Search This Blog

Monday, July 1, 2013

พ.ร.บ. การประกอบโรคศิลปะ 2542




จัดทำโดย อ. หมอสุชาติ ภูวรัตน์
นธ.เอกบาลีประโยค 1-2
(อดีตพระธรรมทูตต่างประเทศ)
B.S. Engineering Design Tech.
 B.A. ศาสนศาสตร์บัณฑิต
B.S. Computer Information Systems
B.TM. พทย์แผนไทยบัณฑิต
สาขาวิทยาศาสตร์สุขภาพ
บ.ภ.พท.ว.พท.ผ.พท.น.
ครูแพทย์แผนไทย 4 ด้าน
ศูนย์การแพทย์แผนไทยภูเก็ต
เพื่อการศึกษา และประโยชน์ต่อสุขภาพของผู้ชม


พ.ร.บ. การประกอบโรคศิลปะ 2542

พระราชบัญญัติ

การประกอบโรคศิลปะ

พ.ศ. ๒๕๔๒

ภูมิพลอดุลยเดช ป.ร.

ให้ไว้ ณ วันที่ ๑๐ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๔๒

เป็นปีที่ ๕๔ ในรัชกาลปัจจุบัน

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศว่า

โดยที่เป็นการสมควรปรับปรุงกฎหมายว่าด้วยการควบคุมการประกอบโรคศิลปะ

พระราชบัญญัตินี้มีบทบัญญัติบางประการเกี่ยวกับการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคล ซึ่งมาตรา ๒๙ ประกอบกับมาตรา ๓๕ มาตรา ๓๖ มาตรา ๓๙ มาตรา ๔๘ และมาตรา ๕๐ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย บัญญัติให้กระทำได้โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย

จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัติขึ้นไว้โดยคำแนะนำและยินยอมของรัฐสภา ดังต่อไปนี้

มาตรา ๑ พระราชบัญญัตินี้เรียกว่าพระราชบัญญัติการประกอบโรคศิลปะ พ.ศ. ๒๕๔๒

มาตรา ๒ พระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป

มาตรา ๓ ให้ยกเลิก

(๑) พระราชบัญญัติควบคุมการประกอบโรคศิลปะ พุทธศักราช ๒๔๗๙

(๒) พระราชบัญญัติควบคุมการประกอบโรคศิลปะ (ฉบับที่ ๒) พุทธศักราช ๒๔๘๐

(๓) พระราชบัญญัติควบคุมการประกอบโรคศิลปะ (ฉบับที่ ๓) พุทธศักราช ๒๔๘๓

(๔) พระราชบัญญัติควบคุมการประกอบโรคศิลปะ (ฉบับที่ ๔) พ.ศ. ๒๔๙๐

(๕) พระราชบัญญัติควบคุมการประกอบโรคศิลปะ (ฉบับที่ ๕) พ.ศ. ๒๔๙๐

(๖) พระราชบัญญัติควบคุมการประกอบโรคศิลปะ (ฉบับที่ ๖) พ.ศ. ๒๕๐๔

(๗) พระราชบัญญัติควบคุมการประกอบโรคศิลปะ (ฉบับที่ ๗) พ.ศ. ๒๕๐๙

(๘) พระราชบัญญัติควบคุมการประกอบโรคศิลปะ (ฉบับที่ ๘) พ.ศ. ๒๕๑๑

(๙) คำสั่งของคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน ฉบับที่ ๓๘ ลงวันที่ ๒๑ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๑๙

(๑๐) พระราชบัญญัติควบคุมการประกอบโรคศิลปะ (ฉบับที่ ๙) พ.ศ. ๒๕๓๐

มาตรา ๔ ในพระราชบัญญัตินี้

การประกอบโรคศิลปะหมายความว่า การประกอบวิชาชีพที่กระทำหรือมุ่งหมายจะกระทำต่อมนุษย์เกี่ยวกับการตรวจโรค การวินิจฉัยโรค การบำบัดโรค การป้องกันโรค การส่งเสริมและการฟื้นฟูสุขภาพ การผดุงครรภ์ แต่ไม่รวมถึงการประกอบวิชาชีพทางการแพทย์และสาธารณสุขอื่นตามกฎหมายว่าด้วยการนั้น ๆ

การแพทย์แผนไทยหมายความว่า การประกอบโรคศิลปะตามความรู้หรือตำราแบบไทยที่ถ่ายทอดและพัฒนาสืบต่อกันมา หรือตามการศึกษาจากสถานศึกษาที่คณะกรรมการรับรอง

เวชกรรมไทยหมายความว่า การตรวจ การวินิจฉัย การบำบัดหรือการป้องกันโรคด้วยกรรมวิธีการแพทย์แผนไทย

เภสัชกรรมไทยหมายความว่า การกระทำในการเตรียมยา การผลิตยา การประดิษฐ์ยา การเลือกสรรยา การควบคุมและการประกันคุณภาพยา การปรุงยาและการจ่ายยาตามใบสั่งยาของผู้ประกอบโรคศิลปะสาขาการแพทย์แผนไทย และการจัดจำหน่ายยาตามกฎหมายว่าด้วยยา ทั้งนี้ ด้วยกรรมวิธีการแพทย์แผนไทย

การผดุงครรภ์ไทยหมายความว่า การตรวจ การบำบัด การแนะนำ และการส่งเสริมสุขภาพหญิงมีครรภ์ การป้องกันความผิดปกติในระยะตั้งครรภ์และระยะคลอด การทำคลอด การดูแลและส่งเสริมสุขภาพมารดาและทารกในระยะหลังคลอด ทั้งนี้ ด้วยกรรมวิธีการแพทย์แผนไทย

