีดำคล้ำขึ้น และมีเม็ดขึ้นรอบๆ หัวนม

สำหรับการเจริญเติบโตของทารกในครรภ์ มีกล่าวไว้ในคัมภีร์ปฐมจินดาตอนหนึ่งว่า
"เมื่อตั้งครรภ์ขึ้นแล้วมิได้วิปริต ครบ 7 วัน ก็ข้นเข้าดังน้ำล้างเนื้อ เมื่อไปอีก 7 วันเป็นชิ้นเนื้อ ไปอีก 7 วันเป็นสัณฐานดังไข่งู ไปอีก 7 วัน ก็แตกออกเป็นปัญจสาขา 5 แห่ง คือ ศีรษะ มือ และเท้า ไปอีก 7 วันก็เกิดเกสา โลมา นะขา ทันตา ลำดับกันไปดังนี้ ในขณะเมื่อครรภ์ตั้งขึ้นได้ 1 เดือน กับ 12 วันนั้น โลหิตจึงบังเกิดเวียนเข้าเป็นตานกยูง ที่หัวใจเป็นเครื่องรับดวงจิตรวิญญาณ ถ้าหญิงเวียนซ้าย ถ้าชายเวียนขวา แต่มิได้ปรากฏออกมา ครั้นเมื่อครรภ์ครบถ้วนไตรมาส ( 3 เดือน ) แล้ว โลหิตนั้นก็แตกออกไปตามปัญจสาขา เมื่อได้ 4 เดือน จึ่งตั้งอาการครบ 32 นั้น จึ่งบังเกิดตาแลหน้าผากก่อน สิ่งทั้งปวงจึ่งบังเกิดเป็นลำดับกันไป เมื่อครรภ์ได้ 5 เดือน จึงมีจิตรวมเป็นเบญจขันธ์ "

ข. ครรภ์รักษา
หมายถึง ความเจ็บป่วยไม่สบาย ซึ่งอาจเกิดขึ้นกับสตรีในระหว่างการตั้งครรภ์ ตั้งแต่เดือนแรกถึงเดือนที่สิบ ซึ่งอาจเป็นเหตุให้การตั้งครรภ์นั้นตกไปได้ คัมภีร์ปฐมจินดาให้รายละเอียดเกี่ยวกับไข้หรืออาการต่างๆ ซึ่งอาจเกิดขึ้น ในระหว่างตั้งครรภ์เดือนแรก จนถึงเดือนสุดท้ายไว้ ดังความตอนที่ว่าด้วยความเจ็บป่วย อันอาจจะเกิดขึ้นในระหว่างการตั้งครรภ์เดือนแรก คือ
"ถ้าสตรีมีครรภ์ได้เดือน 1 ก็ดี ถ้ามีไข้รำเพรำพัด คือ ให้ราก (อาเจียน)ให้จุกในอุทรและให้แดกขึ้นและแดกลง (ดันขึ้นและดันลง) เป็นกำลัง และให้ละเมอเพ้อพกดังผีเข้า"
ในคัมภีร์เล่มเดียวกันนั้น ได้ให้ยาสำหรับแก้ความเจ็บป่วยไม่สบายที่เกิดขึ้นเหล่านั้น เพื่อรักษาครรภ์ไม่ให้ตกไป

ค. ครรภ์วิปลาส
หมายถึง การตั้งครรภ์ที่ตกไป หรือบางตำราว่า หมายถึง การแท้งลูก ซึ่งตามหลักวิชาการแพทย์แผนไทยว่า อาจเกิดจากสาเหตุ 4 ประการ คือ
1) สตรีมีความต้องการทางเพศสูง
2) กินของแสลง
3) โกรธจัด โมโหร้าย ปากจัด
4) ถูกกระทำโดยภูตผีหรือต้องคุณไสย

ง. ครรภ์ปริมณฑล
หมายถึง การดูแลพยาบาลสตรีที่ตั้งครรภ์ได้ตั้งแต่ 3 เดือนเป็นต้นไปจนกระทั่งคลอด คัมภีร์ปฐมจินดาได้ให้ยาแก้ความไม่สบาย หรือไข้ อันอาจเกิดขึ้นในช่วงดังกล่าว จนถึงหลังคลอดแล้วหลายขนาน เช่น ยาแก้โรคบิดในระหว่างตั้งครรภ์ ยาแก้พรรดึก (ท้องผูก ก้อนอุจจาระแข็งเหมือนขี้แพะ) ยาแก้ทารกในท้องดิ้น ยาแก้คลอดลูกยาก ยาแก้หญิงคลอดลูกแล้วมดลูกไม่เข้าอู่ ยาแก้หญิงคลอดลูกแล้วรกขาดในครรภ์

