Search This Blog

Tuesday, October 22, 2013

เวชกรรมไทย เล่ม 2 (โรคระบบทางเดินอาหาร) คัมภีร์ธาตุบรรจบ

เวชกรรมไทย เล่ม 2
(โรคระบบทางเดินอาหาร) 

คัมภีร์ธาตุบรรจบ





จัดทำโดย อ.หมอสุชาติ ภูวรัตน์
นธ.เอกบาลีประโยค 1-2
(อดีตพระธรรมทูตต่างประเทศ)
B.S. Engineering Design Tech.
 B.A. ศาสนศาสตร์บัณฑิต
B.S. Computer Information Systems
B.TM.  พทย์แผนไทยบัณฑิต
สาขาวิทยาศาสตร์สุขภาพ
บ.ภ.พท.ว.พท.ผ.พท.น.
ครูแพทย์แผนไทย 4 ด้าน
ศูนย์การแพทย์แผนไทยภูเก็ต
ทำเพื่อการศึกษาและประโยชน์แก่ผู้ชม

เวชกรรมไทย เล่ม 2
(โรคระบบทางเดินอาหาร)
คัมภีร์ธาตุบรรจบ


คัมภีร์ธาตุบรรจบ ว่าด้วย
โรคอุจจาระธาตุ และมหาภูตรูป

โรคอุจจาระธาตุ เป็นโรคทางเดินระบบทางเดินอาหาร 
เมื่อเกิดการเจ็บป่วยขึ้นทำให้มีลักษณะของอุจจาระ
ผิดปกติ เช่น สี กลิ่น และอาการผิดปกติต่างๆ 
เกี่ยวกับการถ่ายอุจจาระ

1. ว่าด้วยสาเหตุของโรคอุจจาระธาตุ  
ผู้ที่เป็นโรคอุจจาระธาตุ มีสาเหตุดังนี้

     1)  เนื่องจากผู้นั้นเป็นไข้ที่มีพิษจัด ตกถึงสันนิบาต 
แล้วเรื้อรังมา ธาตุนั้นแปรปรวน วิปริต 
อุจจาระไม่เป็นปกติ จึงกลายเป็นโรคอุจจาระธาตุ

     2) รับประทานอาหารที่แปลก หรือรับประทานอาหาร
มากเกินกว่ากำลังธาตุ เป็นต้นว่า เนื้อสัตว์ดิบ
หรือเนื้อสัตว์ที่มีคาวมาก และไขมันต่างๆ 
หรือของหมักดอง หรือของบูดเน่า ธาตุนั้นก็วิปริต
แปรปรวน กระทำให้ท้องขึ้น ท้องเฟ้อ เรอเหม็นเปรี้ยว 
ให้จุกเสียด อุจจาระก็วิปริตต่างๆ 
จึงกลายเป็นโรคอุจจาระธาตุ

     3) ธาตุสมุฎฐาน มหาภูตรูป 4 
ประชุมกันในกองสมุฎฐาน โทษละ 3 ละ 3 
ทำให้สมุฎฐานธาตุ กำเริบ หย่อน พิการ 
โดยพระอาทิตย์สถิตใน  12 ราศี 
ตามในพิกัดสมุฏฐาน ฤดู 6 กระทบให้เป็นเหตุ 
จึงกลายเป็นโรคอุจจาระธาตุ

