รวมข้อมูลที่เกี่ยวกับการศึกษา และด้านสุขภาพ

Wednesday, January 1, 2014

เวชกรรมไทย เล่ม 1 (โรคไข้ต่างๆ) คัมภีร์สิทธิสารสงเคราะห์

เวชกรรมไทย เล่ม 1
(โรคไข้ต่าง)
คัมภีร์สิทธิสารสงเคราะห์




จัดทำโดย อ.หมอสุชาติ ภูวรัตน์
นธ.เอกบาลีประโยค 1-2
(อดีตพระธรรมทูตต่างประเทศ)
B.S. Engineering Design Tech.
 B.A. ศาสนศาสตร์บัณฑิต
B.S. Computer Information Systems
B.TM.  พทย์แผนไทยบัณฑิต
สาขาวิทยาศาสตร์สุขภาพ
บ.ภ.พท.ว.พท.ผ.พท.น.
ครูแพทย์แผนไทย 4 ด้าน
ศูนย์การแพทย์แผนไทยภูเก็ต
ทำเพื่อการศึกษาและประโยชน์แก่ผู้ชม


เวชกรรมไทย เล่ม 1
(โรคไข้ต่างๆ)
คัมภีร์สิทธิสารสงเคราะห์ 

ว่าด้วยลักษณะลำบองราหู อันบังเกิดใน 12 เดือน

1. ลำบองราหู เกิดในเดือน 5 เมื่อแรกจับให้ร้อน ให้ท้องขึ้นท้องพอง ลำบองนั้นเกิดแต่เตโชธาตุให้โทษ จับข้างขึ้นตาย จับข้างแรมไม่ตาย

2. ลำบองราหู เกิดในเดือน 6 เมื่อแรกจับทำให้มือเท้าเย็น ท้องขึ้น จักษุเหลือง จับให้สันหลังแข็ง จับข้างขึ้นตาย จับข้างแรมไม่ตาย

3. ลำบองราหู เกิดในเดือน 7 แรกจับทำให้บิดตัว กำมือ ตาเหลือกขึ้นเบื้องบน จับข้างขึ้นตาย จับข้างแรมไม่ตาย


4. ลำบองราหู เกิดในเดือน 8 เมื่อแรกจับทำให้ปากเปื่อย ยิงฟัน จับข้างขึ้นตาย จับข้างแรมไม่ตาย

5. ลำบองราหู เกิดในเดือน 9 เมื่อแรกจับทำให้สะท้านหนาว หดมือหดเท้า จับข้างขึ้นตาย จับข้างแรมไม่ตาย

6. ลำบองราหู เกิดในเดือน 10 เมื่อแรกจับทำให้ตัวร้อนเป็นเปลว มักให้สะดุ้ง ร้องปลอบไม่หยุด จับข้างขึ้นตาย จับข้างแรมไม่ตาย

7. ลำบองราหู เกิดในเดือน 11 เมื่อแรกจับ จับราวนม และรักแร้ ทำให้อ้ารักแร้แล้วเอามือลูบอก ร้องดิ้นไปดังจะขาดใจ 3 วันตาย แต่จับข้างขึ้นตาย จับข้างแรมไม่ตาย

8. ลำบองราหู เกิดในเดือน 12 เมื่อแรกจับ ทำให้ชัก ตัวเป็นเหน็บ หาสติมิได้ ร้องไม่ออก จับข้างขึ้นตาย จับข้างแรมไม่ตาย

9. ลำบองราหู เกิดในเดือน 1 เมื่อแรกจับ ทำพิษให้เจ็บไปทั่วทุกขุมขน ให้ขนชูชัน ให้ผื่นขึ้นทั้งตัว ให้สะดุ้ง ร้องไห้ไม่มีน้ำตา จับข้างขึ้นตาย จับข้างแรมไม่ตาย

10. ลำบองราหู เกิดในเดือน 2 เมื่อแรกจับ จับแต่ลำคอ กระทำให้อ้าปากร้องไห้อยู่ ให้กลืนน้ำกลืนข้าวกลืนนมไม่ได้ จับข้างขึ้นตาย จับข้างแรมไม่ตาย

