รวมข้อมูลที่เกี่ยวกับการศึกษา และด้านสุขภาพ

Tuesday, October 15, 2013

เวชกรรมไทย เล่ม 1 (โรคโลหิตระดูสตรี) คัมภีร์มหาโชตรัต

  เวชกรรมไทย เล่ม 1

(โรคโลหิตระดูสตรี)

คัมภีร์มหาโชตรัต



จัดทำโดย อ.หมอสุชาติ ภูวรัตน์
นธ.เอกบาลีประโยค 1-2
(อดีตพระธรรมทูตต่างประเทศ)
B.S. Engineering Design Tech.
 B.A. ศาสนศาสตร์บัณฑิต
B.S. Computer Information Systems
B.TM.  พทย์แผนไทยบัณฑิต
สาขาวิทยาศาสตร์สุขภาพ
บ.ภ.พท.ว.พท.ผ.พท.น.
ครูแพทย์แผนไทย 4 ด้าน
ศูนย์การแพทย์แผนไทยภูเก็ต
ทำเพื่อการศึกษาและประโยชน์แก่ผู้ชม

เวชกรรมไทย เล่ม 1
(โรคโลหิตระดูสตรี)

คัมภีร์มหาโชตรัต


พระคัมภีร์มหาโชตรัต กล่าวถึงโรคโลหิตระดูสตรี ปกติโทษ และระดูทุจริตโทษ ซึ่งว่าด้วยปฐมสัตว์ มนุษย์อันเกิดมาเป็นรูปสตรีภาพ ตั้งแต่คลอดจากครรภ์มารดา มีกายแตกต่างจากชาย 4 ประการ คือ 

      1. ถันประโยธร 
      2. จริตกิริยา 
      3. ที่ประเวณี 
      4. ต่อมโลหิตระดู

       1. ที่เกิดโลหิตระดูของสตรี 5 ประการ 
 (เรียกว่าโลหิตปกติ)

      1) โลหิตระดูอันเกิดแก่หัวใจ เมื่อใกล้จะมีระดูมานั้น มีอาการให้คลั่งเพ้อ เจรจาด้วยผี ให้นอนสะดุ้ง หวาดผวา มักขึ้งโกรธไปต่างๆ ครั้นมีระดูออกมาแล้ว อาการนั้นก็หายไป

      2) โลหิตระดูอันเกิดแต่ขั้วดี เมื่อใกล้จะมีระดูมานั้น ให้มีอาการเป็นไข้ ให้คลั่งไคล้ ละเมอ เพ้อพก เจรจาด้วยผี ให้นอนสะดุ้งหวาดไป ครั้นมีระดูออกมาแล้ว อาการนั้นก็หายไป

      3) โลหิตระดูอันเกิดแต่ผิวเนื้อ เมื่อใกล้จะมีระดูมานั้น ให้มีอาการนอน ร้อนผิวเนื้อผิวหนัง และแดงดังผลตำลึกสุก บางทีให้ผุดขึ้นทั้งตัวดังยอดหัด และฟกเป็นดังไข้รากสาด เป็นอยู่ 2 วัน 3 วัน ครั้นมีระดูมาแล้ว อาการนั้นก็หายไป

     4) โลหิตระดูอันบังเกิดแต่เส้นเอ็น เมื่อใกล้จะมีระดูมานั้น ให้เป็นดุจดังไข้จับ ให้สะบัดร้อนสะบัดหนาว ปวดศีรษะมาก ครั้นพอมีระดูออกมาแล้ว อาการก็หายไป

     5) โลหิตระดูอันเกิดแต่กระดู เมื่อใกล้จะมีระดูมานั้น ให้เมื่อยขบไปทุกข์ดังจะขาดออกจากกัน ให้เจ็บเอวสันหลังมาก มักบิดเกียจคร้านบ่อยๆ ครั้นมีระดูออกมาแล้วก็หายไป