2. ว่าด้วยกองพิกัดสมุฎฐานมหาภูตรูป 
 (มหาภูตรูปเต็มหมวดหมู่) มีดังนี้

     1) พัทธะปิตตะ อพัทธปิตตะ กำเดา  
ทั้ง 3 อย่างนี้ เป็นพิกัดในกองสมุฎฐานเตโช

     2) หทัยวาตะ สัตถกะวาตะ สุมนาวาตะ 
ทั้ง 3 อย่างนี้ เป็นพิกัดในกองสมุฎฐานวาโย

     3) ศอเสมหะ อุระเสมหะ คูถเสมหะ     
ทั้ง 3 อย่างนี้ เป็นพิกัดในกองสมุฎฐานอาโป

     4) หทัยวัตถุ อุทริยะ กรีสะ 
ทั้ง 3 อย่างนี้ เป็นพิกัดในกองสมุฎฐานปถวี
ทั้ง 3 กองนี้ เรียกว่า มหาภูตรูปเต็มหมวดหมู่
         แต่สมุฎฐานปถวีนี้ได้เป็นชาติ จะละนะ ขึ้นนั้น
หามิได้ แต่เมื่อใดสมุฎฐานทั้ง 3 สิ่งใดสิ่งหนึ่งก็ดี 
เกิดเป็นชาติจะละนะขึ้นแล้ว สมุฎฐานปถวีก็พลอย
มีกำลังขึ้น และสมุฎฐานทั้งปวง ก็กำเริบแรงกว่าเก่า 
เหตุว่าปถวีนั้นเป็นที่ตั้งแห่งภูมิโรคทั้งหลาย 
และเป็นที่ค้ำชู อุดหนุนโรคให้จำเริญ และจึงได้นาม
ว่า มหาสันนิบาต หรือสันนิบาตกองใหญ่
          มหาภูติรูป 4 บังเกิดขึ้นเมื่อกองปถวีธาตุ กำเริบ 
หย่อน พิการ มีพิกัดสมุฎฐานให้เป็นเหตุ คือบุคคลใด 
ไข้ก็ดี ไม่ได้ไข้ก็ดี ถ่ายอุจจาระออกมาเป็นสีดำ สีแดง 
สีขาว สีเขียว มีลักษณะเป็น มูลแมว มูลไก่ มูลเต่า 
หยาบก็ดี ละเอียดก็ดี มีอาการให้โทษ 15 ประการ คือ
     1. ให้ปวดท้อง

2.  ให้บริโภคอาหารไม่ได้
3.  ให้อาเจียน
   4. ให้นอนไม่หลับ

   5. ให้มึนมัวจับสะบัดร้อนสะบัดหนาวเป็นพิษ

   6. ให้ถ่ายอุจจาระปัสสาวะ ไม่สะดวก

7.  ให้แน่นอกคับใจ
8.  ให้เสียวไปทั่วร่างกาย
   9. ให้เมื่อยทุกข้อทุกกระดูก

10.  ให้กลุ้มจิตระส่ำระสาย
11.  ให้เจรจาพร่ำพรู
12.  ให้ร้อนกระหายน้ำ
   13. ให้ร่างกายซูบผอม ผิวหนังสากแห้ง