11. ลำบองราหู เกิดในเดือน 3 เมื่อแรกจับ ทำให้ท้องขึ้นท้องพองเหลือกำหนด หายใจไม่ลง ร้องไห้ดิ้นรนอยู่ดังจะขาดใจ จับข้างขึ้นตาย จับข้างแรมไม่ตาย

12. ลำบองราหู เกิดในเดือน 4 เมื่อแรกจับ กระทำให้ตาเหลือง ให้กำมือ และขยับตัวไม่ได้ แข็งกระด้างไปทั้งตัว จับข้างขึ้นตาย จับข้างแรมไม่ตาย

ลักษณะกาฬโรค และสันนิบาตต่างๆ 

1. กาฬโรคชื่อกาฬเสตระ

เมื่อแรกขึ้นทำให้ตกใจสะดุ้งก่อน แล้วจึงผุดมาตั้งยอดสีขาว มีน้ำใส มีอาการกระทำให้ฟกบวม และมึนไปทั่วทั้งตัวไม่รู้สึกตัว ผิวหน้าซีด หาโลหิตมิได้ ฝ่ามือฝ่าเท้าซีด ขาวเป็นใย ทำให้ทุรนทุรายยิ่งนัก โรคนี้ถ้าเกิดแก่ผู้ใด ท่านว่ารักษายากนัก 

2. สันนิบาตกะตัดศีรษะด้วน

สันนิบาตนี้ถ้าบังเกิดขึ้นกับบุคคลผู้ใด มักเกิดขึ้นที่ชายตับ ให้ตับโตออกมาจนคับโครง บางทีให้ตับหย่อนลงถึงตะคาก ให้จับเป็นเวลาดังเป็นไข้ ให้เย็นทั่วทั้งตัว ให้ท้องขึ้นท้องพอง ผะอืดผะอม

3. สันนิบาตทุวันโทษ

เกิดแต่กองสมุฏฐาน 6 ประการ ประชุมพร้อมกันเข้าแล้วเมื่อใด มีอาการ กระทำให้หนาว ให้บิดคร้าน มักให้ร้อนเป็นกำลัง แล้วทำให้หนาวสะท้าน บริโภคอาหารไม่ได้ เหงื่อตก สยบมัวเมา ปากขม วิงเวียน ผิวหน้าแตกระแหง มักพึงใจสิ่งอันเย็น ปัสสาวะเหลือง ตาแดง ให้เล็บ และผิวเนื้อเหลือง มีกลิ่นดังสาบม้า ลักษณะดังกล่าวมานี้ จัดเป็นทุวันโทษในมหาสันนิบาต 

4. สันนิบาตเจรียงอากาศ 

เมื่อบังเกิดมีอาการ ทำให้ผิวหน้าเหลืองดุจทาขมิ้น ฝ่ามือฝ่าเท้าเหลือง มักให้เวียนศีรษะ ให้เจ็บแสบในจักษุ กระหายน้ำ มักให้เป็นดังจะหลับแล้วมิหลับเล่า ให้เจ็บในอก ให้ปัสสาวะเหลือง ดุจน้ำกรักอันแก่ ดูสิ่งนานเห็น บริโภคอาหารไม่ได้ ซูบผอม โทษทั้งนี้เพราะเสมหะ 1 ส่วน วาโย 2 ส่วน ดี 4 ส่วน ระคนกัน

5. สันนิบาตเจรียงพระสมุทร

เมื่อบังเกิดมีอาการกระทำให้ผิวเนื้อขาวซีด ฝ่ามือฝ่าเท้าซีด หนักมือ หนักเท้าเป็นกำลัง มักให้เจ็บทุกชิ้นเนื้อ ให้แน่นลำคอแน่นอก มักเป็นลมดังในคอ และให้เรอมิได้ขาด มักกระทำให้ขึ้งโกรธ มองดูสิ่งใดให้แดงไปสิ้น ครั้นเพ่งดูก็ย่อมเป็นวงไปทั้งนั้น โทษทั้งนี้เกิดแก่ดี 1 ส่วน เสมหะ 2 ส่วน วาโย 4 ส่วน ระคนกัน 

6. สันนิบาตบังเกิดเพื่อเสมหะ

เมื่อบังเกิดให้จับเป็นเวลาให้คอแห้งถึงทรวงอก ให้ปากแห้ง ฟันแห้ง ลิ้นเปื่อยแตกระแหง ให้สะบัดร้อนสะบัดหนาว ให้เมื่อยทั้งตัว บริโภคอาหารไม่ได้ แน่นในลำคอเป็นกำลัง น้ำตาไหล 