การแพทย์แผนไทยประยุกต์หมายความว่า การประกอบโรคศิลปะตามการศึกษาจากสถานศึกษาที่คณะกรรมการรับรอง และใช้เครื่องมือวิทยาศาสตร์การแพทย์ เพื่อการวินิจฉัยและการบำบัดโรคตามที่กำหนดในกฎกระทรวง

กายภาพบำบัด” (ยกเลิก)

เทคนิคการแพทย์”(ยกเลิก)

ผู้ประกอบโรคศิลปะหมายความว่า บุคคลซึ่งได้ขึ้นทะเบียนและรับใบอนุญาตเป็นผู้ประกอบโรคศิลปะจากคณะกรรมการวิชาชีพ

ใบอนุญาตหมายความว่า ใบอนุญาตเป็นผู้ประกอบโรคศิลปะ

คณะกรรมการหมายความว่า คณะกรรมการการประกอบโรคศิลปะ

กรรมการหมายความว่า กรรมการการประกอบโรคศิลปะ

คณะอนุกรรมการหมายความว่า คณะอนุกรรมการการประกอบโรคศิลปะ

อนุกรรมการหมายความว่า อนุกรรมการการประกอบโรคศิลปะ

พนักงานเจ้าหน้าที่หมายความว่า ผู้ซึ่งรัฐมนตรีแต่งตั้งให้ปฏิบัติการตามพระราชบัญญัตินี้

รัฐมนตรีหมายความว่า รัฐมนตรีผู้รักษาการตามพระราชบัญญัตินี้

มาตรา ๕ การประกอบโรคศิลปะตามพระราชบัญญัตินี้ แบ่งเป็นสาขาต่าง ๆ ดังนี้

(๑) สาขาการแพทย์แผนไทย ได้แก่ เวชกรรมไทย เภสัชกรรมไทย การผดุงครรภ์ไทย และการแพทย์แผนไทยประเภทอื่นตามที่รัฐมนตรีประกาศกำหนดโดยคำแนะนำของคณะกรรมการ

(๒) สาขาการแพทย์แผนไทยประยุกต์

(๓) (ยกเลิก)

(๔)  (ยกเลิก)

(๕) สาขาอื่นตามที่กำหนดโดยพระราชกฤษฎีกา

มาตรา ๖ ในกรณีที่บทบัญญัติแห่งกฎหมายใดอ้างถึงการประกอบโรคศิลปะหรือผู้ประกอบโรคศิลปะ ในส่วนที่เกี่ยวกับบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัตินี้ ให้หมายความว่า เป็นการอ้างถึงการประกอบโรคศิลปะหรือผู้ประกอบโรคศิลปะตามพระราชบัญญัตินี้

มาตรา ๗ ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขรักษาการตามพระราชบัญญัตินี้ และให้มีอำนาจแต่งตั้งพนักงานเจ้าหน้าที่ กับออกกฎกระทรวงกำหนดค่าธรรมเนียมไม่เกินอัตราท้ายพระราชบัญญัตินี้ และกำหนดกิจการอื่น รวมทั้งออกระเบียบและประกาศ ทั้งนี้ เพื่อปฏิบัติการตามพระราชบัญญัตินี้

กฎกระทรวง ระเบียบและประกาศนั้น เมื่อได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้วให้ใช้บังคับได้


คณะกรรมการการประกอบโรคศิลปะ

มาตรา ๘ ให้มีคณะกรรมการการประกอบโรคศิลปะ ประกอบด้วย ปลัดกระทรวงสาธารณสุขเป็นประธานกรรมการ และกรรมการอื่นดังต่อไปนี้

(๑)กรรมการซึ่งเป็นผู้แทนจากกระทรวงสาธารณสุข จำนวนสี่คน กระทรวงกลาโหม สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา แพทยสภา ทันตแพทยสภา สภาการพยาบาล สภาเภสัชกรรม สภากายภาพบำบัด และสภาเทคนิคการแพทย์ แห่งละหนึ่งคน และผู้แทนจากคณะกรรมการวิชาชีพสาขาต่าง ๆ ตามพระราชบัญญัตินี้สาขาละสองคน และ

(๒) กรรมการซึ่งรัฐมนตรีแต่งตั้งจากผู้ทรงคุณวุฒิจำนวนไม่เกินห้าคน

ให้ผู้อำนวยการกองการประกอบโรคศิลปะเป็นกรรมการและเลขานุการ

มาตรา ๙ ให้คณะกรรมการเลือกกรรมการคนหนึ่งเป็นรองประธานกรรมการ

มาตรา ๑๐ กรรมการตามมาตรา ๘ (๑) ต้องมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้าม ดังต่อไปนี้

(๑)เป็นผู้ประกอบโรคศิลปะ ผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม ผู้ประกอบวิชาชีพการพยาบาลและการผดุงครรภ์ ผู้ประกอบวิชาชีพเภสัชกรรม ผู้ประกอบวิชาชีพทันตกรรม ผู้ประกอบวิชาชีพกายภาพบำบัด หรือผู้ประกอบวิชาชีพเทคนิคการแพทย์ ตามกฎหมายว่าด้วยการนั้น