       โลหิตปกติโทษทั้ง 5 ประการนี้ อธิบายไว้พอเป็นที่สังเกตของแพทย์ เพราะโลหิตปกติโทษ จะมีอยู่แต่เท่านั้นหามิได้ ย่อมมีอยู่ทั่วไปทั้งอาการ 32 ซึ่งชุ่มแช่อยู่ทั่วไปทั้งตัว ด้วยลม 6 จำพวก และลมทั้งหลายพัดให้เดินไปมาระหว่างเส้นเอ็น เนื้อหนัง และ อวัยวะทั้งหลายในร่างกาย เป็นธรรมดาของสัตว์โลก เตโชธาตุทั้ง 4 นั้น ทำหน้าที่ให้โลหิตในกายอบอุ่นแล้ว ถ้าเตโชธาตุกล้า หรือร้อนเกินปกติ โลหิตก็ร้อนทนไม่ได้ ก็จะผุดออกมานอกผิวหนัง แพทย์จึงสมมุติว่าเป็นเม็ดกำเดา รากสาดปานดำปานแดง และกาฬทั้งปวง นั่นคือเหตุของโลหิตนั่นเอง  
     
จึงกล่าวได้ว่า ดี กำเดา ก็คือเตโช ส่วนโลหิต
เป็นเจ้าสมุฏฐาน อันว่าโลหิตนั้นเป็นธรรมชาติ
ของสตรี ผู้ใดเคยมีระดูมานั้น หากลมกองโต
เคยกำเริบ ลมกองนั้นจะกำเริบทุกเดือนทุกครั้ง 
จึงเรียกว่า ปกติโลหิต” หรือโลหิตประจำเดือน 

       แต่ถ้าถึงกำหนดระดูมีมา อาการแปลกไปอย่างอื่น และลมกองที่เคยพัดประจำเกิดไม่พัด ลมกองอื่นจึงเข้าพัดแทน อาการจึงแปลกไปจากทุกเดือนอย่างนี้เรียกว่า โลหิตทุจริตโทษ”

2. หญิงมีระดูมาแล้วเกิดแห้งไป 
เพราะเหตุ 5 ประการ คือ

      1) มีกามระคะจัด อำนาจแห่งไฟราคะเผาโลหิตให้แห้งไป

      2) บริโภคอาหารเผ็ดร้อนเกินไปป็นเหตุให้ระดูพิการได้

      3) มีโทสะเป็นนิจ หรือทำงานหนักเกินไป เป็นเหตุให้โลหิตนั้นแห้งไป

      4) มีโมหะอยู่เป็นนิจ หรือออกกำลังมากเกินไป เป็นเหตุให้โลหิตนั้นแห้งไป

      5) เป็นด้วยกรรมพันธุ์ ติดต่อมาจากบิดา มารดา ปู่ ย่า ตา ยาย ของหญิงนั้น

         หญิงจำพวกใด เมื่ออายุได้ 14–15 ปี ขึ้นไป และสิ้นกำหนดตานซางแล้ว ต่อมโลหิตระดูของหญิงนั้นก็บังเกิดมาตามประเวณีของสตรีภาพ ให้แพทย์พิจารณาดูว่า โลหิตนั้นเกิดจากที่ใด แล้วให้ปรุงยา ชื่อ ยาพรหมภักดิ์ เป็นยาประจุโลหิตร้ายเสียให้สิ้น แล้วจึงแต่งยาบำรุงไฟธาตุให้กิน เพื่อปรับธาตุทั้ง 4 ให้เสมอกัน แล้วจึงแต่งยาชื่อว่า ยากำลังราชสีห์ ยากำลังแสงพระอาทิตย์ บำรุงโลหิตให้บริบูรณ์แล้ว เมื่อใดสัตว์ที่จะมาปฏิสนธิก็จะเกิดขึ้นได้เมื่อนั้น