7. สันนิบาตบังเกิดเพื่อวาตะ
 
เมื่อบังเกิดทำให้จับแน่นิ่งไป ครั้นแก้ฟื้นขึ้นมา ก็ให้ชักเท้ากำมือกำ ให้สะทกไปทั่วทั้งตัว ให้หน้ามืด ให้ตัวเย็น มือเท้าเย็น ร้อนในอกเป็นกำลัง ขัดอุจจาระ ปัสสาวะ ให้ผูกเป็นพรรดึก

8. สันนิบาตบังเกิดเพื่อ (เพราะ) โลหิต

เมื่อบังเกิดให้เจ็บตั้งแต่รากขวัญลงมาถึงใบหู แล้วเข้าจับเอาแก้วตา ทำให้ตามืด และพิษนั้นจึงแล่นเข้าจับเอาดวงหทัย บางคนสลบไปดุจตาย บางคนให้จับมือเท้าโลดโผนโจนไป บางคนจับให้แน่นิ่งไป เรียกไม่ได้ยิน อ้าปากไม่ออก บางทีให้เขม่นไปทั่วทั้งตัว ให้ร้อนเป็นกำลัง บางทีจับให้เวียนศีรษะจนลุกไม่ได้ 

9. เบญจกาฬสันนิบาต 5 อย่าง

อภิฆาตสันนิบาต, อภิวาราภัยสันนิบาต, อภิสังคสันนิบาต
อาคันตุกสันนิบาต, วิสมสันนิบาต แต่ละอย่างมีลักษณะอาการ ดังนี้

1). อภิฆาตสันนิบาต

บังเกิดด้วยอำนาจผู้อื่นเบียดเบียน มีทุบถองโบยตี เป็นต้น จึงมีอาการให้ปวดศีรษะดังต้องพิษอันใดอันหนึ่ง มักให้ลงท้อง บริโภคอาหารไม่ได้ และมักโกรธ ให้กระหายน้ำให้เสียดไปทั้งตัว มักให้สลบ 

2). อภิวาราภัยสันนิบาต

บังเกิดด้วยความเพียรกระทำการงาน และทรมานร่างกาย มิวายเวลาหาความสุขมิได้เป็นต้น จึงมีอาการกระทำให้ขลาด ให้เจรจาผิด ให้ทุกข์โศก และให้บังเกิดซึ่งความโกรธได้ มักให้สะท้านร้อนสะท้านหนาว กระทำดุจปีศาจเข้าสิง มักให้คลั่ง ให้กลัวคนให้ใหลหลง และให้กระหายน้ำเป็นกำลัง 

3). อภิสังคสันนิบาต

บังเกิดด้วยขัดแค้นเคืองขุ่นอันใดอันหนึ่ง และให้เจ็บช้ำน้ำใจ แล้วอาเจียนเป็นโลหิตออกมา มีอาการกระทำให้ขบศีรษะเสียดแทงไปทั้งตัว ให้สลบไปใจจะขาด ถ้าได้กลิ่นสิ่งใดสิ่งหนึ่งมักให้ร้อนทุรนทุรายยิ่งนัก

4). วิสมสันนิบาต

บังเกิดด้วยบริโภคอาหารที่มีพิษ และถูกต้องสิ่งของอันมีพิษ เป็นอชินโรค กล่าวคือ ผิดสำแดง อนึ่ง ประพฤติอิริยาบถไม่สม่ำเสมอกัน คือแปลกถิ่นที่ดิน และที่นอน เป็นต้น จึงมีอาการกระทำให้บังเกิดอาการเช่นนั้น อนึ่งเกิดแก่เสพเบญจกามคุณ มักให้จิตใจฟุ้งซ่าน ให้สะอึกสะอื้น ให้ครั่นกาย ให้บริโภคอาหารมิได้ ท่านจึงกำหนดไว้ว่าเป็น วิสมสันนิบาต

5). อาคันตุกสันนิบาต

ว่าด้วยลักษณะสันนิบาตอันบังเกิดในที่สุด กำหนดแห่งสมุฏฐาน คือ 29 ราตรี ยังไปไม่ได้สำเร็จ และสมุฏฐานโรคนั้นจึงเจือระคนมา จึงได้นามว่าสันนิบาต ขอให้ไปดูในคัมภีร์สมุฏฐานวินิจฉัยได้