จ. ครรภ์ประสูติ
หมายถึง การคลอดลูก การดูแลช่วยเหลือมารดาขณะคลอด รวมถึงการดูแลทารก ตั้งแต่แรกเกิดจนถึง 12 เดือน คัมภีร์ปฐมจินดา ได้อธิบายการคลอดลูกไว้อย่างน่าสนใจยิ่ง ดังนี้
"ตั้งแต่อยู่ในครรภ์นั้นครบถ้วนทศมาศ คือ 10 เดือนเป็นกำหนด ตามธรรมดาประเพณี ยังมีลมจำพวกหนึ่งชื่อว่า กัมมัชชวาต ก็บังเกิดพัดกำเริบแห่งเส้นแลเอ็นที่รัดรึงตัวกุมารนั้นไว้ ก็ให้กลับเอาศีรษะลงเบื้องต่ำ ฤกษ์ ยามดีแล้ว กุมารแลกุมารีทั้งหลายนั้น ก็คลอดออกจากครรภ์แห่งมารดานั้น"
ช่วงเวลาที่ทารกคลอดออกจากครรภ์มารดา ซึ่งถือเป็นฤกษ์ยามดีนั้น โบราณเรียกว่า "เวลา ตกฟาก" เมื่อคลอดแล้วหมอตำแยจะตัดสายสะดือ และห่อสายสะดือไว้ ส่วนรกจะใส่ภาชนะ แล้วนำไปฝัง

2. การดูแลสุขภาพสตรีหลังคลอด

ความโดดเด่นอีกประการหนึ่งในหลักวิชาการผดุงครรภ์ไทย คือ การดูแลสุขภาพมารดาหลังคลอดด้วยการ "อยู่ไฟ"โบราณเชื่อว่า ในระยะหลังคลอดใหม่ๆ ทั้งทารกและมารดาอาจเกิดอันตรายได้ง่าย จึงให้มารดาหลังคลอดอยู่ไฟ เชื่อว่า ความร้อนเป็นสิ่งบริสุทธิ์ สามารถเผาผลาญสิ่งที่เป็นโทษได้ การอยู่ไฟจะช่วยให้เลือดลมของมารดาหลังคลอดไหลเวียนดีขึ้น ลดการเกร็งและปวดเมื่อย ของกล้ามเนื้อ ช่วยให้แผลฝีเย็บหายเร็วขึ้น ช่วยลดอาการปวด อันเกิดจากการหดรัดตัวของมดลูก และอาการเจ็บปวดจากการคัดเต้านม อีกทั้งยังช่วยเพิ่มความอบอุ่นให้แก่ร่างกายได้เป็นอย่างดี โบราณเรียกช่วงเวลาในการอยู่ไฟว่า "เขตเรือนไฟ" ผู้หญิงไทยสมัยโบราณนิยมอยู่ไฟ 7 วันหลังคลอดท้องแรก แต่หลังคลอดท้องที่ 2, 3 และ 4 อาจอยู่ไฟนานขึ้น 8 - 20 วัน ทั้งนี้ระยะเวลาของการอยู่ไฟ จำนวนวัน นิยมเป็นเลขคี่ เพราะถือเป็นเลขสิริมงคลกับมารดาหลังคลอด


  



ภาพจำลองแสดงการอยู่ไฟ

หลังคลอด 1 - 3 วัน จะมีน้ำเหลืองออกจากแผลรก ซึ่งโบราณเรียกว่า "น้ำคาวปลา" เพราะมีกลิ่นคาวจัด น้ำคาวปลาจะออกมาก ราว 10 วัน หลังจากนั้น ก็ลดน้อยลงเรื่อยๆ จนเมื่อแผลรกหาย ก็หยุดไป บางคนอาจมีน้ำคาวปลาอยู่นานถึง 1 เดือน ดังนั้นหลังคลอด แพทย์แผนไทยมักให้มารดากินยาขับน้ำคาวปลา และยาระบาย เพื่อขับล้างเอาของเสีย และสิ่งเน่าเสีย อันเกิดจากการคลอดบุตร ออกไปจากร่างกายของมารดาหลังคลอด นอกจากนั้นในช่วงดังกล่าวจะต้องดูแลสุขอนามัยช่องคลอดให้สะอาด ไม่ให้น้ำคาวปลาหมักหมม จนทำให้เกิดการติดเชื้อ ที่เรียกว่า "สันนิบาตหน้าเพลิง" ซึ่งหมายถึง ไข้ที่เกิดในเขตเรือนไฟ

หลักวิชาการผดุงครรภ์แผนไทยแนะนำว่า มารดาหลังคลอดควรอาบน้ำสมุนไพร หรืออบสมุนไพร เพื่อชำระร่างกายให้สะอาด สดชื่น ดับกลิ่นคาวเลือด ช่วยให้มดลูกกลับเข้าสู่สภาพเดิมเร็วขึ้น และขับน้ำคาวปลา เริ่มต้นด้วยการอาบน้ำร้อนที่ต้มกับใบมะขาม ฝักส้มป่อย และหัวหอม หลังเช็ดตัวให้สะอาดแล้ว จึงใช้ลูกประคบที่ใช้ไพลผสมกับการบูรกดตามส่วนต่างๆ ของร่างกาย เพื่อแก้อาการปวดเมื่อย อันเกิดจากการคลอดลูก ช่วยขับเหงื่อ และการประคบบริเวณหัวนม เพื่อช่วยเพิ่มน้ำนม และทำให้น้ำนมไหลดีขึ้น