(๒)เป็นผู้ไม่เคยถูกสั่งพักใช้ใบอนุญาตหรือเพิกถอนใบอนุญาตตามพระราชบัญญัตินี้ หรือตามกฎหมายว่าด้วยการควบคุมการประกอบโรคศิลปะ กฎหมายว่าด้วยวิชาชีพเวชกรรม กฎหมายว่าด้วยวิชาชีพการพยาบาลและการผดุงครรภ์ กฎหมายว่าด้วยวิชาชีพเภสัชกรรม กฎหมายว่าด้วยวิชาชีพทันตกรรม กฎหมายว่าด้วยวิชาชีพกายภาพบำบัด กฎหมายว่าด้วยวิชาชีพเทคนิคการแพทย์ แล้วแต่กรณี

(๓) ไม่เป็นบุคคลล้มละลาย

มาตรา ๑๑ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิตามมาตรา ๘ (๒) มีวาระอยู่ในตำแหน่งคราวละสองปี และอาจได้รับแต่งตั้งอีกได้

ในกรณีที่กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิพ้นจากตำแหน่งก่อนครบวาระหรือในกรณีที่รัฐมนตรีแต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิเพิ่มขึ้นในระหว่างที่กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งแต่งตั้งไว้แล้วยังมีวาระอยู่ในตำแหน่ง ให้ผู้ได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งแทนหรือให้เป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิเพิ่มขึ้นอยู่ในตำแหน่งเท่ากับวาระที่เหลืออยู่ของกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งได้แต่งตั้งไว้แล้วนั้น

มาตรา ๑๒ นอกจากการพ้นตำแหน่งตามวาระ กรรมการซึ่งรัฐมนตรีแต่งตั้งตามมาตรา ๘ (๒) พ้นจากตำแหน่งเมื่อ

(๑) ตาย

(๒) ลาออก

(๓) รัฐมนตรีให้ออก

มาตรา ๑๓ คณะกรรมการมีอำนาจและหน้าที่ ดังต่อไปนี้

(๑) เสนอความเห็นต่อรัฐมนตรีในการกำหนดนโยบาย แผนงาน และมาตรการในการกำกับดูแลการประกอบโรคศิลปะ

(๒) ให้คำแนะนำหรือเสนอความเห็นต่อรัฐมนตรี ในการเพิ่มประเภทและสาขาของการประกอบโรคศิลปะ หรือการออกกฎกระทรวง ระเบียบ และประกาศต่าง ๆ

(๓) แจ้งหรือโฆษณาข่าวสารด้วยวิธีการใด ๆ ตามที่เห็นสมควร เพื่อมิให้ประชาชนหลงเข้าใจผิดซึ่งอาจเป็นอันตรายเนื่องจากการประกอบโรคศิลปะ

(๔) ให้คำปรึกษาและแนะนำแก่คณะกรรมการวิชาชีพ

(๕) พิจารณาวินิจฉัยอุทธรณ์คำสั่งของคณะกรรมการวิชาชีพตามมาตรา ๕๓ และ มาตรา ๕๔

(๖) เร่งรัดให้พนักงานเจ้าหน้าที่ ส่วนราชการ หรือคณะกรรมการวิชาชีพปฏิบัติการตามอำนาจและหน้าที่ที่กฎหมายกำหนด

(๗) แต่งตั้งคณะอนุกรรมการเพื่อกระทำการใด ๆ อันอยู่ในอำนาจและหน้าที่ของคณะกรรมการ

(๘) ปฏิบัติการอื่นใดตามที่กฎหมายกำหนดไว้ให้เป็นอำนาจและหน้าที่ของคณะกรรมการ

(๙) พิจารณาหรือดำเนินการในเรื่องอื่นตามที่รัฐมนตรีมอบหมาย


คณะกรรมการวิชาชีพ

มาตรา ๑๔ ให้มีคณะกรรมการวิชาชีพในสาขาต่าง ๆ ดังนี้

(๑) คณะกรรมการวิชาชีพสาขาการแพทย์แผนไทย

(๒) คณะกรรมการวิชาชีพสาขาการแพทย์แผนไทยประยุกต์

(๓)(ยกเลิก)

(๔)(ยกเลิก)

(๕) คณะกรรมการวิชาชีพสาขาอื่นตามที่กำหนดโดยพระราชกฤษฎีกาที่ออกตามมาตรา ๕ (๕)

มาตรา ๑๕ คณะกรรมการวิชาชีพสาขาการแพทย์แผนไทย ประกอบด้วย

(๑) กรรมการวิชาชีพซึ่งเป็นผู้แทนจากกรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก* กรมการแพทย์ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา และทบวงมหาวิทยาลัย แห่งละหนึ่งคน

(๒) กรรมการวิชาชีพซึ่งรัฐมนตรีแต่งตั้งจากผู้ทรงคุณวุฒิจำนวนไม่เกินสามคน

(๓) กรรมการวิชาชีพซึ่งได้รับเลือกตั้งโดยผู้ประกอบโรคศิลปะสาขาการแพทย์แผนไทย มีจำนวนเท่ากับจำนวนกรรมการวิชาชีพใน (๑) และ (๒) รวมกันในขณะเลือกตั้งแต่ละคราว

ให้ผู้อำนวยการกองการประกอบโรคศิลปะเป็นกรรมการและเลขานุการ

มาตรา ๑๖ คณะกรรมการวิชาชีพสาขาการแพทย์แผนไทยประยุกต์ ประกอบด้วย

(๑) กรรมการวิชาชีพซึ่งเป็นผู้แทนจากกรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก* กรมการแพทย์ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา และทบวงมหาวิทยาลัย แห่งละหนึ่งคน