10. สันนิบาตบังเกิดในกองสมุฏฐาน 4 ประการ ได้แก่

1). สันนิบาตเกิดเพื่อปิตตะสมุฏฐาน
2). สันนิบาตเกิดเพื่อเสมหะสมุฏฐาน
3). สันนิบาตเกิดเพื่อวาตะสมุฏฐาน
4). สันนิบาตเกิดเพื่อโลหิตสมุฏฐาน มีดังนี้ 

11. สันนิบาตเกิดเพื่อปิตตะสมุฏฐานมี 4 อย่าง คือ

1). เกิดเพื่อ (เพราะ) ดีซึม ลักษณะอาการเมื่อบังเกิดกระทำให้ซึมไป หาสติสมปฤดีมิได้ ให้อิ่มไป ไม่อยากกินอาหาร สะบัดร้อนสะท้านหนาว 

2). เกิดเพื่อ (เพราะ) ดีพลุ่ง ลักษณะอาการเมื่อบังเกิดกระทำให้คลั่งเป็นคราวๆ บางทีให้กล้า บางทีให้ขลาด ทำให้แน่นอกเป็นกำลัง ให้คอแห้ง ลำคอตีบ กินข้าวกินน้ำไม่ได้ ให้อาเจียน สวิงสวาย ให้พลุ่งขึ้นพลุ่งลงในอก ให้ยกมือยกเท้าขวักไขว่ไปมา


3). เกิดเพื่อ (เพราะ) ดีล้น ลักษณะอาการสันนิบาตเกิดเพื่อ (เพราะ) ดีล้น เมื่อบังเกิดมักให้โลดโผนไปทั้งตัว เห็นหน้าคน และสิ่งใดไม่ได้ ได้ยินได้ฟังสำเนียงอันใดก็ไม่ได้ สมมุติว่าต้องลมเพลมพัดก็ว่า มีปีศาจเข้าสิง ก็ว่า ไม่อยากอาหาร คอแห้ง กระหายน้ำ น้ำลายเหนียว มือเย็นเท้าเย็นแต่ตัวร้อน

4). เกิดเพื่อ (เพราะ) ดีรั่ว ลักษณะอาการเมื่อบังเกิดกระทำให้ลงดุจกินยารุ มูลเหลือง ดุจน้ำขมิ้นสด ให้เคลิบเคลิ้มไป หาสติมิได้ ให้หิวโหย บริโภคอาหารไม่อยู่ท้อง สวิงสวาย แน่นหน้าอกเป็นกำลัง และท้องลั่นอยู่เป็นนิจไม่ได้ขาด 

12. ลักษณะอภิญญาณธาตุ 4 มีดังนี้

1). ลักษณะชาติธาตุปถวี คือ ชาติธาตุปถวี กำเริบ หย่อน พิการ มีอาการกระทำให้เสมหะเน่า ให้เจ็บท้อง ท้องขึ้น ให้เสียดแทง และแปรเป็นอัมพฤกษ์ เป็นโรคกระษัย เป็นป้าง ให้เนื้อช้ำใน เล็บมือเล็บเท้าเขียว ให้โลหิตตกทวารหนักทวารเบา กินอาหารไม่อยู่ท้อง โทษทั้งนี้ เกิดแต่กองปถวีธาตุ กำเริบ หย่อน พิการ

2). ลักษณะชาติธาตุอาโป คือ อาโปธาตุ กำเริบ หย่อน พิการ มีอาการให้ลงท้อง เจ็บหน้าอก แปรเป็นกร่อน ขัดอุจจาระปัสสาวะ นอนไม่หลับ เป็นพรรดึกกลิ้งขึ้นกลิ้งลง ขัดสีข้าง ถ้าหญิงขัดซ้าย เยียวยายากนัก ถ้าแก้มิฟัง 7 วันตาย มีอาการแปรไปให้ขัดหัวเข่า และน่อง เท้าเย็นให้บังเกิดเสมหะกล้า ผอมแห้ง เจ็บอก ร้อนหน้าตาดังไข้จับ