         หญิงใดมีโลหิตพิการ บางจำพวกโลหิตนั้นเป็นก้อนกลมเท่าฟองไข่เป็ดอยู่ในท้องน้อย และหัวเหน่า บางพวกติดอยู่ในทรวงอก บางจำพวกกลมกลิ้งอยู่ในท้องน้อยเจ็บปวดดุจดังเป็นบิด บางทีให้ขึ้นจุกอยู่ยอดอก เจ็บปวดดังจะขาดใจตายทั้งกลางวัน และกลางคืน ถ้าถึง 7 วันตาย

3. ว่าด้วยริดสีดวงมหากาฬ 4 จำพวก

      1) เกิดที่คอ
      2) เกิดในอก
      3) เกิดในทวาร
      4) เกิดในลำไส้

       ลักษณะอาการ  ที่ทรวงอก และลำคอ เป็นเม็ดขนาดเท่าเมล็ดถั่วเขียว เมื่อสุกแตกออกเป็นบุพโพโลหิตออกมา แล้วเลื่อนเข้าไปหากันบานดังดอกบุก เป็นบุพโพโลหิตไหล ไม่รู้ก็ว่าเป็นฝีที่ลำไส้ ลำคอ เกิดขึ้นขนาดเมล็ดข้าวโพดที่ทวารเบา ตั้งขึ้นเป็นกองเป็นหมู่ประมาณ 9–10 เม็ด ขนาดเท่าเมล็ดถั่วเขียว เมื่อสุกแตกออกเป็นบุพโพโลหิตระคนกัน เลื่อนเข้าหากัน มีสัณฐานบานดังดอกบุก

4. ลักษณะโลหิตทุจริตโทษ 4 ประการ มี ดังนี้

     1) โลหิตระดูร้าง
    2) โลหิตคลอดบุตร
    3) โลหิตพิฆาตอันตกต้นไม้ หรือถูกทุบถองโบยตี
    4) โลหิตเน่า
    5) โลหิตตกหมกช้ำ

   1) โลหิตระดูร้าง เมื่อจะบังเกิดโลหิตระดูมิได้มาตามปกติ บางทีให้ดำ และมีกลิ่นเหม็นเน่า บางทีจางดุจน้ำชานหมาก บางทีใสดุจน้ำคาวปลา บางทีขาวดุจดังน้ำซาวข้าว กระทำให้เจ็บปวด เป็นไปต่างๆ ครั้นเป็นนาน เข้ามักกลายเป็น มานโลหิต

   2) โลหิตคลอดบุตร เมื่อจะบังเกิด ทำให้โลหิตคั่งเข้าเดินไม่สะดวก แล้วตั้งขึ้นเป็นลิ่มเป็นก้อน ให้แดกขึ้นแดกลง บางทีให้คลั่ง ขบฟัน ตาเหลือกตาช้อน ขอบตาเขียว และริมฝีปากเขียว เล็บมือเล็บเท้าเขียว สมมุติว่าปีศาจเข้าสิง

   3) โลหิตต้องพิฆาต อันตกต้นไม้ และถูกทุบถองโบยตี ถ้าเป็นดังกล่าวท่านว่า ไข้นั้นถึงพิฆาตเพราะโลหิตที่ถูกกระทำนั้นกระทบช้ำระคนกับโลหิตระดู เกิดแห้งกรังเข้าติดกระดูกสันหลังอยู่ จึงได้ชื่อว่า โลหิตแห้งกรัง เพราะอาศัยโลหิตพิการ

   4) โลหิตเน่า อาศัยโลหิตระดูร้าง โลหิตคลอดบุตร โลหิตต้องพิฆาต และโลหิตตกหมกซ้ำเจือมาเน่าอยู่ จึงเรียกว่า โลหิตเน่า เป็นใหญ่กว่าลมทั้งหลาย เมื่อจะให้โทษ โลหิตเน่ามีพิษอันกล้าแล่นไปทุกขุมขน บางทีแล่นเข้าจับหัวใจ บางทีแล่นออกผิวเนื้อ ผุดเป็นวงดำ แดง เขียว ขาวก็มี บางทีผุดขึ้นดังยอดผด ทำพิษให้คันเป็นกำลังให้ทุรนทุรายยิ่งนัก