(๒) กรรมการวิชาชีพซึ่งรัฐมนตรีแต่งตั้งจากผู้ทรงคุณวุฒิจำนวนไม่เกินสามคน

(๓) กรรมการวิชาชีพซึ่งได้รับเลือกตั้งโดยผู้ประกอบโรคศิลปะสาขาการแพทย์แผนไทยประยุกต์ มีจำนวนเท่ากับจำนวนกรรมการวิชาชีพใน (๑) และ (๒) รวมกันในขณะเลือกตั้งแต่ละคราว

ให้ผู้อำนวยการกองการประกอบโรคศิลปะเป็นกรรมการและเลขานุการ

มาตรา ๑๗(ยกเลิก)

มาตรา ๑๘ (ยกเลิก)

มาตรา ๑๙ องค์ประกอบ อำนาจและหน้าที่ และการดำเนินงานของคณะกรรมการวิชาชีพสาขาอื่นตามมาตรา ๑๔ (๕) รวมทั้งคุณสมบัติของกรรมการวิชาชีพสาขาอื่นดังกล่าว ให้เป็นไปตามที่กำหนดในพระราชกฤษฎีกาที่ออกตามมาตรา ๕ (๕)

มาตรา ๒๐ ภายในสามสิบวันนับจากวันเลือกตั้งกรรมการวิชาชีพตามมาตรา ๑๕(๓) มาตรา ๑๖ (๓) มาตรา ๑๗ (๓) หรือมาตรา ๑๘ (๓) ให้คณะกรรมการวิชาชีพแต่ละสาขาเลือกกรรมการวิชาชีพเป็นประธานกรรมการและรองประธานกรรมการวิชาชีพตำแหน่งละหนึ่งคน

มาตรา ๒๑ การเลือกตั้งกรรมการวิชาชีพตามมาตรา ๑๕ (๓) มาตรา ๑๖ (๓) มาตรา ๑๗ (๓) หรือมาตรา ๑๘ (๓) และการเลือกกรรมการวิชาชีพให้ดำรงตำแหน่งประธานกรรมการและรองประธานกรรมการวิชาชีพตามมาตรา ๒๐ ให้เป็นไปตามระเบียบที่รัฐมนตรีกำหนด

มาตรา ๒๒ กรรมการวิชาชีพซึ่งรัฐมนตรีแต่งตั้งตามมาตรา ๑๕ (๒) มาตรา ๑๖ (๒) มาตรา ๑๗ (๒) หรือมาตรา ๑๘ (๒) และกรรมการวิชาชีพซึ่งได้รับเลือกตั้งตามมาตรา ๑๕ (๓) มาตรา ๑๖ (๓) มาตรา ๑๗ (๓) หรือมาตรา ๑๘ (๓) อยู่ในตำแหน่งคราวละสามปีและอาจได้รับการแต่งตั้งหรือเลือกตั้งอีกได้

ให้นำความในมาตรา ๑๐ มาใช้บังคับกับคุณสมบัติของกรรมการวิชาชีพซึ่งได้รับเลือกตั้งตามมาตรา ๑๕ (๓) มาตรา ๑๖ (๓) มาตรา ๑๗ (๓) หรือมาตรา ๑๘ (๓) โดยอนุโลม

นอกจากพ้นจากตำแหน่งตามวาระตามวรรคหนึ่ง กรรมการวิชาชีพซึ่งรัฐมนตรีแต่งตั้งตามมาตรา ๑๕ (๒) มาตรา ๑๖ (๒) มาตรา ๑๗ (๒) หรือมาตรา ๑๘ (๒) และกรรมการวิชาชีพซึ่งได้รับเลือกตั้งตามมาตรา ๑๕ (๓) มาตรา ๑๖ (๓) มาตรา ๑๗ (๓) หรือมาตรา ๑๘ (๓) พ้นจากตำแหน่งเมื่อ

(๑) ตาย

(๒) ลาออก

(๓) รัฐมนตรีให้ออก สำหรับกรรมการวิชาชีพซึ่งรัฐมนตรีแต่งตั้งตามมาตรา ๑๕ (๒) มาตรา ๑๖ (๒) มาตรา ๑๗ (๒) หรือมาตรา ๑๘ (๒)

(๔) ขาดคุณสมบัติตามวรรคสอง สำหรับกรรมการวิชาชีพซึ่งได้รับเลือกตั้งตามมาตรา ๑๕ (๓) มาตรา ๑๖ (๓) มาตรา ๑๗ (๓) หรือมาตรา ๑๘ (๓)

มาตรา ๒๓ คณะกรรมการวิชาชีพแต่ละสาขามีอำนาจและหน้าที่ ดังต่อไปนี้

(๑) รับขึ้นทะเบียนและออกใบอนุญาตให้แก่ผู้ขอเป็นผู้ประกอบโรคศิลปะในสาขานั้น ๆ

(๒) เพิกถอนใบอนุญาตกรณีผู้ประกอบโรคศิลปะในสาขานั้นขาดคุณสมบัติ

(๓) เสนอความเห็นต่อคณะกรรมการเพื่อใช้อำนาจตามมาตรา ๑๓ (๒)

(๔) ใช้อำนาจตามมาตรา ๔๔ ในกรณีที่ผู้ประกอบโรคศิลปะในสาขานั้นประพฤติผิดจรรยาบรรณแห่งวิชาชีพ

(๕) ให้คำปรึกษาและให้คำแนะนำแก่สถานศึกษาเกี่ยวกับหลักสูตรการศึกษาการประกอบโรคศิลปะในสาขานั้น

(๖) แจ้งหรือโฆษณาข่าวสารด้วยวิธีใด ๆ ตามที่เห็นสมควร เพื่อมิให้ประชาชนหลงเข้าใจผิด ซึ่งอาจเป็นอันตรายเนื่องจากการประกอบโรคศิลปะในสาขานั้น

