รวมข้อมูลที่เกี่ยวกับการศึกษา และด้านสุขภาพ

Tuesday, June 25, 2013

เวชกรรมไทย เล่ม 1 (โรคไข้ต่างๆ) คัมภีร์ตักกะศิลา

เวชกรรมไทย เล่ม 1
(โรคไข้ต่างๆ)

คัมภีร์ตักกะศิลา





จัดทำโดย อ. หมอสุชาติ ภูวรัตน์
นธ.เอกบาลีประโยค 1-2
(อดีตพระธรรมทูตต่างประเทศ)
B.S. Engineering Design Tech.
 B.A. ศาสนศาสตร์บัณฑิต
B.S. Computer Information Systems
B.TM. พทย์แผนไทยบัณฑิต
สาขาวิทยาศาสตร์สุขภาพ
บ.ภ.พท.ว.พท.ผ.พท.น.

ครูแพทย์แผนไทย 4 ด้าน
ศูนย์การแพทย์แผนไทยภูเก็ต
เพื่อการศึกษา และประโยชน์ต่อสุขภาพของผู้ชม
เวชกรรมไทย เล่ม 1
(โรคไข้ต่างๆ)

พระคัมภีร์ตักกะศิลา


สิทธิการิยะ

          จะกล่าวถึงเมืองตักกะศิลา เกิดความไข้วิปริตเมื่อห่าลงเมือง ท้าวพระยาไพร่ฟ้าข้าแผ่นดินทั้งปวง เกิดความไข้ล้มตายเป็นอันมาก ซึ่งคนที่เหลือตายอยู่นั้นออกจากเมืองตักกะศิลาไป ยังเหลือแต่เมืองเปล่า

         ยังมีพระฤๅษีองค์หนึ่ง มีนามไม่ได้ปรากฏ เที่ยวโคจรมาแต่ป่าหิมพานต์ จึงเห็นแต่เมืองเปล่า มีแต่ซากศพตายก่ายกองทั้งบ้านเมือง เธอจึงตั้งพิธีชุบซากศพนั้นขึ้น แล้วถามว่าท่านทั้งหลายนี้เป็นเหตุอะไรจึงล้มตายเป็นอันมาก ฝูงคนทั้งหลายที่ชุบเป็นขึ้นนั้น จึงแจ้งความว่า ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้า บ้านเมืองนี้เกิดความไข้เป็นพิกลต่างๆ ลางคนไข้วัน 1 บ้าง 2 วันบ้าง 3 วันบ้าง 4 วันบ้างตาย ลางคนนอนลางคนนั่ง ลางคนยืน ลางคนตะแคง ลางคนหงายตาย เป็นเหตุเพราะความตายอย่างนี้ 

         พระดาบสได้ฟังถ้อยคำคนทั้งหลายบอกดังนั้น ก็มีใจกรุณาแก่สัตว์ทั้งหลาย เธอพิจารณาด้วยฌานสมาบัติรู้ว่าห่าลงเมือง จึงแต่งพระคัมภีร์ไข้เหนือ แก้ไข้พิษไข้กาฬตักกะศิลาสำหรับแพทย์ต่อไปภายหน้า ให้รู้ประเภทอาการเพื่อจะให้สืบอายุสัตว์ไว้

         ถ้าผู้ใดจะเรียนเป็นแพทย์รักษาโรคไข้พิษไข้เหนือ ก็ย่อมมีมาหลายจำพวก ผู้จะเป็นแพทย์รักษาไข้พิษไข้เหนือนั้น ให้เอาดินโป่ง 7 โป่ง ดินท่า 7 ท่า ดินปลวก 7 แห่ง ดินสระ 7 สระ ดินป่าช้า 7 ป่าช้า เอาขี้เถ้าคนตายวันเสาร์เผาวันอังคาร แล้วให้เอาใบราชพฤกษ์ 1 ใบชัยพฤกษ์ 1 ใบคันธพฤกษ์ 1 ใบชุมแสง 1 เผาประสมกับดิน ปั้นเป็นรูปพระดาบสไว้บูชา 

         เมื่อจะบดยาเชิญรูปพระดาบสมาตั้งไว้เป็นประธาน จึงทำเครื่องบูชาพระดาบส ดอกไม้ ธูปเทียนเครื่องกระยาบวช บายศรีซ้ายขวา ผ้าขาวปู เคารพสักการะ บูชาพระดาบสแล้ว เสกยาด้วยพระคาถาดังนี้

"อธิเจตโส อปมัชชโต โมนปเถ สุสิกขโต โสกานัพภวัน์ติ ตาทิโน อุปสันตัสส สตีมโต"

          เมื่อจะไปดูไข้ก็ให้ว่าพระคาถานี้ ให้เสกน้ำล้างหน้ารดตัวผู้ที่จะเรียนเป็นแพทย์รักษาไข้พิษไข้เหนือนั้น จึงจะคุ้มอุปัทวะอันตรายแห่งตัวได้ แล้วให้เสกน้ำมนต์ประคนไข้ แล้วให้พิจารณาไข้ให้ถ่องแท้

        เมื่อผู้เป็นเจ้าจะแสดงเภทไข้พิษไข้เหนือแลไข้กาฬ ให้คนทั้งหลายรู้ประจักษ์ คืออันใดที่จะเป็นไข้พิษนั้นเป็นต้น ไข้อีดำอีแดง ไข้ปานดำปานแดง ไข้รากสาด ไข้สายฟ้าฟาด ไข้ระบุชาติ ไข้กระดานหิน ไข้สังวาลย์พระอินทร์ ไข้มหาเมฆ ไข้มหานิล ไข้ข้าวไหม้ใหญ่น้อย ไข้ข้าวไหม้ใบเกรียม ไข้ไฟเดือนห้า ไข้เปลวไฟฟ้า ไข้หงษ์ระทด ไข้ดาวเรือง ไข้จันทรสูตร ไข้สุริยสูตร ไข้เมฆสูตร ว่าดังนี้ 

        คนทั้งหลายจึงวิงวอน ว่าข้าแต่ผู้เป็นเจ้าจงได้โปรดสัตว์ทั้งหลายให้อายุยืนยาวไปภายหน้านั้น ขอผู้เป็นเจ้าโปรดให้ข้าพเจ้าทราบอาการไข้ เภทไข้ลักษณะไข้ทุกประการ

        ครั้งนั้นพระดาบสมีเมตตากรุณาแก่สัตว์ทั้งหลาย ซึ่งอ้อนวอนด้วยจะใคร่ให้รู้แจ้งประจักษ์เภทไข้เหนือ ไข้พิษนั้นอันมีลักษณะต่างๆ คืออันใดบ้าง และพระผู้เป็นเจ้าจึงห้ามว่า ไข้จำพวกนี้ย่อมห้ามไม่ให้วางยาร้อนเผ็ดเปรี้ยว อย่าให้ประคบนวด อย่าให้ปล่อยปลิง อย่าให้กอกเอาโลหิตออก อย่าให้ถูกน้ำมัน เหล้าก็อย่าให้ถูก น้ำร้อนก็อย่าให้อาบอย่าให้กิน ส้มมีควันมีผิวกะทิน้ำมันห้ามไม่ให้กิน ถ้าใครไม่รู้ทำผิดดังกล่าวมานี้ ก็ถึงความตายดังนี้แล

          อนึ่งผู้เป็นเจ้าจะแสดงเภททั้งหลายไปภายหน้า ให้ผู้จะเป็นแพทย์พิจารณาให้ละเอียดในลักษณะไข้เหนือพิษกาฬ บางทีไม่เจ็บไข้ สบายอยู่เป็นปรกติ ไข้เกิดในกายให้ผุดเป็นแผ่นเป็นเม็ดแดงดำเขียวก็มี เป็นทรายไปทั่วตัวก็มี ผุดได้ 1 วัน 2 วัน 3 วัน จึงล้มไข้ใน 1 วัน 2 วัน 3 วันทำพิษต่างๆ ผุดขึ้นเป็นแผ่นเป็นวง เป็นเม็ดทรายขึ้นมา เป็นสีแดงสีดำสีเขียวสีน้ำคราม เป็นสีต่างๆ รอดบ้างตายบ้างแหละ ให้แพทย์เร่งยาจงหนัก ยากระทุ้งให้ไข้นั้นขึ้นให้สิ้น ถ้ากระทุ้งขึ้นไม่สิ้นกลับเข้าไปกินตับปอด ให้ลงโลหิตเสมหะ ลางทีลงทางทวารปัสสาวะให้ปิดปัสสาวะ บางทีให้อาเจียนเป็นโลหิตให้ไอ  บางทีทำให้ร้อนกระหายน้ำ หอบสะอึก ลิ้นกระด้างคางแข็งให้ชักตาเหลือกตากลับ  บางทีทำพิษให้จับหัวใจ ให้นอนกรนไปไม่มีสติสมปฤดี ให้จับหลับกรนครอกๆ  บางทีกระทำพิษให้ปิตตะสมุฏฐานกำเริบให้เหลืองไปทั่วกาย ถ้าแพทย์รักษาดีก็จะรอด ถ้ารักษาไม่ดีก็จะตาย ให้ตรองจงหนัก