การอยู่ไฟหลังคลอด จะช่วยให้ท้องอุ่นอยู่เสมอ บรรเทาอาการปวดมดลูก และช่วยให้มดลูกเข้าอู่เร็ว คนโบราณนิยมใช้ความร้อน จากฟืนไม้สะแกนา เพราะเป็นไม้พื้นบ้าน หาง่าย ติดไฟแล้วคุดี มอดช้า ไม่เปลือง ความร้อนที่ใช้ในการอยู่ไฟ อาจได้จากการทับหม้อเกลือ (หรือการนาบหม้อเกลือ)ซึ่งเป็นการให้ความร้อนแก่เกลือ ที่บรรจุอยู่ในหม้อดิน ห่อด้วยใบพลับพลึง และผ้าขาว แล้วใช้กดหรือนาบตามส่วนต่างๆ ของร่างกาย โดยเฉพาะบริเวณท้องและต้นขา การใช้ความร้อน จะช่วยให้การไหลเวียนของเลือดดีขึ้น ช่วยขับน้ำคาวปลา และช่วยลดอาการปวดเมื่อย ของกล้ามเนื้อ จากการคลอดบุตร หรืออาจใช้วิธีการนั่งถ่าน โดยอาจใช้ตัวยาสมุนไพร เผาเอาควันรมร่วมด้วย สมุนไพรที่ใช้ ได้แก่ ผิวมะกรูดแห้ง ว่านน้ำ ว่านนางคำ ขมิ้นอ้อย ชานหมาก ไพล เปลือกต้นชะลูด ผงขมิ้นชัน และใบหมาก วิธีหลังนี้เป็นการใช้ความร้อน เพื่อช่วยให้แผลแห้งเร็ว และยังช่วยสมานแผลจากการคลอด นอกจากนั้นยังอาจใช้ยาช่วย เช่น ยาช่วยให้มดลูกเข้าอู่ (กลับเข้าที่เดิม หรือกลับสู่สภาพเดิม) ยาบำรุงน้ำนม โดยในเขตเรือนไฟนั้น คนโบราณห้ามกินของแสลง เพื่อให้ร่างกายมีสุขภาพดี




การนาบหม้อเกลือดูแลหลังคลอด

 การทับอิฐหลังคลอดลูก




การนั่งถ่าน

การเข้ากระโจมอบไอน้ำ


การศึกษาด้านการผดุงครรภ์ไทย
จุดประสงค์เพื่อการศึกษาแก่เยาวชนผู้ที่สืบทอดภูมิปัญญาแพทย์แผนไทยและแพทย์พื้นบ้าน
การผดุงครรภ์ไทย ทำคลอดปกติใช้วิธีแบบธรรมชาติ ไม่ต้องผ่าตัดปากช่องคลอด (ถ้าไม่จำเป็น)

อาการแสดงของหญิงใกล้คลอด
เต้านมจะแข็งคัด ปากช่องคลอดบวม ท้องลดต่ำลง ท้องกลมแข็ง มีอาการเป็นเหน็บชาที่เท้า เกิดอาการบวมขา เลือดลมคั่ง ถ้ามดลูกเปิดถึง นิ้ว ก็เกือบถึงกำหนดคลอด ถุงน้ำคร่ำก็จะแตก

การตรวจปากมดลูก
ปากมดลูกเปิดเท่าเหรียญสลึง ต้องรออีกสองชั่วโมงแล้วทำการตรวจใหม่ ถ้าเปิดเท่าเหรียญบาท ต้องตรวจทุกๆชั่วโมง ถ้าเปิดกว้าง 3 นิ้ว แสดงว่าจะคลอดในชั่วโมงนี้ ถ้าเป็นท้องสาวต้องรอไปอีก 2 ชั่วโมง เมื่อปากมดลูกเปิดกว้างกว่า 3 นิ้ว น้ำทูนหัวจะไหลออกหมด มดลูกจะบีบรัดตัวทารกทำให้เป็นการช่วยเร่งทารกคลอดออกเร็ว

การดูแลด้านจิตใจแก่หญิงตั้งครรภ์ขณะคลอดบุตร
1. ดูแลสภาพจิตใจของหญิงขณะรอคลอดบุตร
2. การดูแลการกลัวคลอดบุตร
3. ดูแลการตอบสนองด้านอารมณ์ ความกลัวและการเจ็บครรภ์
4. ดูแลความต้องการเพื่อน


การเจ็บท้อง
1. การเจ็บท้องเดือน เกิดเมื่อใกล้ถึงกำหนดคลอด  เนื่องจากการหดตัวของมดลูก ซึ่งไม่มีกำหนดระยะที่แน่นอน

2. การเจ็บท้องคลอด มดลูกหดรัดตัวแรงกว่าเดิม และมีเป็นระยะแน่นอนประมาณ 1 นาที
3. การเจ็บท้องหลังคลอด มดลูกหดรัดตัวอยู่ตลอดเวลา มีอาการคลายตัวบ้างๆนานครั้ง

การเบ่ง
เป็นการใช้กล้ามเนื้อหลังและกระบังลม ซึ่งจะหดรัดตัวอย่างแรงทำให้กล้ามเนื้อภายในช่องท้องเล็กลง ความรู้สึกอยากเบ่ง เป็นความรู้สึกรุนแรงและอดกลั้นไม่ได้