(๗) ส่งเสริม พัฒนา และกำหนดมาตรฐานการประกอบโรคศิลปะในสาขานั้น

(๘) ออกหนังสือรับรองความรู้ความชำนาญเฉพาะทางในการประกอบโรคศิลปะใน สาขานั้น

(๙) พิจารณาและเสนอชื่อผู้แทนคณะกรรมการวิชาชีพในสาขานั้นเป็นกรรมการการประกอบโรคศิลปะ

(๑๐) แต่งตั้งคณะอนุกรรมการวิชาชีพเพื่อกระทำการใด ๆ อันอยู่ในอำนาจและหน้าที่ของคณะกรรมการวิชาชีพในสาขานั้น

(๑๑) ปฏิบัติการอื่นใดตามที่กฎหมายกำหนดไว้ให้เป็นอำนาจและหน้าที่ของคณะกรรมการวิชาชีพในสาขานั้น

(๑๒) พิจารณาหรือดำเนินการในเรื่องอื่นตามที่รัฐมนตรีหรือคณะกรรมการมอบหมาย


การดำเนินการของคณะกรรมการการประกอบโรคศิลปะ

และคณะกรรมการวิชาชีพ

มาตรา ๒๔ การประชุมคณะกรรมการต้องมีกรรมการมาประชุมไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนกรรมการทั้งหมด จึงจะเป็นองค์ประชุม

มติของที่ประชุมให้ถือเสียงข้างมาก กรรมการคนหนึ่งให้มีเสียงหนึ่งในการลงคะแนน ถ้าคะแนนเสียงเท่ากันให้ประธานในที่ประชุมออกเสียงเพิ่มขึ้นอีกเสียงหนึ่งเป็นเสียงชี้ขาด

มาตรา ๒๕ ในการประชุม ถ้าประธานกรรมการไม่อยู่ในที่ประชุมหรือไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ ให้รองประธานกรรมการทำหน้าที่ประธานในที่ประชุม ถ้ารองประธานกรรมการไม่อยู่ในที่ประชุมหรือไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ ให้ที่ประชุมเลือกกรรมการคนหนึ่งทำหน้าที่ประธานในที่ประชุม

มาตรา ๒๖ การประชุมของคณะอนุกรรมการ คณะกรรมการวิชาชีพ หรือคณะอนุกรรมการวิชาชีพ ให้นำความในมาตรา ๒๔ และมาตรา ๒๕ มาใช้บังคับโดยอนุโลม

มาตรา ๒๗ ในการปฏิบัติหน้าที่ตามพระราชบัญญัตินี้ ให้กรรมการ อนุกรรมการ กรรมการวิชาชีพ หรืออนุกรรมการวิชาชีพเป็นเจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญา

มาตรา ๒๘ ให้คณะกรรมการและคณะกรรมการวิชาชีพมีอำนาจเรียกบุคคลใด ๆ มาให้ถ้อยคำ หรือแจ้งให้บุคคลใด ๆ ส่งเอกสารหรือวัตถุที่จำเป็นแก่การดำเนินการตามอำนาจและหน้าที่

หนังสือเรียกมาให้ถ้อยคำหรือหนังสือแจ้งให้ส่งเอกสารหรือวัตถุตามวรรคหนึ่ง ต้องระบุด้วยว่าจะให้มาให้ถ้อยคำหรือส่งเอกสารหรือวัตถุในเรื่องใด

มาตรา ๒๙ ให้กรรมการ อนุกรรมการ กรรมการวิชาชีพ และอนุกรรมการวิชาชีพ ได้รับเบี้ยประชุมและประโยชน์ตอบแทนอื่นตามระเบียบที่รัฐมนตรีกำหนดโดยความเห็นชอบของกระทรวงการคลัง


การควบคุมการประกอบโรคศิลปะ

มาตรา ๓๐ ห้ามมิให้ผู้ใดทำการประกอบโรคศิลปะ หรือกระทำด้วยประการใด ๆ ให้ผู้อื่นเข้าใจว่าตนเป็นผู้มีสิทธิทำการประกอบโรคศิลปะโดยมิได้ขึ้นทะเบียนและรับใบอนุญาต เว้นแต่ในกรณีอย่างใดอย่างหนึ่ง ดังต่อไปนี้

(๑) การประกอบโรคศิลปะที่กระทำต่อตนเอง

(๒) การช่วยเหลือหรือเยียวยาผู้ป่วยตามหน้าที่ ตามกฎหมาย หรือตามธรรมจรรยา โดยมิได้รับประโยชน์ตอบแทน

(๓) นักเรียน นักศึกษา หรือผู้รับการฝึกอบรมซึ่งทำการฝึกหัดหรืออบรมในความควบคุมของผู้ประกอบโรคศิลปะซึ่งเป็นผู้ให้การศึกษาหรือฝึกอบรม ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่คณะกรรมการวิชาชีพกำหนด

(๔) บุคคลซึ่งเข้ารับการอบรมหรือรับการถ่ายทอดความรู้จากผู้ประกอบโรคศิลปะสาขาการแพทย์แผนไทย กระทำการประกอบโรคศิลปะในระหว่างการอบรมหรือการถ่ายทอดความรู้ในการควบคุมของผู้ประกอบโรคศิลปะผู้นั้น ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขที่คณะกรรมการวิชาชีพกำหนด