          พระผู้เป็นเจ้าจึงสำแดงให้แพทย์พิจารณารักษาไข้พิษไข้เหนือให้ละเอียด ถ้าไม่รู้จักรักษาไข้เหนือไข้พิษห้ามไม่ให้ไปรักษาเขา เห็นแก่อามิสสินจ้างโลภจะเอาทรัพย์เขาวางยาผิด เขาตายลงด้วยพิษยาของตัว แพทย์นั้นจะตกในมหาอเวจีนรก ถ้าแพทย์ผู้ใดประกอบไปด้วยเมตตาจิต  เป็นปุเรจาริก มีสติปัญญาประคับประคองรักษาวางยาชอบด้วยโรค เหมือนพระโยคาวจรเจ้าพิจารณาให้ละเอียด แพทย์ผู้นั้นจะจำเริญประโยชน์ในโภคสมบัติ อายุยืนวัฒนาศรีสวัสดิ์อันเป็นเบื้องหน้าแก่แพทย์ผู้นั้น พระผู้เป็นเจ้าจึงแสดงให้รู้แต่เพียงนี้

          อนึ่งพระผู้เป็นเจ้าจะตกแต่งคัมภีร์ไข้เหนือ และไข้พิษ และพิษกาฬภายใน ลักษณะไข้ให้ผู้เป็นแพทย์พึงรู้ให้ถ่องแท้ ว่าไข้พิษ หรือไม่ใช่ไข้พิษ และไข้พิษไข้กาฬ 21 จำพวก และลักษณะอาการไข้พิษนั้น 
          
ตักศิลา (Taxila)

          คัมภีร์ตักศิลา เป็นคัมภีรืที่กล่าวถึงลักษณะอาการ การรักษาไข้พิษไข้กาฬต่างๆ ซึ่งจำแนกไว้หลายอย่าง 

          โรคไข้พิษไข้กาฬต่างๆ ที่กล่าวในคัมภีร์ตักศิลา มีดังนี้

1. ไข้พิษไข้กาฬ       21 จำพวก
2. ไข้รากสาด (ไข้กาฬ)  9 จำพวก
3. ไข้ประดง (ไข้กาฬแทรกไข้พิษ) 8 จำพวก
4. ไข้กาฬ                 10 จำพวก
5. ฝีกาฬ                   10 จำพวก
6. ไข้กระโดง              4 จำพวก
7. ฝีกาฬ                     6 ชนิด
8. ไข้คดไข้แหงน      2 จำพวก
9. ไข้หวัด                   2 จำพวก
10. ไข้กำเดา              2 จำพวก
11. ไข้ 3 ฤดู                3 จำพวก

1. ลักษณะอาการของไข้พิษไข้กาฬ
         ลักษณะการผุด เกิดขึ้นมาบางทีไม่เจ็บไข้ สบายอยู่เป็นปกติ ไข้เกิดภายใน ให้ผุดเป้นแผ่นเป็นเม็ดสีแดง สีดำ สีเขียวก็มี เป็นทรายทั่วทั้งตัวก็มี ผุดได้ 1 วัน 2 วัน 3 วัน จึงล้มไข้ และใน 1 วัน 2 วัน 3 วันนั้น ทำพิษต่างๆ ผุดขึ้นเป้นแผ่น เป็นวง เป็นเม็ดทรายขึ้นมามีสีแดง สีดำ สีเขียว สีคราม ทำให้รอดบ้าง ตายบ้าง ให้แพทย์ให้ยากระทุ้งพิษนั้นให้สิ้น ถ้ากระทุ้งพิษขึ้นไม่หมดกลับไปลงกินตับกินปอด ให้ถ่ายออกเป็นโลหิตเสมหะ บางทีให้ลงทางปัสสาวะ ให้ปิดปัสสาวะ บางทีให้อาเจียนเป็นโลหิต ให้ไอ บางทีให้ร้อนในกระหายน้ำ ให้หอบ ให้สะอึก ลิ้นกระด้าง คางแข็ง ให้ชักเหลือกตากลับ บางทีทำพิษให้จับหัวใจ ให้นอนกรนไปไม่มีสติสมปฤดี ให้จับกรนครอกๆ บางทีกระทำให้ปิตตะสมุฏฐานกำเริบ ให้เหลืองไปทั่วกาย ถ้าแพทย์รักษาดีก็จะรอด ถ้ารักษาไม่ดีก็จะตาย ให้ตรองให้จงหนัก พระผู้เป็นเจ้าจึงให้แพทย์พิจารณารักษาไข้พิษ ไข้เหนือ ให้ละเอียด ถ้าไม่รู้จักไข้เหนือ ไข้พิษ ห้ามไม่ให้ไปรักษาเขาเห็นแก่อามิสสินจ้าง โลภจะเอาทรัพย์เขา วางยาพิษเขาตายลงด้วยพิษยาของแพทย์ แพทย์นั้นจะตกในมหาอเวจีนรก ถ้าแพทย์ผู้ใดประกอบไปด้วยเมตตาจิต มีสติปัญญารักษาวางยาให้ถูกกับโรค แพทย์ผู้นั้นก็จะเจริญมีโภคทรัพย์มา มีอายุยืนนาน

2. การพิจารณารักษาไข้พิษไข้กาฬ  การพิจารณารักษาไข้พิษไข้กาฬนั้นมีข้อห้ามดังนี้
   1. ห้ามวางยารสร้อน
   2. ห้ามวางยารสเผ็ด
   3. ห้ามวางยารสเปรี้ยว
   4. ห้ามประคบ
   5. ห้ามรับประทานส้มมีผิวมีควัน ห้ามกะทิน้ำมัน
   6. ห้ามปล่อยปลิง (ห้ามเอาโลหิตออก)
   7. ห้ามถูกน้ำมัน
   8. ห้ามถูกเหล้า
   9. ห้ามกิน ห้ามอาบน้ำร้อน
  10. ห้ามนวด
หมายเหตุ ถ้าไม่รู้กระทำผิดดังกล่าวมานี้ อาจเป็นอันตรายถึงตายได้

3. ยารักษาไข้พิษไข้กาฬ
        ให้แพทย์ใช้ยากระทุ้งพิษให้สิ้น ถ้ากระทุ้งพิษไม่หมด ก็จะกลับลงไปกินตับกินปอด ให้ถ่ายออกมาเป็นโลหิตเสมหะ ทำพิษต่างๆ ถ้ารักษาดีก็มีโอกาสรอด ถ้ารักษาไม่ดีก็ตาย ดังนั้นแพทย์เมื่อจะกระทุ้งพิษให้ไข้พิษไข้กาฬออกมานั้น จะต้องใช้ยาชื่อ แก้ว 5 ดวง (ยา 5 ราก)
และยาอื่นๆ ตามลำดับ ดังนี้

ขนานที่ 1 ยากระทุ้งพิษ (ยาแก้ว 5 ดวง) มีดังนี้

   1) รากชิงชี่ 
   2) รากย่านาง 
   3) รากคนทา 
   4) รากเท้ายายม่อม 
   5) รากมะเดื่อชุมพร
ยาทั้งนี้ เอาสิ่งละเสมอภาคกัน ต้มให้รับประทานครั้งละ 2-3 ช้อนโต๊ะ ห่างกันประมาณ 3 ชั่วโมงต่อครั้ง สรรพคุณ กระทุ้งพิษ

ขนานที่ 2 (ยาประสะผิวภายนอก) มีดังนี้

   1) ใบย่านาง 
   2) ใบมะขาม 
   3) เถาวัลย์เปรียง
ยาทั้งนี้ เอาหนักสิ่งละเสมอภาค บดแทรกดินประสิว ละลายน้ำซาวข้าวพ่น ถ้าไมดีขึ้น กระทำพิษให้ตัวร้อนเป็นเปลว ถ้าตัวร้อนจัดให้แต่งยาพ่นซัำอีก