   14. ให้เกิดละอองเป็นขุมขึ้นตามลิ้นตามปาก

15.  ให้เสียดตามชายโครง

       โทษทั้ง 15 ประการนั้นเรียกว่า 
อุจจาระธาตุลามก ระคนด้วยมหาสันนิบาต 
และระคนไปในธาตุอภิญญาณ คือธาตุเป็นเอกโทษ 
จะละนะทุวันโทษ ภินนะตรีโทษ และ
อสุรินทัญญาณธาตุคือธาตุนั้นสำแดงให้รู้ดุจผีสิง 
ตกเข้าระหว่างอชินธาตุคือธาตุไม่ย่อยไป 
ลักษณะอาการที่กล่าวมานี้เรียกว่า 
อุจจาระลามกระคนด้วยมหาสันนิบาต 
โรคอย่างนี้รักษายากกว่าโรคทั้งปวง 
เพราะเป็นโรคเรื้อรัง ถ้าให้ยาไม่ถูกกับโรค 
ครั้นอยู่นานเข้าก็แปรไปเป็นอสาทิยะอุจจาระ
คันธารธาตุ บังเกิดเป็นปะระเมหะเมือกมัน 
เปลวไต ทุลาวสา คือ ปัสสาวะพิการต่างๆ
           ความสำคัญกองมหาพิกัดสมุฎฐาน และ
มหาภูตรูปเต็มหมวดหมู่โดยย่อ ลักษณะกองโทษ
เกิดขึ้น 15 ประการ ซึ่งได้กล่าวมาแล้วนั้น 
เมื่อย่อลงแล้วจะมีลักษณะ 6 ประการ คือ:-
1.   อาการซึ่งกระทำให้วิปริตต่างๆ 
ระคนด้วยอังคะมังคานุสารีวาตา
2.    ให้ปวดอุทร ให้เสียวชายโครงและท้องน้อย 
โทษแห่งปิตคาด สัณฑฆาต รัตฆาต 
กระทำไม่ได้ เป็นปกติระคนกันเป็นเถาวัลย์เกลียว
3.    บริโภคอาหารมิได้ ให้เอาเจียน 
โทษแห่งปิงคลา (เส้น) กระทำ
4.     ให้ร้อนกระหายน้ำ กระวนกระวาย 
เจรจาพร่ำพรู โทษแห่งสุมนากระทำให้กำเริบขึ้น 
พัดดวงหทัยระส่ำระสายไม่ได้เป็นปกติ
5.     นอนไม่หลับจับเป็นพิษ โทษแห่งอังพฤกษ์
กระทำตลอดถึงสุมนา กำเริบ หย่อน 
พิการ ไม่ได้เป็นปกติ
6.     อุจจาระปัสสาวะไม่สะดวก และให้แสบอกคับใจ 
โทษแห่งกุจฉิสยาวาตา และโกฎฐาสยาวาตา 
กำเริบขึ้นในลำไส้ไม่ได้ปกติ จัดเป็นหมวดหมู่แห่ง
อชินธาตุ ห้บังเกิดมีลักษณะ 6 ประการ
ดังกล่าวมานี้
3. ว่าด้วยลักษณะอุจจาระธาตุ
     1) ลักษณะอุจจาระธาตุเป็นเมือกมัน เปลวไต หยาบ
ก็มี ละเอียดก็มี มีลักษณะดังมูลแมว มูลไก่ มูลเต่า 
ลักษณะอุจจาระซึ่งจะวิปริตต่างๆนั้นเพราะอุจจาระธาตุ
เสียด้วยลม โกฐฐาสยาวาตา ไม่ได้พัดชำระปะระเมหะ 
และเมือกมันในลำไส้ให้ตกเป็นตะกรันติคราบไส้อยู่
ระคนด้วยด้วยอุจจาระธาตุ ครั้นเดินสู่ลงช่วงทวาร
ก็ลำลาบแตกออกเป็นโลหิต บางทีเป็นเม็ดยอดขึ้นตาม
ขอบทวารเจ็บแสบขบ บางทีขึ้นที่ต้นไส้ ต่อลำกรีสมัด 
(ทางเดินอาหารเก่า) ก็มี มีอาการดุจนิ่ว และไส้ด้วน 
ไส้ลาม สมมุติเรียกต่างๆ บางทีเรียก ดานเถามุตฆาต 
นิ่วปะระเมหะ กระษัยกล่อน และริดสีดวง 
บางทีเรียกว่า ลามกอติสาร และโทษดังนี้ 
เกิดแก่กองลามก แต่จะได้ถึงลามกเป็นมลทินในมูลธาตุ
ทั้งปวงดังที่กล่าวมาแล้ว
       2) ว่าด้วยอุจจาระธาตุ อุจจาระธาตุ
มีลักษณะเป็นสีดำ แดง ขาว เขียว

           (1) ปถวีธาตุ มีลักษณะอาการกระทำให้
เสมหะเน่า ให้เจ็บท้อง ท้องขึ้น ให้เสียดแทง และ
เป็นอัมพฤกษ์ก็มี เป็นกระษัย เป็นป้าง เป็นช้ำ 
เนื้อเล็บมือเล็บเท้าเหี่ยวให้โลหิตตกทวารหนัก 
ทวารเบา กินอาหารไม่ได้ (อุจจาระออกมาเป็นสีดำ)

           (2) อาโปธาตุ ให้ลงท้อง เจ็บหน้าอก 
แปรเป็นกล่อน อุจจาระปัสสาวะไม่ออก นอนไม่หลับ 
ขัดหัวเข่า ปวดท้องเป็นพรรดึก กลิ้งขึ้น ขัดสีข้าง 
ถ้าหญิงขัดซ้ายรักษายากนัก แล้วแปรไปให้ขัดหัวเข่า 
และน่อง ให้เท้าเย็นมือเย็น บังเกิดเสลดกล้า ผอมแห้ง 
เจ็บหน้าอก ร้อนหน้าตาดังไข้จับ 
(อุจจาระออกมาเป็นสีแดง)