ช่องทางคลอด
คือ อวัยวะภายในอุ้งเชิงกรานประกอบด้วยกระดูกเชิงกรานและเนื้อเยื่ออ่อนที่ระบุเชิงกราน ทางช่องคลอดเริ่มตั้งแต่รูปากมดลูกตลอดช่องคลอดจนถึงปากช่องคลอด

กำลังการคลอด
กำลังผลักดัน จะทำให้ทารกออกจากโพรงและเคลื่อนลงมาตามช่องคลอด คือกำลังผลักดันที่เกิดจากการหดตัวของมดลูก การคลอดต้องอาศัยกำลังของการคลอด 2 ชนิด การเจ็บคลอดและการเบ่งคลอด

ร่างของทารก 
ในการคลอดทารกไม่มีการช่วยเหลือตัวเองในการเคลื่อน ความกดดันของการหดตัวรัดของตัวมดลูกบังคับให้ศีรษะอยู่เบื้องล่างและอยู่ในทางทรงคว่ำแต่ในตอนหลังของการเกิด ศีรษะกลับถูกบังคับให้เปลี่ยนแปลงเป็นทรงหงาย

อาการของมารดาเมื่อทารกคลอด
มดลุกจะบีบตัวหดตัวรัดทารกเพื่อให้เคลื่อน ศีรษะทารกจะเลื่อนมาอยู่ที่ปากมดลูกให้แย้ม เมื่อมดลูกขยายตัวเปิดถุงน้ำคร่ำจะดันออกมาถ่างปากมดลูกให้ขยายตัวขึ้นและดันทารกคลอดผ่านทางมดลูกและข้อกระดูกของอุ้งเชิงกราน ลมเบ่งที่เกิดจากการหดตัวของมดลูกจะทำให้ถุงน้ำคร่ำไหลน้ำคร่ำออกมา ทำให้มดลูกเหี่ยวเล็กและบีบรัดทารกหนักเข้าและคลอดออกมาอย่างสะดวก

กระบวนการคลอด
อาศัยความเหมาะสม 3 ประการ คือช่องคลอด กำลังคลอด และร่างกายเด็ก 

กระบวนการคลอดบุตรแบ่งได้ 3 ระยะ คือ ระยะปากมดลูกเปิด ระยะเบ่ง ระยะคลอด

ลักษณะที่ทารกจะคลอด
1. ท่าคว่ำหน้าออก
2. ท่าหงายหน้าออก
3. ท่าเอาก้น ขาหรือ เท้าออก
4. ท่าเอามือและแขนออก


การปฏิบัติของการผดุงครรภ์ในระยะของการคลอด

1.
ความสะอาดของผดุงครรภ์ สถานที่คลอดต้องสะอาดปลอดโปร่งล้างด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อโรคให้ทั่ว

2. การปฏิบัติการช่วยเหลือในระยะคอมดลูกเปิด ต้องสังเกตสีและปริมาณของน้ำทูนหัวและเวลาที่ถุงน้ำทูนหัวแตก
หากเป็นสีเขียวแสดงว่ามีขี้เทาของทารกปนอยู่ในเขตอันตราย
ส่วนสวนอุจจาระและปัสสาวะออกให้หมดและชำระช่องคลอดด้วยน้ำยาแอนตี้เซพติค

3. การปฏิบัติและการช่วยเหลือมารดาในระยะเบ่ง ช่วยสอนผู้คลอดให้เบ่งในวิธีถูกต้อง ไม่ร้องครวญครางขณะเบ่ง เพราะทำให้ขาดการออกกำลังช่วยมดลูก

4. การปฏิบัติและการช่วยเหลือทารกในระยะคลอด ให้ศีรษะทารกอยู่ทางขาซ้ายของมารดาเพื่อให้โลหิตในห้องหัวใจเดินสะดวก ปลุกให้ฟื้น ควักน้ำเลือดออกจากปาก และจมูก เอาน้ำอุ่นหรือน้ำเย็นปะพรมตามหน้าอกและฝายปอดจนกว่าจะฟื้น แล้วจึงผูกสายสะดือเป็นสองตอน ตัดตรงกลางที่ เอาน้ำมันมะกอกเช็ดตามตัวเพื่อให้ไขมันออก อาบน้ำอุ่นและหยอดตาทารกด้วยกรดเงิน 0.1 เปอร์เซ็นต์ แล้วรีบกลับมาปฏิบัติกับมารดาโดยเร็ว

การทำคลอดการตรวจทารกและสายสะดือ
ตามธรรมดาเมื่อทารกคลอดออกมาแล้วจะมีเลือดไหลออกตามมา คงมีแต่น้ำคร่ำปนกับทารกออกมา ต่อเมื่อรกหลุดออกจากผนังมดลูก เลือดจะไหลตามทารกออกมาด้วย ถ้าทารกคลอดออกมาครั้งแรก ถ้ามีเลือดตามตัวทารกออกมา แสดงว่าทารกจะติดที่ปากมดลูก เพราะเวลาคลอดทารกจะเอาหัวดันมดลูก รกจึงหลุดออกมาพร้อมกับตัวทารก หรือมิฉะนั้นปากมดลูกฉีกขาดในเวลาที่ทารก ออกมาจึงมีเส้นเลือดไหลมาพร้อมกับตัวทารก นับว่าผิดธรรมดาหรือมีอันตราย