ขนานที่ 3 (ยาพ่นภายนอก) มีดังนี้

   1) เถาขี้กาแดง เอาทั้งใบ และราก 
   2) เถาย่านาง เอาทั้งใบ และราก
   3) รากฟักข้าว 
ยาทั้งนี้ เอาหนักสิ่งละเสมอภาค บกแทรกแทรกดินประสิวพอควร ละลายน้ำซาวข้าว ทั้งให้กินและพ่นภายนอก เมื่อใช้ยาดังกล่าวแล้ว อาการยังไม่ดีขึ้น ให้ใช้ยาขนานต่อไป ดังนี้

ขนานที่ 4 ยาพ่น และยากิน มีดังนี้

   1) ใบทองหลางใบมน  
   2) เปลือกทองหลางใบมน   
   3) ข้าวสาร
ยาทั้งนี้ เอาหนักสิ่ละเสมอภาค บดแทรกดินประสิว ทั้งกินทั้งพ่น เมื่อได้ใช้ยากินกระทุ้งภายใน และภายนอกแล้ว ก็ให้ต้มยากินรักษาภายในอีกด้วย ดังต่อไปนี้

ขนานที่ 5 ยาแปรไข้ มีดังนี้

   1) ใบมะยม                                 
   2) ใบมะนาว                             
   3) หญ้าแพรก                              
   4) ใบมะกรูด                             
   5) ใบมะตูม                                
   6) หญ้าปากควาย
   7) ใบคนทีสอ
   8) ใบหมากผู้
   9) ขมิ้นอ้อย
  10) ใบมะเฟือง
  11) ใบหมากเมีย

    ยาทั้งนี้ หนักสิ่งละเสมอภาค บดละลายน้ำซาวข้าว รับประทานแปรไข้จากร้ายให้เป็นดี นอกจากยารับประทานแปรไข้ภายในแล้ว ยังมียาพ่นแปรพิษภายนอกอีก คือ

ขนานที่ 6 ยาพ่นแปรผิวภายนอก มีดังนี้

   1) รังหมาร่าที่ค้างแรมปี
   2) หญ้าแพรก
   3) หญ้าปากควาย
   4) ใบมะเฟือง

    ยาทั้งนี้ หนักสิ่งละเสมอภาค บดปั้นเป็นเม็ด เอาน้ำซาวข้าวเป็นกระสาย พ่นเพียง 3 ครั้งเท่านั้น เมื่อได้รักษาเป็นระยะมาแล้ว อาการไม่ดีขึ้นตามลำดับ ก็ควรให้กินยารักษาไข้เฉพาะ เรียกว่า ยาครอบไข้ตักศิลา มีดังนี้

   1) จันทน์แดง                               
   2) ง้วนหมู                                   
   3) ใบผักหวานบ้าน                       
   4) กระลำพัก                               
   5) หัวคล้า                                   
   6) รากฟักข้าว                              
   7) กฤษณา                                  
   8) ใบสวาด
   9) รากจิงจ้อ
 10) ใบมะนาว
 11) จันทน์ขาว
 12) รากสะแก
 13) เถาย่านาง
 14) ขอนดอก


    ยาทั้งนี้ หนักสิ่งละเสมอภาค บดแทรกพิมเสนพอควร ใช้น้ำซาวข้าวเป็นกระสาย รับประทานเป็นยารักษาภายใน รับประทานเป็นประจำจนกว่าจะหาย

ไข้พิษไข้กาฬต่างๆ ที่กล่าวมาในคัมภีร์ตักศิลา มีดังนี้

1. ไข้พิษไข้กาฬ  21 จำพวก

   1)  ไข้อีดำ                                  
   2)  ไข้อีแดง                                
   3)  ไข้ปานดำ                              
   4)  ไข้ปานแดง                            
   5)  ไข้ดานหิน                             
   6)  ไข้มหาเมฆ                            
   7)  ไข้มหานิล                             
   8)  ไข้ระบุชาด                            
   9)  ไข้สายฟ้าฟาด                       
  10)  ไข้ไฟเดือน 5                        
  11)  ไข้เปลวไฟฟ้า
  12)  ไข้ข้าวไหม้น้อย
  13)  ไข้ข้าวใหม่ใหญ่
  14)  ไข้กระดานหิน
  15)  ไข้สังวาลย์พระอินทร์
  16)  ไข้ข้าวไหม้ใบเกรียม
  17)  ไข้ดาวเรือง
  18)  ไข้หงษ์ระทด
  19)  ไข้จันทร์สูตร
  20)  ไข้สุริยะสูตร
  21)  ไข้เมฆสูตร

2. ไข้รากสาด (ไข้กาฬ)  9 จำพวก

   1) ไข้รากสาดปานขาว                    
   2) ไข้รากสาดปานแดง                    
   3) ไข้รากสาดปานเหลือง                 
   4) ไข้รากสาดปานดำ                      
   5) ไข้รากสาดปานเขียว
   6) ไข้รากสาดปานม่วง
   7) ไข้รากสาดนางแย้ม
   8) ไข้รากสาดพนันเมือง
   9) ไข้รากสาดสามสหาย

3. ไข้ประดง (ไข้กาฬแทรกไข้พิษ)  8 จำพวก

   1) ไข้ประดงมด                             
   2) ไข้ประดงช้าง                           
   3) ไข้ประดงควาย                         
   4) ไข้ประดงวัว                              
   5) ไข้ประดงลิง
   6) ไข้ประดงแมว
   7) ไข้ประดงแรด
   8) ไข้ประดงไฟ

4. ไข้กาฬ  10  จำพวก

1) ไข้ประกายดาษ                           
2) ไข้ประกายเพลิง                           
3) ไข้ออกหัด                                   
4) ไข้ออกเหือด                               
5) ไข้งูสวัด (หรือตวัด)                     

6) ไข้เริมน้ำค้าง
7) ไข้เริมน้ำข้าว
8) ไข้ลำลาบเพลิง 
9) ไข้ไลามทุ่ง
10) ไข้กำแพงทะลาย


5. ฝีกาฬบังเกิดในไข้พิษ  10  จำพวก

1) กาฬฟองสมุทร                           
2) กาฬเลี่ยมสมุทร                           
3) กาฬทามสมุทร                           
4) กาฬทามควาย                             
5) กาฬไข้ละลอกแก้ว                     

6) กาฬทูม
7) กาฬทาม
8) ไข้มะเร็งตะมอย 
9) ไข้มะเร็งปากทูม
10) ไข้มะเร็งเปลวไฟ

6. ฝีกาฬ  6  ชนิด

   1) กาฬมะเร็งนาคราช
   2) กาฬฟองสมุทร                     
   3) กาฬตะบองพะลำ                      
   4) กาฬแม่ตะงาว
   5) กาฬตะบองชะนวน
   6) กาฬตะบองกาฬ

7. ไข้กระโดง (ไข้กาฬ)  4  จำพวก

   1) ไข้กระโดงไฟ                            
   2) ไข้กระโดงน้ำ                            
   3) ไข้กระโดงแกลบ
   4) ไข้กระโดงหิน


8. ไข้คดไข้แหงน   2  จำพวก

   1) ไข้คด
   2) ไข้แหงน

9. ไข้หวัด   2  จำพวก

   1) ไข้หวัดน้อย
   2) ไข้หวัดใหญ่

10. ไข้กำเดา   2  จำพวก

   1) ไข้กำเดาน้อย
   2) ไข้กำเดาใหญ่

11. ไข้  3 ฤดู   3  จำพวก

   1) ไข้ในคิมหันตฤดู
   2) ไข้ในวสันตฤดู
   3) ไข้ในเหมันตฤดู

1. ไข้พิษไข้กาฬ  21  จำพวก

   1) ไข้อีดำ

       ลักษณะการผุด ผุดเป็นแผ่นขนาด 1 - 2 นิ้ว บางทีผุดขึ้นมาเท่าใบเทียน ใบพุทรา ขึันทั่วทั้งตัว ผุดขึ้นเป็นสีดำ เรียกว่า "ไข้อีดำ" 
       อาการ ให้จับเท้าเย็นมือเย็น ตัวร้อนเป็นเปลวเพลิง ตาแดงดังโลหิต ปวดศีรษะร้อนเป็นตอนเย็นเป็นตอนไม่เสมอกัน บางทีจับตั้งแต่รุ่งจนเที่ยง บางทีจับตั้งแต่เที่ยงจนค่ำ หรือบางทีจับตั้งแต่ค่ำจนรุ่ง