           (3) วาโยธาตุ ให้ตาพร่า เมื่อยมือเมื่อยเท้า 
เป็นตะคริว และขัดหัวเข่า เมื่อยสันหลังสองเกลียว
ข้างแข็ง สมมุติว่าเป็นฝีเส้น อาเจียนแต่ลมเปล่า 
ขัดอกเจ็บในท้อง หนักหน้าตา 
(อุจจาระออกมาเป็นสีขาว)

           (4) เตโชธาตุ กระทำให้ร้อนปลายมือปลายเท้า 
ให้เจ็บปวดดุจปลาดุกยอก แปรไปให้สันหลังบวม 
และผื่นขึ้นทั่วสรรพางค์กายดังผด และหัด 
ทำให้เจ็บท้อง และตกบุพโพ (หนอง) โลหิต ให้มือ 
และเท้าตาย แก้มิฟังจะมรณะ 
(อุจจาระออกมาเป็นสีเขียว)

       3) ว่าด้วยอสาทิยะอุจจาระคันธารธาตุ
      (1) กลิ่นดังหญ้าเน่ ระคนด้วย มลอะชินะ 
(เตโชธาตุสมุฎฐาน) ให้เป็นเหตุ มีอาการให้ปากแห้ง 
คอแห้ง ให้หนักตัว ให้วิงเวียน ให้อุจจาระปัสสาวะ
ไม่สะดวก ให้เหงื่อไหลหยดย้อย 
(อาการให้โทษ 5 ประการ)
      (2)  กลิ่นดังข้าวบูด ระคนด้วย วิวัฒฑะอชินะ 
(วาโยธาตุสมุฎฐาน) ให้เป็นเหตุ มีอาการให้โทษ
 5 ประการคือ ให้เสียดแทง ให้เจ็บคอ ให้คันจมูก 
ให้เมื่อยทั่วร่างกาย ให้ตะครั่นตะครอ
      (3) กลิ่นดังปลาเน่า ระคนด้วยมะอะชินะ 
(อาโปธาตุสมุฎฐาน) ให้เป็นเหตุ มีอาการให้โทษ 
3 ประการ คือ ให้อุจจาระปัสสาวะไม่สะดวก 
ให้เจ็บอก ให้น้ำลายไหล

 (4) กลิ่นดังซากศพเน่าโทรม ระคนด้วย
วัฒฑะอชินะ (ปถวีธาตุสมุฏฐาน) ให้เป็นเหตุ 
มีอาการให้โทษ 3 ประการ คือ ให้เจ็บอก 
ให้เจ็บในท้อง ให้บวมมือ บวมเท้า 
บางที่บวมทั่วร่างกาย
          อนึ่งคันธะลามกโทษทั้ง 4 ประการนี้
แปรมาจากอุจจาระธาตุลามก ตกอยู่ในระหว่าง
อสาทิยะอุจจาระคันธารธาตุ แต่ในอสาทิยะ
พิกัดสมุฎฐานนั้นมีอยู่ 3 สมุฎฐาน คือ

       1.  อสาทิยะโบราณชวร
       2.  อสาทิยะมรณันติกชวร
       3.  อสาทิยะอชินชวร

1.      อสาทิยะโบราณชวร คือ อาศัยโดยแปร
ตามสมุฎฐานแห่งอายุเดินเข้าสู่ความชรา 
เปรียบดังผลไม้ที่บริสุทธิ์ เมื่อถึงกำหนดสุก 
และงอมแล้ว ผลนั้นก็หล่นลงเอง จัดเป็น
ปฐมอสาทิยะพิกัดสมุฎฐานหนึ่ง 
จะให้ยานั้นยากนัก

2.      อสาทิยะมรณันติกชวร คือ โรคบังเกิดเป็น
โอปักกะมิคโรค คือตกลงจากที่สูงหรือต้อง
ทุบถอง โบยตี ต้องราชอาญา อหิวาตกโรค 
และโรคที่เกิดเป็นพิษต่างๆ มีพิษดี พิษโลหิต 
และพิษเสมหะ เป็นต้น จัดเป็นมัชฌิมะอสาทิยะ 
พิกัดสมุฎฐานหนึ่ง จะให้ยานั้นยากนัก