ระยะรกคลอด (คลอดรก)
คือการรอกตัวของรกหลุดจากผนังมดลูก ถูกผลักดันออกจากโพรงมดลูกลงไปอยู่ในช่องคลอด จนกระทั่งเดินพ้นจากช่องคลอด แล้วเส้นโลหิตจะตีบลง โลหิตก็หยุด ต่อไปก็จะออกเป็นน้ำคาวปลา

วิธีป้องกันรกบิน
คือผูกซ้ำที่สายสะดือแล้วใช้ไม้ตับคาบที่สายสะดือแล้วผูกโยงกับขาผู้คลอดจนกว่าจะคลอดรก 

หน้าที่ของรก คือ การหายใจแทนปอดของทารก และทำหน้าที่แลกเปลี่ยนอาหารกับมารดาทางโลหิต
โรคของรก เกิดมีไขมันมาก แข็งกระด้างเป็นไต เป็นเม็ดฝังใน แห้งเหี่ยวทำให้แลกเปลี่ยนโลหิตไม่สะดวก ถ้ารกผิดปกติ ทารกอาจเป็นโรคขาดสารอาหาร ผอมแห้ง ร่างกายไม่สมบูรณ์ โรคของรกได้แก่

1.
รกขวาง คือ การที่รกเกาะตัวผิดตำแหน่ง มี 3 ชนิด คือ
1.1 รกเกาะต่ำ
1.2 รกเกาะอยู่ที่ส่วนล่างของมดลูกและที่มดลูกด้วย
1.3 การที่รกปิดปากมดลูกจนมิดหมด
สาเหตุ เนื่องจากการเกาะของไข่ที่ผสมพันธ์แล้ว เกาะที่ผนังมดลูกอยู่ต่ำมาก และเอนลงมาเกาะอยู่ที่บริเวณคอมดลูกด้านใน

2.
รกรอกตัวก่อนเวลา พบได้มาจากมารดาที่มีประวัติได้รับการกระทบกระเทือนมาก่อน ซึ่งมีอันตรายต่อมารดาและทารกอย่างมาก

เรื่องของสายสะดือ
ข้างหนึ่งของสายสะดือติดอยู่กับรก เกิดขึ้นเมื่อทารกปฏิสนธิแล้วประมาณ 1 เดือนเศษ มีลักษณะเป็นเส้นตรง ครั้งเมื่อทารกดิ้นไปดิ้นมาจึงเกิดมาเป็นเกลียว

การตัดสายสะดือ
ก่อนตัดสายสะดือต้องรูดสายสะดือไปทารก 2-3 ครั้ง แล้วกดบีบจนไม่มีเส้นเลือดเต้น ผูกสายสะดือเปราะหนึ่งให้ห่างจากท้อง 2-3 นิ้ว ห่างอีก 2 นิ้ว แล้วผูกอีกเปราะหนึ่ง จับสายสะดือให้ชิดกับหน้าท้องแล้วใช้กรรไกรหรือเครื่องมือที่เตรียมไว้ตัด ให้เหลือความยาวจากตัวทารก 2 นิ้ว

วิธีการดูแลหลังคลอดตามกรรมวิธีการแพทย์แผนไทย
วิธีของการดูแลหลังคลอดแบบแผนไทย โดยมารดาหลังคลอด 1 คน อาจจะใช้เพียง 1-2 วิธีเท่านั้น ดังต่อไปนี้

1. การอบสมุนไพร
การอบสมุนไพรไทยหลังการคลอด เป็นวิธีการที่จะทำให้ร่างกายได้ขับของเสียออกทางผิวหนัง ช่วยขับน้ำคาวปลา ช่วยให้ผิวพรรณสดชื่น แจ่มใส สะอาด สำหรับผู้ที่คลอดปกติ จะทำการอบได้เมื่อครบกำหนด 7 วัน และสำหรับผู้ที่คลอดโดยการผ่าคลอด จะอบได้เมื่อครอบหลังคลอด 30 วัน
ตัวยาในการอบสมุนไพร มีดังนี้ คือ ไพล ขมิ้นอ้อย ขมิ้นชัน ตะไคร้ ใบมะกรูด และผิวมะกรูด ใบหญ้าคา ใบพลับพลึง ว่านน้ำ ว่านชักมดลูก ว่านมหาเมฆ ว่านนางคำ ใบเปล้าหลวง ขิง ใบช้าพลู ใบส้มป่อย
วิธีอบ ควรอบวันละประมาณ 20 นาที และอบสมุนไพรทุก ๆ วันจนครบ 7 วัน

2. การประคบสมุนไพร
เป็นวิธีการที่ช่วยทำให้แผลฝีเย็บแห้งดีและลดการอักเสบ และลดการคัดของเต้านม ทั้งยังช่วยลดอาการปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ หลังคลอดบุตร 7 วัน สามารถประคบด้วยลูกประคบ ซึ่งมีตัวยาหลักดังนี้ ไพล ตะไคร้ ขมิ้นอ้อย ขมิ้นชัน ผิวมะกรูด เถาขมิ้นอ่อน ใบส้มป่อย ใบมะขาม การบูร
วิธีประคบ ใช้ลูกประคบ 3 ลูก ใช้นั่งทับ 1 ลูก อีก 2 ลูก ใช้ประคบตามร่างกายและเต้านมประคบทุกวันจนนมหายคัด หลังจากประคบอาจใช้น้ำที่เหลือจากการอบสมุนไพร ทิ้งไว้ให้พออุ่นแล้วอาบให้หมดแล้วจึงอาบน้ำอุ่น ๆ ล้างอีกครั้งหนึ่ง