   2) ไข้อีแดง

        ลักษณะการผุด ผุดขึ้นมาเหมือนกับไข้อีดำ แต่ว่าเป็นเม็ดสีแดง เรียกว่า "ไข้อีแดง"
        อาการ จับเหมือนไข้อีดำ แต่ว่าไข้อีแดงจะเบากว่าไข้อีดำ

   3) ไข้ปานดำ

        ลักษณะการผุด ผุดขึ้นมาเท่าวงสะบ้ามอญ เท่าใบพุทรา ขนาด 1 - 2 นิ้ว ผุดขึ้นมาเป็นสีดำ ขึ้นมาครึ่งตัว ถ้าผุดขึ้นมาทั้งตัวสีดำดังผลหว้าสุก สีดังคราม สีดำดังหมึก ถ้าผุดทั้งตัวดังกล่าวมานี้ อาจตายได้
        อาการ จับเท้าเย็นมือเย็น บางทีมือร้อน เท้าร้อน ตัวร้อนเป็นเปลว ปวดศีรษะ ตาแดง ร้อนในอก เซื่อมซึม พิษทำภายใน ถ้าใช้ยากระทุ้งพิษไข้ไม่ออก ให้ร้อน ให้กระหายน้ำ บางทีให้ลิ้นกระด้างคางแข็ง

   4) ไข้ปานแดง

       ลักษณะการผุด และอาการ เหมือนกับไข้ปานดำ แต่สีแดงเบากว่าสีดำ ส่วนอาการอื่นๆ เหมือนกับไข้ปานดำ  

   5) ไข้ดานหิน

       ลักษณะการผุด ผุดขึ้นมาที่ต้นขาทั้งสองข้าง เป็นวงเขียวก็มี เป็นสีผลหว้าสีคราม สีผลตำลึงสุก หรือสีหมึก
       อาการ จับให้ตัวเย็นดังหิน ให้ร้อนในกระหายน้ำ ทำพิษให้ลิ้นกระด้างคางแข็ง ให้ปากแห้งคอแห้ง เชื่อมซึม ทำพิษให้สลบ ถ้าจะรักษา ก็ให้เร่งรักษาแต่ยังเป็นนใหม่ๆ ถ้าเปื่อยออกมาแล้วรักษาไม่หาย

   6) ไข้มหาเมฆ
 
       ลักษณะการผุด ถ้าผุดขึ้นในเนื้อยังขึ้นไม่หมด มีสัณฐานเท่าผลจิงจ้อสุก เป็นเงาอยู่ในเนื้อยังขึ้นไม่หมด ผุดทั้งตัวก็มีสีดำเมฆสีดำนิล
       อาการ กระทำพิษจับเชื่อมมัว ให้ลิ้นกระด้างคางแข็ง ให้หอบให้สะอึก ให้ปากแห้งฟันแห้ง ให้ถ่ายอุจจาระปัสสาวะไม่รู้สึกตัว ให้เชื่อมมัวไปไม่เป็นเวลา ไม่มีสติสมปฤดี ให้สลบ 
    
   7) ไข้มหานิล 

       ลักษณะ และอาการ เหมือนไข้มหาเมฆ
   
   8) ไข้ระบุชาด

       ลักษณะการผุด ผุดขึ้นมาเป็นเมล็ด เท่าเมล็ดผักปลังก็มี เท่าเมล็ดเทียนก็มี เท่าเมล็ดงาก็มี เป็นเหล่ากันอยู่ ขนาด 1 - 2 นิ้ว สีดังชาด ขึ้นทั้งตัว 
       อาการ ทำพิษให้เจ็บเชื่อมมัว ร้อนในกระหายน้ำ ให้หอบสะอึก กระทำพิษต่างๆ  
 

   9) ไข้สายฟ้าฟาด

       ลักษณะการผุด ผุดเป็นริ้วลงมา ผุดทั้งหน้าทั้งหลัง ขนาด 1 - 2 นิ้ว สีแดงดังผลตำลึงสุกก็มี สีเขียวดังสีครามก็มี ดังสีผลหว้าสุกก็มี ดังสีดินหม้อก็มี 
       อาการ จับทำพิษร้อนในกระหายน้ำ ให้ปากขม ปากแห้ง ฟันแห้ง ให้ร้อนเป็นเปลวไปทั้งตัว ให้เชื่อมมัวเป็นกำลัง ไม่มีสติสมปฤดี ให้สลบ 

   10) ไข้ไฟเดือน 5 

        ลักษณะการผุด ผุดขึ้นที่อกดำก็มี แดงก็มี สีดังเปลวไฟ 
        อาการ ให้ร้อนในให้กระหายน้ำ ให้เชื่อมมัว ไม่มีสติสมปฤดี ลิ้นกระด้างคางแข็ง ให้สลบ 

   11) ไข้เปลวไฟฟ้า

        ลักษณะไข้ กระทำพิษให้ร้อนเป็นที่สุด ให้ร้อนเป็นเปลว จับเอาหัวอกดำ จมูกดำ หน้าดำ สีเป็นควัน
        อาการ ให้ปากแห้ง ลิ้นแห้ง ฟันแห้ง ให้ปาก ลิ้น แตกระแหง ลิ้นดำเพดานลอก ให้สลบ ไม่มีสติสมปฤดี 

   12) ไข้ข้าวไหม้น้อย

        ลักษณะการผุด ผุดขึ้นมาเหมือนมดกัด เป็นแผ่นทั่วตัว มียอดแหลมขาวๆ
        อาการ ให้จับตัวร้อนเป็นเปลวไฟ ให้มือเท้าเย็น ให้เจ็บไปทั่วสารพางค์กาย ให้เจ็บเนื้อในกระดูก ให้หอบ ให้สะอึก ให้เชื่อมมัว ลิ้นกระด้างคางแข็ง

   13) ไข้ข้าวไหม้ใหญ่

        ลักษณะการผุด ผุดขึ้นมาเหมือนมดกัด เป็นแผ่นทั่วทั้งตัว มียอดแหลมขาวๆ
        อาการ ให้จับสะบัดร้อนสะท้านหนาว ปวดศีรษะมาก ตาแดงดังโลหิต เท้าเย็นมือเย็นเจ็บเนื้อในเนื้อในกระดูก ให้ลิ้นกระด้าง คางแข็ง (มีพิษแรงกว่าไข้ข้าวไหม้น้อย)

   14) ไข้กระดานหิน
        ลักษณะการผุด ผุดขึ้นมาทั่วทั้งตัวเหมือนลมพิษ แดงดังผลตำลึงสุก เป็นเม็ดๆ เหมือนผด แล้วกลับดำลงติดเนื้อ ให้คัน
        อาการ จับสะบัดร้อนสะท้านหนาว ให้ปวดศีรษะเป็นมาก ให้ตาแดงดังโลหิต ให้เท้าเย็น
        มือเย็น ทำพิษให้เจ็บในเนื้อในกระดูก ให้ลิ้นกระด้าง คางแข็ง ให้หอบ ให้สะอึกถ้าแพทย์รักษาดี พิษนั้นคลายลง แต่ถ้าผุดนั้นไม่หาย ต่อมา 3 เดือนจึงตาย 

   15) ไข้สังวาลย์พระอินทร์
        ลักษณะการผุด ผุดขึ้นเป็นเม็ดแดงๆ เป็นแถวๆ ถ้าหญิงขึ้นซ้าย ถ้าชายขึ้นขวา สะพายแล่งคล้ายสังวาลย์ 
        อาการ เป็นพิษให้หอบ และสะอึก ให้สะบัดร้อนสะบัดหนาว 

   16) ไข้ข้าวไหม้ใบเกรียม
        ลักษณะการผุด ผุดขึ้นมาทั้งตัว ให้ปวดในเนื้อในกระดูก ผุดขึ้นมาดังลมพิษ แดงดังตำลึงสุก เป็นแผ่นทั่วทั้งตัว ใหญ่เท่า 2 - 3 นิ้วก็มี เป็นเม็ดเล็กๆ เหมือนมดกัดก็มีแล้วกลับดำ ถ้ารักษาคลายพิษแล้วผุดขึ้นเป็นริ้วแล้วกลับดำเป็นหนังแรด อยู่ 6 เดือน ตาย ถ้าลงไปกินตับกินปอดขาดออกมา ตาย 
        อาการ ให้จับสะบัดร้อนสะบัดหนาว ให้ปวดศีรษะมาก ตาแดงดังโลหิต ให้ร้อนเป็นกำลัง ให้มือเย็นเท้าเย็น ให้ทำพิษในเนื้อในกระดูก ให้ลิ้นกระด้าง คางแข็ง ให้หอบให้สะอึก