3.      อสาทิยะชินชวร คือ โรคเก่าคร่ำคร่า เรื้อรัง 
หรือโรคธรรมดาก็ว่า ด้วยบังเกิดอชินโทษ
อยุู่เนืองๆ เหตุเพราะบริโภคอาหารไม่ถูกกับธาตุ 
ข้นั้นก็มีอาการทรุดไป อย่างนี้เรียกว่า อชินธาตุ 
ถ้าให้ยารับประทานไม่ถูกกับไข้ ไข้นั้นก็ไม่หาย 
เป็นแต่ทรงอยู่ และทรุดไป เรียกว่า อชินโรค 
ให้อาหารไม่ถูกกับธาตุหรือ แสลงกับธาตุนั้น
เรียกว่า อชินธาตุ ให้ยาไม่ถูกกับโรค อาการทรุดไป 
เรียกว่า อชินโรค (ให้อาหารไม่ถูกกับธาตุ 
หรือให้ยาไม่ถูกกับโรค เรียกว่า อชินโทษ)

4. ยารักษาโรคอุจจาระธาตุ มี 4 ขนาน คือ

ขนานที่ 1 ชื่อยาพรหมภักตร์

ส่วนประกอบ 
  
1. โกฐทั้งห้า  2. เทียนทั้งห้า  (อย่างละ 1 ส่วน)

3. ตรีผลา  4. ตรีกฎุก  5. เปราะหอม  
6. ผลเอ็น  (สิ่งละ 2 ส่วน)

 7. ผลจันทน์   8. การบูร   9. ขิง  10. ยาดำ  (สิ่งละ 4 ส่วน)

วิธีใช้  บดเป็นผง บดทำเป็นเม็ดไว้รับประทาน 
รับประทานครั้งละ 1 เม็ด ก่อนอาหาร 3 เวลา 
เช้า กลางวัน เย็น ละลายน้ำเปลือกมะรุมต้ม 
เป็นกระสาย
สรรพคุณ แก้ท้องเสีย แก้ปวดท้อง ขับลม

ขนานที่ 2 ชื่อยามหาพรหมภักตร์

ส่วนประกอบ   
1. โกฐสอ  2. โกฐหัวบัว  3. โกฐชฎามังสี  
4. เทียนดำ  5. เทียนขาว  (สิ่งละ 1 ส่วน)

6. เปราะหอม  7. ผลเอ็น  8. ลูกผักชีทั้งสอง   
9. ลูกโหระพาเทศ  (สิ่งละ 2 ส่วน)

10. รากส้มกุ้งน้อย  11. เปล้าน้อย  (สิ่งละ 3 ส่วน)
12. หัศคุณเทศ  13. ยาดำ  (สิ่งละ 4 ส่วน )
14. ตรีกฎุก  15. มหาหิงคุ์  16. กานพลู  
17. การบูร (สิ่งละ 5 ส่วน)

18. ลูกสมอไทย   (สิ่งละ 8 ส่วน)
19. ยางสลัดไดประสะ  (สิ่งละ 24 ส่วน)

วิธีใช้  บดเป็นผง เอาน้ำโสฬสเบญจกูล เป็นกระสาย 
บดทำเป็นเม็ด ไว้กินตามกำลัง
สรรพคุณ แก้อุจจาระธาตุไม่ปกติ

ขนานที่ 3 ชื่อยามหิทธิมหาพรหมภักตร์

ส่วนประกอบ 
 
1. โกฐกระดูก  2. โกฐเชียง  3. โกฐจุฬาลัมพา  
4. โกฐจุฬารส  5. เทียนดำ  (สิ่งละ 1 ส่วน)
 
6. ลูกราชดัด   7. ลูกโหระพาเทศ  8. ลูกผักชีทั้งสอง  
(สิ่งละ 2 ส่วน)

9. เปราะหอม  10. สมุลแว้ง  11. จันทน์ทั้งสอง  
(สิ่งละ 3 ส่วน)

12. ลูกสมอไทย  13. กานพลู   14. ลูกจันทน์   
(สิ่งละ 3 ส่วน)

15. ตรีกฎุก  16. มหาหิงคุ์  17. ยาดำ  18. หัศคุณเทศ  
(สิ่งละ 4 ส่วน)