3. การนั่งถ่าน
เป็นการใช้ความร้อนและควันจากการเผาไหม้ของตัวยาสมุนไพร เพื่ออบบริเวณช่องคลอด ซึ่งช่วยสมานแผลจากการคลอดบุตร ส่วนประกอบในตัวยามีดังนี้ ผิวมะกรูดแห้ง เหง้าว่านน้ำ ว่านนางคำ ไพล ขมิ้นอ้อย ชานหมาก เปลือกต้นชะลูด ขมิ้นผงและใบหมาก
วิธีการนั่งถ่าน หั่นตัวยาสมุนไพรให้ละเอียด แล้วนำมาตากแดดให้แห้งก่อเตาไฟเล็ก ๆ และกลบขี้เถ้าให้ร้อนพอทนได้ นั่งเก้าอี้ไม้เจาะรูตรงกลางวางครอบเตาไฟเอาตัวยาสมุนไพรโรยบนเตาถ่าน จะเกิดควันจากการเผาไหม้ ตัวยาจะพลุ่งขึ้นมาเองมารดาหลังคลอดนั่งบนเก้าอี้ให้ควันและความร้อนเข้าสู่ช่องคลอด ให้มารดาหลังคลอดนั่งถ่านวันละ 1 ครั้ง ๆ ละ ½ ชม. โดยทำภายหลังจากการนาบหม้อเกลือ
4. การอยู่ไฟ
การอยู่ไฟหลังคลอดสาหรับคุณแม่คนใหม่ สามารถทำได้ไม่ว่าคุณจะผ่านการคลอดโดยวิธีธรรมชาติ หรือการผ่าตัด ในกรณีที่คุณแม่คลอดลูกเอง สามารถอยู่ไฟได้เลย แต่ถ้าคุณแม่ผ่าตัด ควรรอให้แผลแห้งก่อน ประมาณ 2 สัปดาห์ถึง 1 เดือน
การอยู่ไฟ เป็นการถ่ายความร้อนเข้าสู่ร่างกาย เพื่อไล่ความเย็น ทำให้ร่างกายสมดุล

ประโยชน์ของการอยู่ไฟมีดังนี้
1. ขับน้ำคาวปลา และกระตุ้นให้มดลูกเข้าอู่เร็วขึ้น
2. ช่วยให้น้ำนมไหลออกสะดวก

3. กระชับหน้าท้องที่ขยายตัวให้ลดลง ทำให้หน้าท้องยุบ
4. ผ่อนคลายกล้ามเนื้อและช่วยให้น้ำหนักตัว
5. ทำให้ผิวพรรณสดใส
6. ไม่ทำให้เกิดอาการปวดหลัง หรือข้อกระดูกตามร่างกาย 

ข้อควรระวัง 

1. ไม่ควรก่อไฟให้ร้อนหรือลุกโชนเกินไปเพราะอาจทำให้ผิวหนังพุพองได้

2. สถานที่ไม่อุดอู้ อากาศถ่ายเทและมีแสงสว่างเพียงพอ

3. ในขณะที่อยู่ไฟหากเกิดอาการอ่อนเพลีย อ่อนหล้าหรือเหนื่อยผิดปกติที่จะก่อให้เกิดผลเสียต่อร่างกายควรหยุดในการอยู่ไฟ

4. ระยะอยู่ไฟให้อยู่ตามความสะดวก (นิยมอยู่วันคี่ เช่น 3 วัน 5 วัน 7 วัน 29 วัน)

5. กรณีทีมีการเย็บฝีเย็บให้รอให้ครบ 7 วันก่อนเพราะอาจทำให้ไหมละลาย ละลายก่อน 7 วันได้

6. การอยู่ไฟจะทำให้เสียน้ำมากควรดื่มน้ำทดแทนน้ำที่เสียไป 

7. ไม้ที่นำมาทำฟืนควรเลือกไม้เนื้อแข็งที่เผาแล้วเป็นถ่านแดง เช่น
ฟืนไม้มะขาม ฟืนไม้จะบก ป็นต้น

8.
 ไม้ที่ห้ามนำมาใช้ในการอยู่ไฟ คือ ฟืนไม้ตาด เพราะมียางทาให้คัน ฟืนไม้รัก (น้ำเลี้ยง) ทำให้คัน ฟืนไม้แดงเมื่อเผาแล้วทำให้ไฟแตกกระเด็นควันแสบตา และฟืนไม้เนื้ออ่อน เช่น มะม่วง ขนุน งิ้วหรือนุ่น เพราะทำให้มีควันมาก