   17) ไข้ดาวเรือง

        ลักษณะการผุด ผุดขึ้นมาเหมือนลายโคมครึ่งลูก 
        อาการ ให้จับเท้าเย็นมือเย็น ให้ตัวร้อนเป็นเปลว ตาแดงดังโลหิต ปวดศีรษะมาก ดังว่าตาจะแตกออกมา ให้อาเจียนเป็นกำลัง ให้ร้อนในกระหายน้ำ ให้หอบ ให้สะอึก ให้ลิ้นกระด้างคางแข็ง บางที่ทำพิษถึงสลบ 

   18) ไข้หงษ์ระทด 

        ลักษณธการผุด ไม่มีการผุด แต่ให้ตัวเกรียมไปทั่วทั้งตัว 
        อาการ จับให้ตัวร้อนเป็นเปลว เท้าเย็นมือเย็น เชื่อมซึม ให้หอบ ให้สะอึก จับตัวแข็งไปเหมือนท่อนไม้ ให้ลิ้นกระด้าง คางแข็ง ไม่มีสติสมปฤดี

   19) ไข้จันทรสูตร

        ลักษณะการผุด ไม่มีการผุด ต่อพระจันทร์ขึ้นทำพิษให้สลบ ถ้าพระจันทร์ไม่ขึ้นพิษก็คลายลง 
        อาการ ให้จับตัวร้อนเป็นเปลว เท้าเย็นมือเย็น ให้เชื่อมมัวไม่เป็นสติสมปฤดี ให้หอบให้สะอึก จับตัวแข็งไปเหมือนท่อนไม้ ให้ลิ้นกระด้างคางแข็ง จับไม่เป็นเวลา

   20) ไข้สุริยสูตร 

        ลักษณะการผุด ลักษณะอาการเหมือนไข้จันทรสูตร ผิดกันแต่พอพระอาทิตย์ขึ้นแล้วจะทำพิษมากขึ้น จนพระอาทิตย์ตกพิษก็คลายลง

   21) ไข้เมฆสูตร

        ลักณะการผุด ลักษณะอาการเหมือนไข้สุริยสูตร แต่ผิดกันบ้าง เวลาเกิดพายุฟ้าฝนเมฆตั้งขึ้นทั่วทิศ กระทำพิษให้สลบ
       
2. ไข้รากสาด (ไข้กาฬ) แบ่งออกได้  9 จำพวก คือ

         อาการของไข้รากสาด ให้เท้าเย็นมือเย็น ตัวร้อนเป็นเปลว ปวดศีรษะมาก ตาแดงเป็นโลหิต จับเพ้อ ร่ำรี้ร่ำไรดังปีศาจเข้าสิงอยู่ ให้ชักมือกำเท้ากำ ตาเหลือกตาซ้อน ร้อนเป็นตอนเย็นเป็นตอน บางทีจับเหมือนหลับ จับตัวเย็น ให้เหงื่อตกมาก แต่ร้อนภายในเป็นกำลัง ให้หอบให้สะอึก ลิ้นกระด้างคางแข็ง ให้จับเชื่อมมัวไม่มีสติสมปฤดี  บางทีกระทำพิษภายใน ให้ลงเป็นโลหิต ไอเป็นโลหิต อาเจียนเป็นโลหิต เป็นเสมหะโลหิตเหน้า ขึ้นเหมือนลายต้นกระดาษก็มี ลายเหมือนงูลายสาบก็มี ลายเหมือนสายเลือดก็มี ลายเหมือนดีบุกก็มี  
อาการของไข้รากสาดทั้ง 9 จำพวกนี้เหมือนกัน จะต่างกันก็แต่การผุดเท่านั้น 

   1) ไข้รากสาดปานขาว 

       ผุดขึ้นมาเท่าผลพุทรา ขาวเหมือนสีน้ำข้าวเช็ด ผุดขึ้นมาทั้งตัว เรียกว่า ไข้รากสาดปานขาว

   2) ไข้รากสาดปานแดง 

    ผุดขึ้นมาเป็นเมล็ดถั่วเล็กๆ แดงๆ เป็นหมู่ขนาด 1 - 2 นิ้วทั้งตัว  เรียกว่า รากสาดปานแดง

   3) ไข้รากสาดปานเหลือง
 

    ผุดขึ้นมาเป็นเม็ดเล็กๆ มีขนาด 1 - 2 - 3 นิ้ว แต่ผิวนั้นเหลือง ลิ้นเหลือง เรียกว่า ไข้รากสาดปานเหลือง

   4) ไข้รากสาดปานดำ
 
    ผุดขึ้นมาเท่างบน้ำอ้อย ดังนิล ลิ้นดำผุดทั่วทั้งตัว เรียกว่า ไข้รากสาดปานดำ

   5) ไข้รากสาดปานเขียว 

    ผุดขึ้นมาเป็นหมู่ ขนาด 1 - 2 -3 นิ้ว เขียวดังสีคราม ลิ้นก็เขียว ผุดขึ้นมาทั่วทั้งตัว เรียกว่าไข้รากสาดปานเขียว 

   6) ไข้รากสาดปานม่วง 

    ผุดขึ้นมาสีดุจดังผลผักปลังสุก เรียกว่า ไข้รากสาดปานม่วง (ตาย)

   7) ไข้รากสาดนางแย้ม 

    ผุดขึ้นมาเป็นเม็ดเล็กๆ ขนาด 1 - 2 - 3 นิ้ว มีลักษณะเหมือนดอกนางแย้ม ผุดขึ้นมาทั่วทั้งตัว เรียกว่า ไข้รากสาดนางแย้ม 

   8) ไข้รากสาดพนันเมือง 

    ผุดขึ้นมาเป็นหมู่เป็นริ้วมาเหมือนตัวปลิง โตขนาด 1 - 2 - 3 นิ้ว ดำเหมือนดินหม้อไปทั่วทั้งตัว ชื่อว่า ไช้รากสาดพนันเมือง

   9) ไข้รากสาดสามสหาย 

    ผุดขึ้นมาเป็นเม็ดๆ เหมือนเท้าสุนัข มีสีแดงทั่วทั้งตัว เรียกว่า 
ไข้รากสาดสามสหาย

         ถ้าผู้ใดจะเป็นแพทย์ไปภายหน้า  ให้เร่งตรึกตรองพิจารณาแก้ไขให้ละเอียดจึงควร ถ้าแพทย์คนใดได้เรียนต่อจากครูจะแก้ได้สักส่วนหนึ่ง จะตายสักสามส่วน ถ้าแพทย์คนใดมิได้เรียนต่อจากครูรู้แต่ตำรา เป็นโมหาคติ แก้ไม่ได้ร้อยคนจะรอดสักคนหนึ่ง 

3. ไข้ประดง (ไข้กาฬแทรกไข้พิษ) มี 8 จำพวก คือ

       ไข้ประดงทั้ง 8 ประการนี้ มีการจับคล้ายคลึงกันคือ จับให้เท้าเย็น มือเย็น ให้ตัวร้อนเป็นเปลว ให้ร้อนใน กระหายน้ำ ให้หอบ ให้สะอึก ให้เมื่อยในกระดูก ให้เสียวไปทั้งตัว ให้จับสะท้านร้อนสะท้านหนาว ให้เชื่อมมัว ให้ปวดศีรษะเป็นกำลัง ให้ปากขม ปากเปรี้ยว ปากหวาน ให้ปากคอ ลิ้น แห้งมาก ให้เพ้อ กลุ้มอกกลุ้มใจ ทั้งนี้เป็นลักษณะที่ไข้กาฬจะแทรกในไข้พิษ 8 ประการ มีลักษณะต่างกันดังนี้