   5) โลหิตตกหมกซ้ำ ก็อาศัยโลหิตเน่า เหตุเพราะแพทย์ใช้ยาประคบ ยาผาย ยาขับโลหิตไม่ถึงกำลัง หมายถึงให้ยาน้อยกว่ากำลังเลือด และโลหิตนั้นเกิดระส่ำระสายออกไม่หมดสิ้นเชิง จึงตกหมกช้ำอยู่ ได้ชื่อว่า โลหิตตกหมกช้ำ บางทีตกช้ำอยู่ในเส้นเอ็น หัวเหน่า เมื่อจะให้โทษก็คุมกันเข้า กระทำให้เป็นฝีมดลูก 
ฝีปอดคว่ำ ฝีเอ็น ฝีอัคนีสันต์ ฝีปลวก และมานโลหิต

5. โลหิตที่เกิดจากกองธาตุ มี 4 อย่าง

      1) โลหิตเกิดแต่กองเตโชธาตุ ถ้าเกิดแต่สตรีผู้ใด มีสามีแล้ว หรือไม่มีก็ดี เมื่อระดูจะมีมา นั้นกระทำให้ตึงไปทั่วตัวแล้วระดูจึงมีมา ให้ร้อนทางช่องคลอดดุจถูกพริก โลหิตที่ออกมานั้นเป็นฟองมีสีเหลืองน้ำฝางอันบุคคลเอาน้ำส้มมะนาวบีบลง สีนั้นก็เหลืองไป กระทำให้ร้อนผิวเนื้อมาก ให้อาเจียน ให้เหม็นอาหาร บริโภคอาหารไม่ได้ สะบัดร้อนสะบัดหนาว

      2) โลหิตอันบังเกิดแต่กองวาโยธาตุ ถ้าเกิดแก่สตรีใด ที่มีสามีแล้ว หรือยังไม่มีสามีก็ดี เมื่อ มีระดูมานั้นทำให้ท้องขึ้นท้องพอง ให้จุกให้เสียดเป็นกำลัง ให้ตัวร้อน ให้จับเป็นเวลา ให้คลื่นเหียนอาเจียนแต่ลมเปล่า ระดูมีมาไม่สะดวก มีสีดุจน้ำดอกคำอันจาง ให้ปวดเป็นกำลัง  

     3) โลหิตอันบังเกิดแต่กองอาโปธาตุ ถ้าเกิดแก่สตรีผู้ใด มีสามีแล้ว หรือยังไม่มีก็ดี เมื่อระดูจะมีมานั้นกระทำให้ลงไปวันละ 5-6 ครั้ง ระดูนั้นเดินออกมาเป็นเมือกเป็นมัน เหม็นคาวยิ่งนัก โลหิตนั้นใส บางทีเป็นเปลวดุจปะระเมหะ และไข่ขาว เดินไม่สะดวก ให้ปวดท้องมากบริโภคอาหารไม่ได้

      4) โลหิตอันเกิดแก่กองปถวีธาตุ เกิดแก่สตรีผู้ใด มีสามีแล้ว หรือยังไม่มีสามีก็ดี เมื่อระดูจะมีมานั้นให้เมื่อยทุกข้อทุกลำทุกกระดูก ระดูเดินหยดย้อยไม่ได้สะดวก บางทีให้เป็นมันเป็นเมือก บางทีเป็นปะระเมหะระคนออกมากับโลหิต เหนียวดุจยางมะตูม ทำให้ร้อนให้แสบ จุกเสียด ให้ท้องขึ้นเป็นกำลัง ระดูนั้นมีสีดำ แดง ขาว เหลือง ระคนกันออกมา มีกลิ่นคาวยิ่งนัก ให้ปวดในอุทรเป็นกำลัง