สมุนไพรที่นิยมใช้ต้มอาบ 

หลังจากที่หญิงคลอดบุตรแล้วผิวพรรณส่วนใหญ่จะมีสีคล้ำดำ ดูไม่สดใส บางคนอาจมีฝ้ากระเพิ่มขึ้น การใช้สมุนไพรชำระร่างกายด้วยการต้มอาบจะช่วยให้ผิวพรรณผ่องใสไร้สิวฝ้าได้ เช่น
 

1. แก่นมะขาม ใบมะขาม
   สรรพคุณ  ชำระร่างกายให้สะอาด

2. ใบส้มป่อย
   สรรพคุณ  ชำระร่างกายให้สะอาด 

    3. แก่นมะตูม หัวไพล หัวขมิ้น ใบเปล้า 
       ใบหนาด ผักบุ้งแดง
        สรรพคุณ บำรุงผิวพรรณ

และสมุนไพรอื่นๆตามท้องถิ่น สมุนไพรที่นำมา
พอกหรือขัดผิวเพื่อบำรุงผิว เช่น

1.      หัวไพล
สรรพคุณ ลดรอยจุดด่างดำแก้ฝ้า

2.      หัวขมิ้นชัน
สรรพคุณ สมานผิว บำรุงผิวพรรณ รักษาสิว 

3.      ว่านนางคำ
สรรพคุณ ลดรอยจุดด่างดำ

4.      มะขามเปียก
สรรพคุณ  ขัดผิว

น้ำผึ้ง
5.      สรรพคุณ  บำรุงผิว

สมุนไพรที่นิยมใช้ต้มระหว่างอยู่ไฟ

1.      หญ้านางแดง
         ใบ สรรพคุณ แก้พิษไข้ แก้ตัวร้อน แก้ไข้กลับซ้ำ ขับล้างพิษในโลหิต ดีกว่า หญ้านางเขียว  แต่ต้องใช้ปริมาณที่มากกว่า และหายากกว่า ใบหญ้านางช่วยลดความร้อนในร่างกายได้ดี
         เถา สรรพคุณ เข้ายาบำรุงโลหิตสตรีหลังคลอดบุตรขณะอยู่ไฟ บำรุงน้ำนม
         ราก สรรพคุณ แก้ไข้พิษ ถอนพิษเมา แก้ไข้พิษทั้งปวง เข้ายาบำรุงโลหิตสตรีหลังคลอดบุตร  ขณะอยู่ไฟ ช่วยให้มดลูกเข้าอู่เร็ว และบำรุงน้ำนม ใช้ฝนกับน้ำต้มสุกดื่ม

สมุนไพรที่นิยมต้มดื่มขณะอยู่ไฟ 

 ยาสมุนไพรที่นิยมใช้ในระยะหลังคลอดมีวัตถุประสงค์เพื่อ ขับน้ำคาวปลา ขับเลือดเสีย ช่วยให้มดลูกเข้าอู่เร็ว บำรุงน้ำนม บำรุงร่างกาย ส่วนใหญ่มีรสเผ็ดร้อน เช่น

1.
แก่นมะขาม
   สรรพคุณ ขับน้ำคาวปลา ช่วยให้มดลูกกระชับ

2.
ไพล ว่านชัดมดลูก ว่านนางคำ ขมิ้นอ้อย
   สรรพคุณ ขับน้ำคาวปลา ช่วยให้มดลูกกระชับ  ขับเหงื่อ คลายกล้ามเนื้อ