   1) ไข้ประดงมด    ผุดขึ้นขึ้นมาเหมือนยุงกัดทั่วทั้งตัว ให้คัน ทำพิษให้แสบร้อน

   2) ไข้ประดงช้าง   ผุดขึ้นเหมือนผิวมะกรูด ทำพิษให้ปวดแสบปวดร้อน ให้คัน

   3) ไข้ประดงควาย ผุดขึ้นมาเหมือนเงาหนอง ทำพิษให้ปวดแสบปวดร้อน

   4) ไข้ประดงวัว     ผุดขึ้นมาเหมือนผลมะยมสุก  ทำพิษให้ปวดแสบปวดร้อน

   5) ไข้ประดงลิง     ผุดขึ้นมาเหมือนเมล็ดข้าวสารคั่ว ทำพิษให้ปวดแสบปวดร้อน

   6) ไข้ประดงแมว   ผุดขึ้นมามีสัณฐานดังตาปลา ทำพิษให้ปวดแสบปวดร้อน

   7) ไข้ประดงแรด    ผุดขึ้นมามีสัณฐานแดงหนาดังหนังแรด แล้วให้คล้ำดำเข้าเป็นเกล็ดเหมือนหนังแรด ทำพิษให้ปวดแสบปวดร้อน

   8) ไข้ประดงไฟ ผุดขึ้นมาเหมือนไข้ระบุชาด มีเม็ดแดง ยอดดำ
      จับสะท้านร้อนสะท้านหนาว ให้เชื่องซึม กระหายน้ำมาก

         ไข้ประดงทั้ง 8 ประการนี้ ให้เร่งวางยาดับพิษกาฬ และยากะทุ้งพิษกาฬ อย่าให้พิษกลับเข้าในข้อกระดูกได้ ถ้าวางยากระทุ้งไม่ออกสิ้นเชิง กลับทำพิษคุดในข้อในกระดูก ย่อมให้กลับกลายไปเป็นโรคเรื้อน เป็นพยาธิเป็นลมจะโป่ง ลมประโคมหินบวมไปทุกข้อทุกลำ มีพิษ ให้ไหวตัวไม่ได้ ร้องไปทั้งกลางวัน และกลางคืน ราวกะคอจะแตกออกไป (ประดง 7 จำพวก ยกเว้นประดงแรดอย่างเดียว) 

         ประดงแรดนั้นแก้พิษตกคลายได้ในปีหนึ่ง แต่เม็ดยอดยังไม่หาย กลายไปทำพิษให้คันผิวหนาดังหนังแรด คลายลงอยู่ปีหนึ่ง แล้วให้ตกโลหิตกินตับกินปอดขาดออกมาตาย

4. ไข้กาฬ 10 จำพวก (เกิดแก่คนทั้งหลาย) คือ

   1) ไข้ประกายดาษ

         ลักษณะการผุด ผุดขึ้นมาเหมือนฝีดาษทั่วทั้งตัว ทำพิษให้สลบ 
         อาการ จับสะท้านร้อนสะท้านหนาว จับเท้าเย็นมือเย็น ปวดศีรษะ ตาแดงดังโลหิตเชื่อมซึม ปวดในเนื้อในกระดูก ลิ้นกระด้าง  คางแข็ง ให้หอบให้สะอึก
    
   2) ไข้ประกายเพลิง

       ลักษณะการผุด ผุดขึ้นมาเหมือนประกายดาษ แต่เม็ดผิดกัน  เม็ดใหญ่กว่าเม็ดทรายขึ้นทั่วทั้งตัว
       อาการ เหมือนปรกายดาษ ร้อนเป็นไฟ ศีรษะนั้นร้อนเป็นไฟ เหมือนไฟลวก ทำพิษมาก 

   3) ไข้ออกหัด

    ลักษณะการผุด ผุดขึ้นมาเป็นเม็ดทรายทั่วทั้งตัว มียอดแหลมๆ ถ้าหลบเข้าไปในท้องให้ลง
    อาการ จับสะท้านร้อนสะท้านหนาว เชื่อมซึม ให้ปวดศีรษะอยู่วันหนึ่ง หรือสองวันจึงมีเม็ดผุดขึ้นมา
    
   4) ไข้ออกเหือด 

      ลักษณะการผุด เหมือนกับไข้ออกหัด แต่ไข้ออกเหือดยอดไม่แหลม ลักษณะหัดกับเหือด
      มีลักษณะคล้ายคลึงกัน
  
   5) ไข้งูสวัด (ตวัด) 

      ลักษณะการผุด เป็นเม็ดทรายขึ้นมาเป็นแถว มีสัณฐานเหมือนงูเป็นเม็ดพองๆ เป็นหนอง
      ก็มี ถ้าผู้หญิงเป็นซ้าย ถ้าผู้ชายเป็นขวา แต่ถ้าข้ามสันหลังไปรักษาไม่ได้ (ตาย)
      อาการ จับสะบัดร้อนสะบัดหนาว บางทีให้ปวดศีรษะ บางทีให้จับ (ไข้)

   6) ไข้เริมน้ำค้าง

      ลักษณะการผุด ผุดขึ้นมาเป็นแผ่น ขนาด 1 - 2 - 3 - 4 นิ้ว เป็นเหล่าๆ กัน มีน้ำใสๆ เรียกว่า เริมน้ำค้าง
      อาการ จับสะท้านร้อนสะท้านหนาว เชื่อมมัว ปวดศรีษะ

   7) ไข้เริมน้ำข้าว

       ลักษณะการผุด และอาการ เหมือนกับเริมน้ำค้าง แต่ผิดกันที่ เริมน้ำข้าวเม็ดจะมีสีขุ่น 

   8) ไข้ลำลาบเพลิง 

       ลักษณะการผุด ผุดขึ้นมาเป็นแผ่น 
       อาการ จับสะท้านร้อนสะท้านหนาว ปวดศีรษะ เชื่อมมัว ทำพิษต่างๆ ถ้าวางยาไม่ดี น้ำเหลืองแตกตาย

   9) ไข้ไฟลามทุ่ง

       ลักษณะการผุด ผุดขึ้นมาเป็นแผ่นเหมือนลำลาบเพลิง แต่ว่ามีอาการรวดเร็วกว่าลำลาบเพลิงมาก

   10) ไข้กำแพงทลาย

       ลักษณะการผุด ผุดขึ้นมาหัวเดียว ทำพิษมาก
       อาการ จับสะท้านร้อนสะท้านหนาว เชื่อมซึม ร้อนในกระหายน้ำ ให้ฟกบวมขึ้น ถ้าน้ำ
       เหลืองแตกพังออกมา วางยาไม่หยุด ตาย 
ไข้อีสุก อีใส

ไข้อีสุก อีใส

ไข้อีสุก อีใส

ไข้อีสุก อีใส

ไข้อีสุก อีใส

      ไข้อีดำ อีแดง

ไข้อีดำ อีแดง

ไข้อีดำ อีแดง

ไข้อีดำ อีแดง

 เชื้อโรค   ไข้อีดำ อีแดง

โรคเริม (งูสวัด)

โรคเริม (งูสวัด)

โรคเริม (งูสวัด)

โรคเริม (งูสวัด)

โรคเริม (งูสวัด)

โรคเริม (งูสวัด)
  
5. ฝีกาฬเกิดแทรกในไข้พิษ  10  ประการ

   1) กาฬฟองสมุทร  

        ลักษณะการผุด ผุดขึ้นมาเท่าเมล็ดงา เมล็ดถั่ว เมล็ดผักปลังสุก เมล็ดถั่วดำ นูนสูงขึ้นมาเป็นหลังเบี้ยก็มี  เกิดขึ้นในปาก ในลิ้น ในเพดาน 
        อาการ ถ้าขึ้นในปาก ทำพิษให้กินข้าว กินน้ำไม่ได้ ให้จับสะท้านร้อนสะท้านหนาว ให้เชื่อมมัว ตัวร้อนเป็นเปลว

   2) กาฬเลี่ยมสมุทร 

        ลักษณะการผุด ผุดขึ้นที่ริมฝีปากทั้งสองข้าง บางทีเป็นเม็ดเท่าเมล็ดถั่วดำก็มี 
        อาการ ถ้าเม็ดแตกร้าวเป็นโลหิตไหล ทำพิษให้จับสะท้านร้อนสะท้านหนาว เชื่อมซึม 

   3) กาฬทามสมุทร 

        ลักษณะการผุด เกิดบวมยาวขึ้นมาตามข้างลิ้น ข้างขากรรไกร ตามไรฟัน ต้นลิ้น 
        อาการ จับสะท้านร้อนสะท้านหนาว เชื่อมซึม 

   4) กาฬทามควาย 

        ลักษณะการผุด บังเกิดแต่ต้นกรามทั้งสองข้าง มีสัณฐานยาวไปเหมือนตัวปลิง 
        อาการ จับสะท้านร้อนสะท้านหนาว เชื่อมซึม