6. ว่าด้วยยาสำหรับสตรี

      1) ยาบำรุงไฟธาตุ 

      ส่วนประกอบ ดอกดีปลี รากช้าพลู เถาสะค้าน 
รากเจตมูลเพลิง เหง้าขิงแห้ง ผลผักชี ว่านน้ำ 
หัวแห้วหมู พิลังกาสา บอระเพ็ด ผิวมะกรูด ยาทั้งนี้ 
หนักสิ่งละ 1 ส่วน เสมอภาค 

      วิธีใช้ บดเป็นผง ละลายน้ำส้มซ่า 
รับประทานครั้งละ 1 ช้อนกาแฟ 3 เวลา ก่อนอาหาร

      สรรพคุณ กินบำรุงไฟธาตุให้บริบูรณ์

      2) ยาบำรุงโลหิต 

      ส่วนประกอบ เบญจกูล หนักสิ่งละ 1 บาท 
โกฐทั้ง 5 เทียนทั้ง 5 สิ่งละ 6 สลึง ผลจันทร์ 
ดอกจันทร์ กระวาน กานพลู หนักสิ่งละ 1 สลึง 
เลือดแรด ดอกคำไทย สิ่งละ 3 บาท 
ฝางเสน 2 บาท เกสรบัวหลวง ดอกพิกุล 
ดอกบุนนาค ดอกสารภี ดอกมะลิ ดอกจำปา 
ดอกกระดังงา กฤษณา กระลำพัก ขอนดอก 
ชะลูด อบเชยเทศ จันทน์ทั้ง 2 ขมิ้นเครือ 
เอาส่วนเท่ากัน

      วิธีใช้ ต้มรับประทาน

      สรรพคุณ ให้โลหิตงามดี
       
      3) ยาแก้เลือดลมทำพิษหลังคลอดบุตร 

      ส่วนประกอบ ไพล เปลือกกุ่มทั้งสอง 
ลำพันแดง รากละหุ่งแดง ผลกระวาน กานพลู 
ข่า ขมิ้นอ้อย รากหญ้าพันงูแดง รากอังกาบ 
ผลสมอไทย ผลเสมอพิเภก หัวตะไคร้หอม 
ผลช้าพลู รากเจตมูลเพลิง ขิงแครง ขิงแห้ง 
เปลือกราชพฤกษ์ รากกระพังโหมทั้งสอง ดีปลี 
สะค้าน เปลือกโลด ว่านเปราะ เทียนทั้ง 5 
โกฐหัวบัว โกฐกระดูก โกฐสอ โกฐเขมา 
โกฐพุงปลา เครื่องสมุนไพร เอาหนักสิ่งละ 1 บาท 
เครื่องเทศเอาหนัก สิ่งละ 2 สลึง 

      วิธีใช้ ทำเป็นผง ปั้นแท่งไว้ ละลายด้วย
น้ำสุกก็ได้ น้ำขิงก็ได้ น้ำข่าก็ได้ 

      สรรพคุณ แก้เลือดลมดีขึ้น ชัก อ้าปาก
ไม่ออก ลิ้นกระด้าง คางแข็ง 
และแก้ลมทั้งปวง ในปัสสาวะ

      4) ยาปลูกธาตุ 

      ส่วนประกอบ ดอกดีปลี รากช้าพลู 
ผักแพวแดง เถาสะค้าน ขิงแห้ง ผลผักชีล้อม 
ว่านน้ำ หัวแห้วหมู ผลพิลังกาสา ผิวมะกรูด 
ยาทั้งนี้ใช้ส่วนเสมอภาค พริกไทยร่อน
เท่ายาทั้งหลาย 

      วิธีใช้ บดเป็นผงละลายน้ำผึ้งก็ได้ 
น้ำส้มซ่าก็ได้ สุราก็ได้ ให้กิน 

      สรรพคุณ ปลูกไฟธาตุให้โลหิตงาม 
ถ้าไม่มีระดู ให้ระดูมีมา ถ้าแม่ลูกอ่อนกิน 
ทำให้น้ำนมมาก ทั้งหาโทษมิได้เลย ดีนักแล 
เป็นยาอายุวัฒนะด้วย