19. รากจิงจ้อ  20. การบูร  21. รากส้มกุ้ง  (สิ่งละ 4 ส่วน)

22. ยางสลัดไดประสะ  (สิ่งละ 32 ส่วน)

วิธีใช้ บดเป็นผง ใช้พิกัดเบญจกูลเป็นกระสายยา 
ทำเป็นเม็ดไว้รับประทานก็ได้ หรือใช้น้ำผึ้งปั้น
เป็นลูกกลอนก็ได้ 
รับประทานครั้งละ 1 เม็ด 3 เวลาก่อนอาหาร
สรรพคุณ แก้ท้องเสีย และแก้โรคธาตุผิดปกติ

ขนานที่ 4 ชื่อยาอัศฎาธิวัต

ส่วนประกอบ 
 
1. ดอกบุนนาค  2. เกสรบัวหลวง  3. เทียนดำ  (สิ่งละ 2 ส่วน)

4. เบญจกูล  5. กะทือ   6. ไพล  
7. ข่า  8. กระชาย  9. หัวหอม  (สิ่งละ 4 ส่วน)

10. กระเทียม  11. ขมิ้นอ้อย  12. ผลมะตูมอ่อน  
(สิ่งละ 4 ส่วน)

13. ยาดำ  (5 ส่วน)

14. ลูกสมอเทศ  15. ลูกสมอพิเภก  (สิ่งละ 8 ส่วน)

16. ลูกสมอไทย  17. เปลือกต้นไข่เน่า  
18. รากเล็บมือนาง  (สิ่งละ 1 กำมือ)

19. รากอ้ายเหนียว  20. กระพังโหม  
21. กะเพราทั้งห้า (สิ่งละ 1 กำมือ)

22. ฝักราชพฤกษ์  (จำนวน 10 ฝัก)

วิธีใช้  ขยำเอาน้ำเป็นกระสาย ต้มตามวิธี ให้รับประทาน
สรรพคุณ แก้จุกเสียด แก้อาเจียน บริโภคอาหารไม่ได้ 
แก้ปวดท้อง ท้องเสีย และรักษาโรคริดสีดวงทวาร

5. ยารักษาโรคอุจจาระธาตุ 
ยาสามัญประจำบ้านแผนโบราณ

ขนานที่ 1. ชื่อยาธรณีสันฑะฆาต

ส่วนประกอบ  
ลูกจันทน์  ดอกจันทน์  ลูกกระวาน  กานพลู  เทียนดำ  
เทียนขาว  หัวดองดึง  หัวบุก หัวกลอย  หัวกระดาดขาว  
หัวกระดาดแดง ลูกเร่ว ขิง ชะเอมเทศ รากเจตมูลเพลิงแดง  
โกฐกระดูก โกฐเขมา โกฐน้ำเต้า (หนักสิ่งละ 1 ส่วน) 
ฟักแพวแดง  เนื้อลูกมะขามป้อม (หนักสิ่งละ 2 ส่วน)  
เนื้อลูกสมอไทย มหาหิงคุ์ การบูร (หนักสิ่งละ 6 ส่วน)
รงทอง (ประสะแล้ว) หนัก 4 ส่วน
ยาดำ หนัก 20 ส่วน
พริกไทยล่อน หนัก 96 ส่วน
วิธีทำ บดเป็นผง
สรรพคุณ
แก้กระษัยเส้น เถาดาน ท้องผูก

ขนาดรับประทาน วันละ 1 ครั้ง ก่อนอาหารเช้า
หรือก่อนนอน ครั้งละ 1/2 - 1 ช้อนกาแฟ 
ละลายน้ำสุก หรือผสม น้ำผึ้งปั้นเป็นลูกกลอน

คำเตือน คนเป็นไข้ หรือสตรีมีครรภ์ ห้ามรับประทาน
--------------------------------------------------------------

ศูนย์การแพทย์แผนไทยภูเก็ต

https://phuketthaitraditionalmedicinecenter.blogspot.com/2013/03/blog-post.html

--------------------------------------------------------------
อ้างอิง ตำราแพทย์แผนโบราณทั่วไป 
สาขาเวชกรรม เล่ม 2
กองการประกอบโรคศิลปะ

--------------------------------------------------------------
ตรวจทานแล้ว





No comments:

Post a Comment