   5) กาฬไข้ละลอกแก้ว 

        ลักษณะการผุด เกิดในท่ามกลางไข้พิษ มีลักษณะสัณฐานเกิดเท่าผลผักปลังก็มี เท่าเมล็ดถั่วดำก็มี เท่าเมล็ดถั่วเขียวก็มี เท่าเมล็ดจิงจ้อก็มี เป็นเงาหนองก็มี 

   6) ไข้กาฬทูม 

        ลักษณะการผุด ให้บวมตามขากรรไกรทั้งสองข้าง บางทีก็บวมแต่ข้างเดียว
        อาการ ทำพิษให้จับสะท้านร้อนสะท้านหนาว ให้เชื่อมมัว ให้ตัวร้อนเป็นเปลว ให้ร้อนในกระหายน้ำ

   7) ไข้กาฬทาม
  
        ลักษณะ และอาการ เหมือนกับไข้กาฬทูม แต่ผิดกันที่บวมตั้งแต่ขากรรไกร มาถึงคอทั้งสองข้าง 

   8) ไข้มะเร็งตะมอย 

        ลักษณะการผุด ผุดขึ้นมาเท่าแม่มือ ผลจิงจ้อ ถ้าฐานขาวหัวดำ ทำพิษหนัก บางทีผุดขึ้นมาที่ตัว ที่แขน ที่ขา ให้ยาก็ไม่หาย แตกออกได้แล้ว ถ้าไม่ตายกลายเป็นะเร็ง
        อาการ จับสะท้านร้อนสะท้านหนาว ให้เชื่อมมัว 

   9) ไข้มะเร็งปากทูม 

        ลักษณะการผุด ผุดขึ้นมาจากหลังทั้งสองข้าง ข้างเดียวก็มี มีสัณฐานยอดเขียวเหมือนน้ำคราม
        อาการ ทำพิษต่างๆ ถ้าแพทย์ให้ยาไม่หาย กลับแตกออกไปจะลงไปเหมือนปากทูมถ้าแก้ดีไม่ตายกลายเป็นมะเร็งปากหมู

  10) ไข้มะเร็งเปลวไฟ 

        ลักษณะการผุด ผุดขึ้นมาเท่าวงสะบ้า ยอดเขียว
        อาการ ทำพิษเหมือนถูกไฟไหม้ให้สลบ ให้แพทย์แก้ให้ดี ถ้าแตกหวะออกไปได้ ตาย

6. ไข้กระโดง (ไข้กาฬ)  มี 4 จำพวก

   1) ไข้กระโดงไฟ  

        มีลักษณะเป็นพิษเหมือนเปลวไฟ เผาทั่วกาย ร้อนในกระหายน้ำ ปาก ฟัน ลิ้น คอ แห้ง

   2) ไข้กระโดงน้ำ  

       อาการจับให้นอนเชื่อมมัวไป ไม่มีสติสมปฤดี ถึงจะเอารังมดแดงเข้ามาเคาะกัดให้ทั่วตัวก็มิรู้สึกตัวเลย

   3) ไข้กระโดงแกลบ 

       มีสัณฐานผุดขึ้นมาเหมือนเม็ดทรายทั่วตัว ให้คันเป็นกำลัง แม้จะเกาให้ทั่วตัว ก็ไม่หายคัน ถึงจะเอาไม้ขูดให้โลหิตออกไปทั้งตัวก็ไม่หายคัน

   4) ไข้กระโดงหิน 

       ทำพิษต่างๆ ไม่รู้ที่จะบอกแก่ใครได้ให้ยืนที่เดียว ถ้าจะให้นั่งถ่ายอุจจาระปัสสาวะแทบจะขาดใจตาย 

7. ฝีกาฬ   6  ชนิด

1) กาฬมะเร็งนาคราช

       เกิดขึ้นที่หัวแม่มือทั้งสองข้าง ข้างเดียวก็มี มีสัณฐานเท่าเมล็ดถั่วเขียว เท่าเมล็ดถั่วดำก็มี เท่าผลผักปลังก็มี เลื่อมเป็นหลังเบี้ย เท่าผลมะยม เท่าผลเอ็น เท่าเม็ดหินก็มี มีอาการให้จับ สะท้านร้อนสะท้านหนาว ให้เชื่อมมัว ให้ปวดศีรษะ ทำพิษ ที่ผุดขึ้นมาเหมือนถูกไฟ ให้มือดำเหมือนดินหม้อ ทำพิษให้กลุ้ม หัวใจแน่นิ่งไป ให้เร่งรักษาให้ดี ถ้ารักษาไม่คลายให้มือดำ แขนดำ (ตาย)

  
  2) กาฬฟองสมุทร (ไข้ฟองสมุทร) 

      ลักษณะการผุด ผุดขึ้นมาตามช่องอก ตามราวนมเท่าวงสะบ้ามอญ เขียวก็มี ดำก็มี ขนาด 2 นิ้ว 3 นิ้ว ยาวรีไป

  3) ตะบองพะลำ  

     ขึ้นที่ขาหนีบทั้งสองข้างในที่ลับ มีสัณฐานโตเท่า 1 นิ้ว แดงก็มี ดำก็มี เขียวก็มี ทำพิษ ให้ลิ้นกระด้าง คางแข็ง จับนิ่งแน่ไป 

  4) กาฬแม่ตะงาว (ไข้แม่ตะงาว)

      ลักษณะการผุด ผุดขึ้นมายาวรี ขนาด 1 - 2 นิ้ว ขึ้นขาหนีบต้นขาในที่ลับทั้งสองข้าง ขึ้นตามรักแร้ ขึ้นตามหลังตามอก ถ้าจะขึ้นมา ทำพิษให้สลบ ถ้ารู้ไม่ถึงโรคสำคัญว่าลมจับ 
ถ้าสงสัย ให้เอาเทียนส่องดู 

  5) กาฬตะบองชนวน (ไข้ตะบองชนวน) 
 
      ลักษณะการผุด ผุดขึ้นมามีสัณฐานเรียวเล็กเท่าหวายตะคล้า ขนาด 1 - 2 นิ้ว ยาวรีผุดขึ้นมาบั้นเอว ก้นขบ ขาทั้งสอง ในที่ลับ ท้องน้อย ราวข้าง ใต้รักแร้ ทำพิษต่างๆ ดำก็มี แดงก็มี เขียวก็มี ทำพิษให้สลบ ให้ลิ้นกระด้างคางแข็ง

  6) กาฬตะบองกาฬ (ไข้ตะบองกาฬ) 

      พูดอยู่ดีๆ เดินเหินได้ ผุดขึ้นมาตามราวข้าง โตขนาดผลมะตูม ขึ้นตามบั้นเอว ตามข้อต่อตามหัวไหล่ทั้งสองข้าง ตามข้อศอกทั้งสองข้าง ตามข้อมือทั้งสองข้าง ตามเท้า และขา ตามโคนขาทั้งสองข้าง ตามเข่าทั้งสองข้าง บวมลิ้นขึ้นมาทำพิษมาก จะไหวตัวก็ไม่ได้ 
      อาการ จับให้เชื่อมมัว ปากแห้ง ฟันแห้ง ลิ้นแห้ง คอแห้ง ให้หอบให้สะอึก ลิ้นกระด้างคางแข็ง ไม่มีสติสมปฤดี ให้ร้อนในกระหายน้ำ ให้คลั่งเพ้อละเมอไป แต่จะเคลื่อนไหวตัวก็ไม่ได้ 


เชื้อไข้กาฬหลังแอ่น

ไข้กาฬหลังแอ่น

ไข้กาฬหลังแอ่น

ไข้กาฬหลังแอ่น

8. ไข้คด ไข้แหงน  2  จำพวก 

   1) ไข้คด อาการจับ ชักงอเข้าจนเส้นหลังขาดตาย 

   2) ไข้แหงน อาการจับไข้ชักแอ่นอกจนเส้นท้องขาดตาย

    ไข้ทั้ง 2 ประการนี้ มีอายุได้เพียงวันเดียว

หมายเหตุ จุดสำคัญของไข้ทั้ง 2 ประการนี้ ให้เอามือกดที่เนื้อ แขน ขา ถ้าพองขึ้น ไม่ตาย หรือให้เอามือล้วงคอ หรือทวารหนัก ถ้ายังอุ่นอยู่ อาการพอทุเลารักษาได้ 