3). ลักษณะชาติธาตุวาโย คือ วาโยธาตุ กำเริบ หย่อน พิการนั้น มีอาการกระทำให้หนักตา เป็นหิ่งห้อยกระจายออก ให้เมื่อยมือเมื่อยเท้า ให้เป็นตะคริว และลมจับโปง ให้ขัดหัวเข่า และเมื่อยสันหลัง ให้สองเกลียวคอนั้นแข็ง สมมุติว่าเป็นฝีเส้น มีอาเจียนลมเปล่า เจ็บอก ขัดในท้อง หนักตา

4). ลักษณะชาติธาตุเตโช คือเตโชธาตุ กำเริบ หย่อน พิการนั้น มีอาการกระทำให้ร้อยปลายมือปลายเท้า มีพิษเจ็บปวดดุจปลาดุกยัก แปรไปให้หลังมือบวม ให้ผื่นขึ้นทั่วสรรพางค์กาย เป็นดังผด และหัดให้เจ็บท้องให้ตกปุพโพโลหิต ให้มือเท้าตาย 

13. ลักษณะอสุรินธัญญาณธาตุ 4 มีดังนี้

1). สมธาตุ
2). วิสมธาตุ
3). กติกธาตุ (ติกขธาตุ) 
4). มันทธาตุ

1). สมธาตุ ลักษณะอาการ สมธาตุยิ่งไปด้วยกองสรรพธาตุ มีอาการกระทำให้จับเป็นเวลา บางทีให้ตัวร้อน เท้าเย็น บางทีให้สวิงสวาย ให้เจ็บในอก บริโภคอาหารไม่รู้รส บางทีให้มึน ให้ทั้งโทษทั้งนี้ กล่าวคือ เสมหะสมุฏฐาน ปิตตะสมุฏฐาน และวาตะสมุฏฐาน ประชุมพร้อมกันในกองวีสติปถวี (กองธาตุดิน 20 อย่าง) ให้เป็นเหตุ

2). วิสมธาตุ ลักษณะอาการ วิสมธาตุยิ่งไปด้วยกองวาโยมีกำลัง คือ ทำให้ท้องลั่นอยู่เป็นนิจ บางวันให้ลง บางวันให้อยากอาหาร บางวันให้คับท้อง แน่นอกคับใจ เพลิงธาตุมิได้เสมอ วาโยเดินไม่สะดวก โทษทั้งนี้เกิดแต่กองฉกาลวาโย (กองธาตุลม 6 อย่าง) เป็นเหตุ 

3). กติกธาตุ (ติกขธาตุ) 
ลักษณะอาการ กติกธาตุยิ่งไปด้วยสรรพิษทั้งปวง มีพิษดี พิษเสมหะ พิษลม เป็นอาทิพิษอันเศษเป็นที่สุด คือเพลิงธาตุนั้นแรง เผาอาหารฉับพลันยิ่งนัก กระทำให้จับเชื่อมมัว ทั้งกลางวันกลางคืน มิได้เว้นเวลา ให้ปวดศีรษะ ให้ผิวเนื้อแดง ตาแดงให้ขัดอุจจาระปัสสาวะ ให้เป็นพรรดึก โทษทั้งนี้เกิดแต่กองจตุกาลเตโชธาตุ (กองธาตุไฟ 4 อย่าง) เป็นเหตุ

4). มันทธาตุ ลักษณะอาการ มันทธาตุนั้น ยิ่งไปด้วยเสมหะมีกำลัง คือเพลิงธาตุนั้นหย่อนเผาอาหารมิได้ย่อย กระทำให้ลงไปวันละ 2 - 3 เวลา ให้สวิงสวาย ให้ถอยแรงยิ่งนัก กระทำให้ท้องขึ้นมิรู้วาย ให้อุจจาระเป็นเมือกมันเป็นเปลว หยาบ และละเอียดระคนกัน ให้ปวดมวนเป็นกำลัง โทษทั้งนี้เกิดในกองทวาทศอาโป (กองธาตุน้ำ 12 อย่าง) ให้เป็นเหตุ


-------------------------------------------------------


ศูนย์การแพทย์แผนไทยภูเก็ต

-------------------------------------------------------

อ้างอิง ตำราแพทย์แผนไทยทั่วไป 
สาขาเวชกรรม เล่ม 1
กองการประกอบโรคศิลปะ

ตรวจแล้ว








No comments:

Post a Comment