(๕) บุคคลซึ่งกระทรวง ทบวง กรม กรุงเทพมหานคร เมืองพัทยา องค์การบริหารส่วนจังหวัด เทศบาล สุขาภิบาล องค์การบริหารส่วนท้องถิ่นอื่นตามที่รัฐมนตรีประกาศกำหนด หรือสภากาชาดไทย มอบหมายให้ประกอบโรคศิลปะในความควบคุมของเจ้าหน้าที่ซึ่งเป็นผู้ประกอบโรคศิลปะหรือผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม ทั้งนี้ ตามระเบียบที่รัฐมนตรีกำหนด

(๖) บุคคลซึ่งปฏิบัติงานในสถานพยาบาลตามกฎหมายว่าด้วยสถานพยาบาล กระทำการประกอบโรคศิลปะในความควบคุมของผู้ประกอบโรคศิลปะ ทั้งนี้ ตามระเบียบที่รัฐมนตรีกำหนด

(๗) การประกอบโรคศิลปะของที่ปรึกษาหรือผู้เชี่ยวชาญของทางราชการหรือผู้สอนในสถาบันการศึกษาซึ่งมีใบอนุญาตเป็นผู้ประกอบโรคศิลปะของต่างประเทศ ทั้งนี้ โดยได้รับอนุมัติจากคณะกรรมการวิชาชีพ และต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขที่คณะกรรมการวิชาชีพกำหนด

มาตรา ๓๑ ให้รัฐมนตรีโดยคำแนะนำของคณะกรรมการมีอำนาจอนุญาตให้บุคคลใดทำการประกอบวิชาชีพที่กระทำต่อมนุษย์ หรือมุ่งหมายจะกระทำต่อมนุษย์เกี่ยวกับการตรวจโรค การวินิจฉัยโรค การบำบัดโรค การป้องกันโรค การส่งเสริมและการฟื้นฟูสุขภาพ และการผดุงครรภ์ โดยอาศัยศาสตร์หรือความรู้จากต่างประเทศ ซึ่งวิชาชีพดังกล่าวยังมิได้มีกฎหมายรับรองในประเทศไทย ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่รัฐมนตรีประกาศกำหนด

มาตรา ๓๒ ผู้ขอขึ้นทะเบียนและรับใบอนุญาตเป็นผู้ประกอบโรคศิลปะต้องมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้าม ดังต่อไปนี้

(๑) อายุไม่ต่ำกว่ายี่สิบปีบริบูรณ์

(๒) เป็นผู้มีความรู้ในวิชาชีพตามมาตรา ๓๓

(๓) ไม่เป็นผู้มีความประพฤติเสียหายซึ่งคณะกรรมการวิชาชีพเห็นว่าจะนำมาซึ่งความเสื่อมเสียเกียรติศักดิ์แห่งวิชาชีพ

(๔) ไม่เคยต้องโทษจำคุกโดยคำพิพากษาถึงที่สุดในคดีที่คณะกรรมการวิชาชีพเห็นว่าอาจจะนำมาซึ่งความเสื่อมเสียเกียรติศักดิ์แห่งวิชาชีพ

(๕) ไม่เป็นผู้ติดยาเสพติดให้โทษ

(๖)เป็นโรคที่คณะกรรมการวิชาชีพประกาศกำหนดว่าไม่สมควรให้ประกอบโรคศิลปะ

(๗) ไม่เป็นคนวิกลจริตหรือจิตฟั่นเฟือนไม่สมประกอบ

มาตรา ๓๓ ผู้ขอขึ้นทะเบียนและรับใบอนุญาตเป็นผู้ประกอบโรคศิลปะในแต่ละสาขา ต้องมีความรู้ในวิชาชีพดังต่อไปนี้

(๑) สาขาการแพทย์แผนไทย

(ก) ได้รับการอบรมหรือถ่ายทอดความรู้จากผู้ประกอบโรคศิลปะซึ่งได้รับอนุญาตให้ถ่ายทอดความรู้ในสถาบันหรือสถานพยาบาลที่คณะกรรมการวิชาชีพสาขาการแพทย์แผนไทยรับรองตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กำหนดในกฎกระทรวง และได้ผ่านการทดสอบจากคณะกรรมการวิชาชีพสาขาการแพทย์แผนไทยแล้ว หรือ

(ข) ได้รับการอบรมจากสถาบันการศึกษาการแพทย์แผนไทยที่คณะกรรมการวิชาชีพสาขาการแพทย์แผนไทยรับรอง โดยคณะกรรมการวิชาชีพสาขาการแพทย์แผนไทยอาจสอบความรู้ก่อนก็ได้ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่คณะกรรมการวิชาชีพสาขาการแพทย์แผนไทยกำหนด หรือ

(ค) เป็นผู้ที่ส่วนราชการรับรองและผ่านการประเมินตามเงื่อนไขของคณะกรรมการวิชาชีพสาขาการแพทย์แผนไทย

(๒) สาขาการแพทย์แผนไทยประยุกต์ ต้องเป็นผู้ได้รับปริญญาหรือประกาศนียบัตรจากสถาบันการศึกษาที่คณะกรรมการวิชาชีพสาขาการแพทย์แผนไทยประยุกต์รับรอง โดยคณะกรรมการวิชาชีพสาขาการแพทย์แผนไทยประยุกต์อาจสอบความรู้ก่อนก็ได้ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่คณะกรรมการวิชาชีพสาขาการแพทย์แผนไทยประยุกต์กำหนด

(๓)(ยกเลิก)

(๔)(ยกเลิก)

(๕)สาขาอื่นตามพระราชกฤษฎีกาที่ออกตามมาตรา ๕ (๕) ต้องมีความรู้ตามที่กำหนดในพระราชกฤษฎีกานั้น