      5) ยาแก้ระดูขัด 

       ส่วนประกอบ หัวดองดึง 8 บาท 
รากเจตมูลเพลิง ดอกดีปลี เทียนขาว
 หนักสิ่งละ 1 บาท 

       วิธีใช้ บดเป็นผงละลายสุรากิน 

       สรรพคุณ แก้ขัดระดูปีหนึ่งหรือ 2 ปี 
โลหิตที่ตกค้างอยู่นั้นมักกลายเป็นมานโลหิต 
มานหิน มานน้ำ เป็นริดสีดวงต่างๆ ได้

       6) ยาดองสำหรับอยู่ไฟไม่ได้ 

       ส่วนประกอบ รากส้มกุ้ง หัวข้าวเย็น 
รากช้าพลู สมุลแว้ง ขมิ้นเครือ ผลจันทน์ 
ผลเอ็น สิ่งละ 1 สลึง มะแว้งทั้ง 2 สิ่งละ 1 สลึง 
จันทน์ทั้ง 2 สิ่งละ 1 สลึง ตรีผลา ตรีกฏุก 
สิ่งละ 2 สลึง เจตมูลเพลิง เทียนดำ เทียนขาว 
สิ่งละ 2 สลึง รากเสนียด 3 สลึง
 
     วิธีทำ ดองสุราหมกข้าวเปลือกไว้ 3 วัน ให้กิน 

     สรรพคุณ สำหรับอยู่ไฟไม่ได้ อาเจียน 
บริโภคเผ็ดร้อนไม่ได้ แก้มุตกิต มุตฆาต ได้ด้วย

     วิธีใช้ การให้ยาตามตำรับเภสัช

        7) ยาบำรุงโลหิต 

      ส่วนประกอบ ขิงแห้ง ดีปลี เจตมูลเพลิงแดง 
สะค้าน ช้าพลู ขมิ้นเครือ เถามวกแดง 
กำลังวัวเถลิง ดอกสารภี ดอกพิกุล ดอกบุนนาค 
เกสรบัวหลวง หนักสิ่งละ 2 ส่วน  ดอกจันทน์ 
ลูกจันทน์ ลูกกระวาน กานพลู เทียนดำ 
เทียนแดง เทียนขาว เทียนข้าวเปลือก 
เทียนตาตั๊กแตน โกฐหัวบัว โกฐเขมา โกฐสอ 
โกฐจุฬาลัมพา โกฐเชียง เนื้อลูกสมอไทย 
เนื้อลูกสมอดีงู เนื้อลูกสมอพิเภก เปลือกชะลูด 
เปลือกอบเชยเทศ จันทน์แดง แก่นแสมสาร 
แสมทะเล กฤษณา หนักสิ่ง 1 ส่วน  ครั่ง หนัก 8 ส่วน  
ฝาง ดอกคำไทย หนักสิ่งละ 10 ส่วน 

      สรรพคุณ บำรุงโลหิต 
      ขนาดรับประทาน รับประทานวันละ 2 ครั้ง 
เช้า เย็น ก่อนอาหาร ครั้งละ 1 ช้อนกาแฟ 
ละลายน้ำสุกเป็นน้ำกระสายยา

        8) ยาประสะไพล 

      ส่วนประกอบ ผิวมะกรูด ว่านน้ำ กระเทียม 
หัวหอม พริกไทย ดีปลี ขิง ขมิ้นอ้อย เทียนดำ 
เกลือสินเธาว์ หนักสิ่งละ 8 ส่วน การบูร 
หนัก 1 ส่วน  ไพล หนัก 81 ส่วน 

      สรรพคุณ แก้ระดูไม่ปกติ จุกเสียด 
ขับน้ำคาวปลา 

      ขนาดรับประทาน รับประทานวันละ 3 ครั้ง 
ก่อนอาหาร ครั้งละ 1 ช้อนกาแฟ ละลายน้ำสุก 
หรือน้ำสุรา เป็นน้ำกระสายยา


9) ยาพรหมภักดิ์  (พรหมภักตร์ )