3.
แก่นมะตูม
   สรรพคุณ บำรุงเลือด บำรุงร่างกาย

4.
แก่นฝาง
   สรรพคุณ บำรุงเลือด บำรุงร่างกาย

5.
ราก เถา ลำต้น หญ้านางแดง
   สรรพคุณ ช่วยบำรุงน้ำนม ทำให้น้ำนมมาเร็ว

6.
กระเทียม
   สรรพคุณ ขับเหงื่อ ขับของเสียในร่างกาย

7.
ว่านหอมแดง
   สรรพคุณ บำรุงเลือด บำรุงร่างกาย

8.
ยาหัว
   สรรพคุณ บำรุงเลือด บำรุงร่างกาย 


อาหารบำรุงร่างกายและบำรุงน้ำนม เช่น

1.      แกงหัวปลีใส่ปลาช่อน
    สรรพคุณ  ช่วยบำรุงน้ำนมทำให้น้ำนมไหลดี 

2.      แจ่วพริกอ่อนกระเทียมเผ
    สรรพคุณ ให้คุณค่าทางโภชนาการช่วยบำรุงร่างกาย 

3.      อ่อมไก่บ้าน
    สรรพคุณ ให้คุณค่าทางโภชนาการช่วยบำรุงร่างกาย 

4.      นึ่งปลาช่อน
    สรรพคุณ ให้คุณค่าทางโภชนาการช่วยบำรุงร่างกาย

แกงอ่อมไก่

แกงอ่อมไก่

 แกงอ่อมไก่

แก่งอ่อมไก่ล้านนา

แกงอ่อมไก่บ้าน
เนื้อไก่บ้าน    500 กรัม
ผักชีลาว           1 กำมือ
ต้นหอม            1 กำมือ
พริกขี้หนู        15 เม็ด
ข้าวคั่ว              3 ช้อนโต๊ะ
ตะไคร้              3 ต้น
ปลาร้า              3 ช้อนโต๊ะ
กระเทียม          1 หัว
หอมแดง           3 หัว
วิธีทำ
1. โขลกพริก หอมแดง กระเทียม ตะไคร้ ให้ละเอียด
2. สับไก่ให้เป็นชิ้นเล็กๆ คั่วไก่ใส่พริกแกง ใส่เกลือ ปลาร้า คนให้เข้ากันพอไก่สุก เติมน้ำพอประมาณให้เดือดใส่ข้าวคั่วแล้วชิมรสตามชอบ ใส่ผักชีลาว หอม ใบมะกรูด คนให้เข้ากันแล้วยกลง
ประโยชน์ทางอาหาร
การรับประทานแกงอ่อมไก่ จะได้ประโยชน์ จากผักพื้นบ้านหลายๆชนิด ซึ่งผักแต่ละชนิดล้วนแล้วแต่มีคุณค่าทางโภชนาการมากมาย เช่น โปรตีน คาร์โบไฮเดรต แคลเซียม เหล็ก วิตามินบี 1 วิตามิน 2 ไนอาซีน เป็นต้น

 

แกงหัวปลีใส่ปลาช่อน สูตร 1
หัวปลีกล้วย       1 หัว
เนื้อปลาช่อน      1 ตัวใหญ่
พริกสด           10 เม็ด
หอม                 2 ต้น
กระเทียม           1 หัว
กะปิ                  2 ช้อนโต๊ะ
น้ำปลา              1 ช้อนชา
เกลือ                1 ช้อนชา
น้ำตาล              1 ช้อนชา
วิธีทำ
โขลกเครื่องแกง พริก หอม กระเทียม กะปิ เกลือ
ต้มน้ำพอเดือด ใส่พริกแกงที่โขลกไว้ เกลือ น้ำตาลปรุงรส
ตามด้วยหัวปลีที่หั่นแล้ว หัวปลีเริ่มสุกนิ่มแล้วก็ใส่ปลา ห้ามใช้ทัพพีคนจะคาว จับหูหม้อหมุนๆ แทน และไม่ปิดฝาหม้อเพราะจะคาวเหมือนกัน

แกงหัวปลีใส่ปลาช่อน สูตร 2
หัวปลีกล้วย          1 หัว
เนื้อปลาช่อน        1 ตัวใหญ่
พริกไทย            10 เม็ด
หอม                   2 ต้น
กระเทียม             1 หัว
ใบแมงลัก           20 ใบ
มะขามเปียก         2 ช้อนโต๊ะ
เกลือ                   1 ช้อนชา
ปลาร้า                 1 ช้อนโต๊ะ
วิธีทำ
โขลกเครื่องแกง พริกไทย หอม กระเทียม เกลือ
ต้มน้ำพอเดือด ใส่พริกแกงที่โขลกไว้ มะขามเปียกเกลือ ปลาร้าปรุงรส  ตามด้วยหัวปลีที่หั่นแล้ว ใบแมงลัก
หัวปลีเริ่มสุกนิ่มแล้วก็ใส่ปลา ห้ามใช้ทัพพีคนจะคาว จับหูหม้อหมุนๆ แทน และไม่ปิดฝาหม้อเพราะจะคาวเหมือนกัน



นึ่งปลาช่อน
ปลาช่อน           1 ตัวใหญ่
กระเทียม          3-5 หัว
ตะไคร้              5 ต้น
พริกไทยป่น       1 ช้อนชา
ใบแมงลัก          1 กำมือ
เกลื่อป่น           2-3 ช้อนโต๊ะ
น้ำปลา             2-3 ช้อนโต๊ะ
ข่าอ่อน/ดอกแคอ่อน
และผักอื่นๆ ตามต้องการ
วิธีทำ
ขอดเกล็ดปลาช่อน เอาเฉพาะขี้ปลาออกทิ้ง
โขลกพริกไทย กระเทียม ตะไคร้ พอแหลกละเอียด คลุกเคล้ากับปลา  ปรุงรสด้วยเกลือ น้ำปลาหมักให้เข้าเนื้อปลาเพื่อเพิ่มรสให้ดีขึ้น เตรียมนึ่งผัก ข่าอ่อน (ส่วนยอด)  ดอกแค (เอาเกสรออก) ผักอื่นๆ ล้างสะอาด ยอดใบแมงลัก เอาใบแมงลักวางล่างสุดของหม้อนึ่ง เอาช่อนวางลงไป เอาข่าอ่อนผักอื่นวางลงไปนึ่งให้สุกแล้วยกลง  รับประทานกับแจ่วพริกอ่อนกระเทียมเผา

แจ่วพริกอ่อนกระเทียมเผา

อายุของเด็กตั้งแต่เกิดจนเดินได้


ทารกแรกเกิด

ทารกเพิ่งคลอด











อายุ 6 เดือน


อายุ 7 เดือน



อายุ 10 เดือน









อายุ 12 เดือน





------------------------------------------------


ศูนย์การแพทย์แผนไทยภูเก็ต

https://phuketthaitraditionalmedicinecenter.blogspot.com/2013/03/blog-post.html
----------------------------------------------------












No comments:

Post a Comment