มาตรา ๓๔ การขอขึ้นทะเบียนและรับใบอนุญาต การออกใบอนุญาต การออกหนังสือรับรองความรู้ความชำนาญเฉพาะทางในการประกอบโรคศิลปะ การขอรับใบแทนใบอนุญาต และการออกใบแทนใบอนุญาต ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กำหนดในกฎกระทรวง

ในการออกกฎกระทรวงตามวรรคหนึ่ง อาจกำหนดอายุใบอนุญาตและการต่ออายุใบอนุญาตไว้ด้วยก็ได้

มาตรา ๓๕ ห้ามมิให้ผู้ประกอบโรคศิลปะในสาขาใดสาขาหนึ่งประกอบโรคศิลปะในสาขาอื่นที่ตนมิได้ขึ้นทะเบียนและรับใบอนุญาต

มาตรา ๓๖ ผู้ประกอบโรคศิลปะมีหน้าที่แจ้งวิธีการประกอบโรคศิลปะให้ผู้ป่วยทราบ และให้ผู้ป่วยมีสิทธิในการเลือกวิธีการบำบัดโรคที่จะใช้กับตน เว้นแต่ในกรณีฉุกเฉิน

มาตรา ๓๗ ผู้ประกอบโรคศิลปะต้องประกอบโรคศิลปะภายใต้บังคับแห่งข้อจำกัดและเงื่อนไขตามระเบียบที่รัฐมนตรีกำหนด

มาตรา ๓๘ ผู้ประกอบโรคศิลปะต้องรักษาจรรยาบรรณแห่งวิชาชีพตามระเบียบที่รัฐมนตรีกำหนด

ผู้ประกอบโรคศิลปะต้องไม่โฆษณา ใช้ จ้าง วาน หรือยินยอมให้ผู้อื่นโฆษณาการประกอบโรคศิลปะ ความรู้ความชำนาญในการประกอบโรคศิลปะของตน เว้นแต่เป็นการโฆษณาเกี่ยวกับการแสดงผลงานในหน้าที่หรือทางวิชาการหรือเพื่อการศึกษา การประชุมทางวิชาการ การบำเพ็ญประโยชน์สาธารณะ และการประกาศเกียรติคุณอาจกระทำได้ ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในระเบียบว่าด้วยการรักษาจรรยาบรรณแห่งวิชาชีพตามวรรคหนึ่ง

มาตรา ๓๙ บุคคลซึ่งได้รับความเสียหายเพราะผู้ประกอบโรคศิลปะฝ่าฝืนมาตรา ๓๖ หรือประพฤติผิดข้อจำกัดและเงื่อนไขการประกอบโรคศิลปะตามมาตรา ๓๗ หรือประพฤติผิดจรรยาบรรณแห่งวิชาชีพตามมาตรา ๓๘ มีสิทธิกล่าวหาผู้ประกอบโรคศิลปะผู้นั้น โดยทำคำกล่าวหาต่อคณะกรรมการวิชาชีพ

กรรมการวิชาชีพหรือบุคคลอื่นซึ่งพบหรือทราบว่าผู้ประกอบโรคศิลปะผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา ๓๖ หรือประพฤติผิดข้อจำกัดและเงื่อนไขการประกอบโรคศิลปะตามมาตรา ๓๗ หรือประพฤติผิดจรรยาบรรณแห่งวิชาชีพตามมาตรา ๓๘ มีสิทธิกล่าวโทษผู้ประกอบโรคศิลปะผู้นั้น โดยทำคำกล่าวโทษต่อคณะกรรมการวิชาชีพ

สิทธิกล่าวหาตามวรรคหนึ่งหรือสิทธิกล่าวโทษตามวรรคสองสิ้นสุดลงเมื่อพ้นหนึ่งปีนับแต่วันที่ผู้ได้รับความเสียหายหรือผู้กล่าวโทษรู้เรื่องและรู้ตัวผู้ประพฤติผิดแต่ไม่เกินสามปีนับแต่วันที่มีการประพฤติผิดในเรื่องดังกล่าว

การถอนคำกล่าวหาหรือคำกล่าวโทษที่ได้ยื่นไว้แล้ว ไม่เป็นเหตุให้ระงับการดำเนินการตามพระราชบัญญัตินี้

มาตรา ๔๐ เมื่อคณะกรรมการวิชาชีพได้รับคำกล่าวหาหรือคำกล่าวโทษตามมาตรา ๓๙ แล้วพิจารณาเห็นว่ากรณีมีมูล ให้ส่งเรื่องให้คณะอนุกรรมการวิชาชีพซึ่งคณะกรรมการวิชาชีพแต่งตั้งขึ้นตามมาตรา ๒๓ (๑๐) ให้ทำหน้าที่สอบสวนการกระทำผิดตามพระราชบัญญัตินี้ เพื่อดำเนินการสอบสวน แล้วสรุปผลการสอบสวนและเสนอสำนวนการสอบสวนพร้อมทั้งความเห็นต่อคณะกรรมการวิชาชีพเพื่อพิจารณาวินิจฉัยตามมาตรา ๔๔

มาตรา ๔๑ ในการปฏิบัติหน้าที่ของคณะอนุกรรมการวิชาชีพซึ่งทำหน้าที่สอบสวนตามมาตรา ๔๐ ให้นำมาตรา ๒๘ มาใช้บังคับ