(อ้างอิง แพทย์ศาสตร์สงเคราะห์  
คัมภีร์มหาโชตรัต  หน้า 229)

สรรพคุณ แก้เลือดเน่าที่ตกหมกอยู่ในท้อง  

ส่วนประกอบ  มหาหิงคุ์ เทียนดำ 
รากเจตมูลเพลิง พริกไทย หอม สิ่งละ 1 บาท 
ลูกจันทน์ ดอกจันทน์ สิ่งละ 1 สลึง

วิธีใช้ บดปั้นเป็นเม็ดเท่าเมล็ดฝ้าย
ละลายน้ำสุรากินครั้งละ 1 เม็ด
ถ้าจะให้ขับเลือดออกมากๆ 
ให้ละลายน้ำสุรากินครั้งละ 7-8 เม็ด

10) ยากำลังราชสีห์

(อ้างอิง แพทย์ศาสตร์สงเคราะห์  
คัมภีร์มหาโชตรัต  หน้า 239)

สรรพคุณ แก้เลือดพิการ แก้ระดูขัด 
บำรุงโลหิต แก้หิวโหยหาแรงมิได้ 
แก้ใจสวิงสวาย

ส่วนประกอบ  กฤษณา กระลำพัก ขอนดอก 
โกฐทั้ง 5  ตรีกฏุก อบเชยเทศ ขมิ้นอ้อย 
ขมิ้นเครือ สมุลแว้ง กำลังวัวเถลิง มวกทั้ง 2  
เถาวัลย์เปรียงแดง รากหญ้านาง ลูกจันทน์ 
ดอกจันทน์ ลูกกระวาน กานพลู  ดอกจำปา 
ดอกกระดังงา ดอกบัวทั้ง 5 เทียนทั้ง 5 
สิ่งละ 2 สลึง  การบูร 1 สลึง เลือดแรด 5 บาท  
ดอกคำฝอย 20 บาท  ฝาง 12 บาท

วิธีใช้ บดเป็นแท่ง  ละลายน้ำผึ้ง  
น้ำอ้อยแดง  น้ำตาลทราย
หรือน้ำดอกไม้เทศ กินครั้งละ 1 สลึง

11) ยากำลังแสงอาทิตย์ 
(ยาแสงอาทิตย์)

(อ้างอิง แพทย์ศาสตร์สงเคราะห์  
คัมภีร์มหาโชตรัต  หน้า 240)

สรรพคุณ แก้โลหิตทำพิษ ให้จุกเสียด
แน่นหน้าอก แก้อาเจียน แก้ลมวิงเวียน 
เจริญอาหาร แก้ท้องขึ้น

ส่วนประกอบ  โกฐก้านพร้าว  โกฐกระดูก  
โกฐสอ  โกฐหัวบัวโกฐเขมา โกฐพุงปลา  
เทียนทั้ง 5 สิ่งละ 3 สลึง  จันทน์แดง 
ดอกคำไทย สิ่งละ 3 บาท  สักขี อบเชย 
ชะเอม เจตพังคีว่านเปราะ  ใบพิมเสน 
เมล็ดผักชี สมุลแว้ง จันทน์ขาว จันทนา 
สิ่งละ 1 บาท พริกไทย ขิงแห้ง สิ่งละ 2 สลึง
ฝางเสน 6 สลึง

วิธีใช้  บดปั้นแท่ง ละลายน้ำผึ้งหรือน้ำส้มส้า 
น้ำมะกรูดหรือน้ำมะนาว  กินครั้งละ 1 สลึง

------------------------------------------------------------------

ศูนย์การแพทย์แผนไทยภูเก็ต

https://phuketthaitraditionalmedicinecenter.blogspot.com/2013/03/blog-post.html

------------------------------------------------------------------

อ้างอิง ตำราแพทย์แผนโบราณทั่วไป 
สาขา เวชกรรม เล่ม 1
กองการประกอบโรคศิลปะ

ตรวจทานแล้ว








No comments:

Post a Comment