9. ไข้หวัด 2 จำพวก

   1) ไข้หวัดน้อย

    เมื่อจะเกิดขึ้นนั้น อาการสะบัดร้อนสะบัดหนาว ปวดศีรษะมาก ระวิงระไว ไอ จามน้ำมูกตก ลักษณอาการนี้เป็นเพราะไข้หวัดน้อย การรักษาไข้หวัดน้อย ให้ใช้ยาลดไข้ 
     (อันว่าคนไข้ทั้งหลายนั้น ไม่กินยาก็หาย อาบน้ำก็หาย ใน 3 วัน 5 วัน)

2) ไข้หวัดใหญ่ 

    อาการ จับให้สะท้านร้อนสะท้านหนาว ปวดศีรษะ ให้ไอ จาม น้ำมูกตกมาก ให้ตัวร้อนให้อาเจียน ปากแห้ง ปากเปรี้ยว ปากขม กินข้าวไม่ได้ แล้วแปรไปให้ไอมาก และทำพิษให้คอแห้ง ปากแห้ง ฟันแห้ง จมูกแห้ง น้ำมูกแห้ง บางทีกระทำให้น้ำมูกไหลหยดย้อย 
     เพราะเหตุว่ามันสมองนั้นเหลวออกไปหยดออกจากจมูกทั้ง 2 ข้าง ไปปะทะกับสอเสมหะ (เสมหะในลำคอ) จึงทำให้ไอ ถ้ารักษาไม่คลาย กลายไปเป็นริสดวง มองคร่อ (หวัดลงปอด) หืด ไอ และฝี 7 ประการ จะบังเกิด การรักษาไข้หวัด 2 ประการนี้ ให้ยาลดไข้ รักษาตามอาการ ให้คนไข้นอนพักผ่อนให้มากๆ ให้ความอบอุ่นแก่ร่างกายให้เพียงพอ เช่น ใส่เสื้อหนาๆ ใช้ผ้าคลุมอก อย่าให้อาบน้ำ หรือถูกน้ำเย้นในขณะที่มี อาหารควรให้อาหารอ่อนๆที่ย่อยง่าย และอยู่ในที่มีอากาศถ่ายเทได้สะดวก 

หมายเหตุ อันว่าคนไข้ทั้งหลาย ไม่กินยาก็หาย อาบน้ำก็หายใน 3 วัน 5 วัน (ถ้าเป็นหวัดธรรมดา)
         นพระคัมภีร์ตักศิลากล่าวไว้ว่า ไข้หวัด 2 ประการนี้ เป็นเพราะเหตุ ฤด 3 ประการ คือ คิมหันตฤดู (ร้อน) วสันตฤดู (ฝน) เหมันตฤดู (หนาว)  โรคเกิดแก่คนทั้งหลาย คือ ต้องร้อนอย่างหนึ่ง ต้องน้ำค้างอย่างหนึ่ง ต้องละอองฝนอย่างหนึ่ง จึงทำให้เป็นไข้หวัด และผู้ที่จะเป็นแพทย์ต่อไปข้างหน้า จงรักษาให้ดี อย่าพึงประมาทว่าเป็นเพียงไข้หวัด ถ้ารักษาไม่ดี แก้ไม่คลาย อาจแปรไข้ถึงมรณ (ตาย)


10. ไข้กำเดา  2  จำพวก

   1) ไข้กำเดาน้อย

       มีอาการ ให้ปวดศีรษะ ให้ตาแดง ให้ตัวร้อนเป็นเปลว ให้ไอ สะบัดร้อนสะท้านหนาว ให้ปากขม ปากเปรี้ยว กินข้าวไม่ได้ ให้อาเจียน  ให้นอนไม่หลับ 

   2) ไข้กำเดาใหญ่

       มีอาการ ให้ปวดศีรษะมาก ให้ตาแดง ให้ตัวร้อนเป็นเปลว ให้ไอ ให้สะบัดร้อนสะท้านหนาว ให้ปากแห้ง คอแห้ง เพดานแห้ง ฟันแห้ง ให้เชื่อมมัว ให้เมื่อยไปทั้งตัว จับสะบัดร้อนสะท้านหนาว ไม่เป็นเวลา บางทีผุดขึ้นเป็นเม็ดเท่ายุงกัดทั้งตัว แต่เม็ดนั้นยอดไม่มี บางทีให้ไอเป็นโลหิตออกมาทางจมูกทางปาก บางทีให้ชักมือกำเท้ากำ ถ้าแพทย์แก้มิฟังใน 3 วัน 5 วัน สำคัญว่าเป็นไข้เพื่อ (เพราะ) เส้นเพื่อ (เพราะ) ลมอัมพฤกษ์ และไข้สันนิบาต ไม่รู้วิธีแก้ไข้กำเดาก็จะเกิดกาฬ 5 จำพวกแทรกขึ้นมา คือ กาฬพิพิธ กาฬพิพัธ กาฬคูถ กาฬมูตร กาฬสิงคลี จะทำให้ตายได้ 
    
    พระอาจารย์จึงจะบอกให้ผู้ที่จะเรียนเป็นแพทย์ต่อไปข้างหน้า ให้พึงรู้ ซึ่งลักษณะอาการไข้กำเดาไม่ใช่ไข้เล็กน้อยจะว่าง่ายๆ เพราะไข้กำเดาเป็นไข้สำคัญ เปรียบเหมือนพระอาทิตย์ขึ้นดวงหนึ่งโลกนั้นพอเป็นสุข ครั้นขึ้นมาเป็น 2 ดวงโลกนั้นกระวนกระวายนัก ครั้นขึ้น 3 ดวงสัตว์ทั้งหลายก็ตายหมด ถ้าไม่ตายภายใน 7 วัน 9 วัน 11 วัน ก็กลายเป็นสันนิบาต สำประชวร 

11. ไข้  3  ฤดู

   1) ไข้ในคิมหันตฤดู คือ เดือน 5 - 6 - 7 - 8  เป็นไข้เพื่อ (เพราะ) โลหิต เป็นใหญ่กว่าลมเสมหะทั้งปวง

   2) ไข้ในวสันตฤดู คือ เดือน 9 - 10 - 11 - 12 เป็นไข้เพื่อ (เพราะ) ลมเป็นใหญ่กว่าเลือดเสมหะทั้งปวง

   3) ไข้ในเหมันตฤดู คือ เดือน 1 - 2 - 3 - 4 เป็นไข้เพื่อ (เพราะ) กำเดา และดีเป็นใหญ่กว่าลมเสมหะทั้งปวง

       ลักษณะอาการ ของไข้ 3 ฤดู ให้นอนละเมอเพ้อฝันไป เป็นหวัดมองคร่อ หิวหาแรงไม่ได้ ให้เจ็บปาก ให้เท้าเย็นมือเย็น น้ำลายมาก กระหายน้ำบ่อยๆ ให้อยากกินเนื้อพล่าปลายำให้อยากกินหวาน อยากกินคาว ให้บิดขี้เกียจคร้าน เป็นฝีพุพอง เจ็บข้อมือข้อเท้า สะท้านหนาวดังนี้ 
แพทย์ต้องวางยาร้อน จึงชอบกับโรค



ไข้หวัดใหญ่

ไข้หวัดใหญ่

ไข้หวัดใหญ่


ไข้หวัดน้อย

---------------------------------------------------------------

ศูนย์การแพทย์แผนไทยภูเก็ต

https://phuketthaitraditionalmedicinecenter.blogspot.com/2013/03/blog-post.html

---------------------------------------------------------------

อ้างอิง ตำราแพทย์แผนโบราณ 
สาขาเวชกรรม เล่ม 1
กองการประกอบโรคศิลปะ  
และแพทย์ศาสตร์สงเคราะห์


Credit:  ภาพนำมาจาก internet ซึ่ง share กันใน Google,  Face Book และได้ถ่ายทำเองบ้าง เพื่อการศึกษาแพทย์แผนไทยให้ง่ายขึ้น เป็นการสืบทอดต่อไปยังอนุชน และผู้สนใจ ให้มีความรู้ในการรักษาบำบัดโรคพึ่งพาตนเองได้ ขอขอบคุณเจ้าของภาพ ขอให้อนุโมทนาส่วนบุญกุศล เจริญด้วยอายุ วรรณะ สุขัง พลัง และสมปรารถนาในสิ่งที่ดีงามโดยทั่วกันทุกท่าน เทอญ

ตรวจทานแแล้ว



1 comment:

  1. This is the most interesting information and fit into our topic. I want to share it with my friends QNC Jelly Gamat Thankyou

    ReplyDelete