มาตรา ๔๒ ให้ประธานอนุกรรมการวิชาชีพซึ่งทำหน้าที่สอบสวนมีหนังสือแจ้งข้อกล่าวหาหรือข้อกล่าวโทษพร้อมทั้งส่งสำเนาเรื่องที่กล่าวหาหรือกล่าวโทษให้ผู้ถูกกล่าวหาหรือผู้ถูกกล่าวโทษทราบไม่น้อยกว่าสิบห้าวันก่อนวันเริ่มทำการสอบสวน

ผู้ถูกกล่าวหาหรือผู้ถูกกล่าวโทษมีสิทธิทำคำชี้แจงหรือนำพยานหลักฐานใด ๆ มาแสดงต่อคณะอนุกรรมการวิชาชีพซึ่งทำหน้าที่สอบสวน

คำชี้แจงหรือพยานหลักฐานให้ยื่นต่อประธานอนุกรรมการวิชาชีพซึ่งทำหน้าที่สอบสวนภายในสิบห้าวันนับแต่วันได้รับแจ้งจากประธานอนุกรรมการวิชาชีพซึ่งทำหน้าที่สอบสวนหรือภายในกำหนดเวลาที่คณะอนุกรรมการวิชาชีพซึ่งทำหน้าที่สอบสวนจะขยายให้

มาตรา ๔๓ หลักเกณฑ์และวิธีการกล่าวหา กล่าวโทษ หรือสอบสวน ให้เป็นไปตามระเบียบที่รัฐมนตรีกำหนด

มาตรา ๔๔ เมื่อคณะกรรมการวิชาชีพได้รับสำนวนการสอบสวนและความเห็นของคณะอนุกรรมการวิชาชีพซึ่งทำหน้าที่สอบสวนแล้ว ให้คณะกรรมการวิชาชีพพิจารณาวินิจฉัย ดังนี้

(๑) ยกคำกล่าวหาหรือคำกล่าวโทษ กรณีที่เห็นว่าผู้ประกอบโรคศิลปะมิได้กระทำผิดตามคำกล่าวหาหรือคำกล่าวโทษ หรือ

(๒) ลงโทษอย่างใดอย่างหนึ่งดังต่อไปนี้ ในกรณีที่วินิจฉัยว่าผู้ประกอบโรคศิลปะได้กระทำผิดจริงตามคำกล่าวหาหรือคำกล่าวโทษ

(ก) ว่ากล่าวตักเตือน

(ข) ภาคทัณฑ์

(ค) พักใช้ใบอนุญาตมีกำหนดเวลาตามที่เห็นสมควร แต่ไม่เกินสองปี

(ง) เพิกถอนใบอนุญาต

คำวินิจฉัยของคณะกรรมการวิชาชีพตามวรรคหนึ่ง ให้ทำเป็นหนังสือและลงลายมือชื่อกรรมการวิชาชีพที่วินิจฉัยคำกล่าวหาหรือคำกล่าวโทษนั้น และต้องจัดให้มีเหตุผลไว้ด้วย โดยเหตุผลนั้นอย่างน้อยต้องประกอบด้วยข้อเท็จจริงอันเป็นสาระสำคัญ ข้อกฎหมายที่อ้างอิง ข้อพิจารณาและข้อสนับสนุนในการใช้ดุลพินิจ

มาตรา ๔๕ ให้ผู้อำนวยการกองการประกอบโรคศิลปะมีหนังสือแจ้งคำวินิจฉัยของคณะกรรมการวิชาชีพตามมาตรา ๔๔ ไปให้คณะกรรมการ และผู้ถูกกล่าวหาหรือผู้ถูกกล่าวโทษทราบภายในเจ็ดวันนับแต่วันที่มีคำวินิจฉัย และให้บันทึกข้อความตามคำวินิจฉัยนั้นไว้ในทะเบียนผู้ประกอบโรคศิลปะด้วย

ในกรณีที่ไม่พบตัวผู้ถูกกล่าวหาหรือถูกกล่าวโทษ หรือผู้ถูกกล่าวหาหรือถูกกล่าวโทษดังกล่าวไม่ยอมรับหนังสือแจ้งคำวินิจฉัยตามวรรคหนึ่ง ให้ปิดคำวินิจฉัยนั้นไว้ในที่เปิดเผย ณ สถานที่ประกอบการหรือภูมิลำเนาของผู้นั้น และให้ถือว่าผู้นั้นได้ทราบคำวินิจฉัยแล้วตั้งแต่วันที่ได้ปิดคำวินิจฉัย

ให้ผู้อำนวยการกองการประกอบโรคศิลปะจัดพิมพ์คำวินิจฉัยที่สำคัญของคณะกรรมการวิชาชีพเพื่อเผยแพร่ เว้นแต่เรื่องที่เป็นความลับอันเกี่ยวกับความปลอดภัยของประเทศหรือประโยชน์ส่วนรวมอันไม่ควรเปิดเผย

มาตรา ๔๖ ในกรณีที่ปรากฏแก่คณะกรรมการวิชาชีพว่าผู้ประกอบโรคศิลปะผู้ใดขาดคุณสมบัติตามมาตรา ๓๒ หรือฝ่าฝืนคำสั่งพักใช้ใบอนุญาต ให้คณะกรรมการวิชาชีพสั่งเพิกถอนใบอนุญาตของผู้นั้น และให้นำมาตรา ๔๕ วรรคหนึ่งและวรรคสอง มาใช้บังคับโดยอนุโลม

ก่อนมีคำสั่งเพิกถอนใบอนุญาตตามวรรคหนึ่ง ให้คณะกรรมการวิชาชีพแต่งตั้งคณะอนุกรรมการวิชาชีพดำเนินการสืบสวนหาข้อเท็จจริงแล้วทำรายงานพร้อมทั้งความเห็นเสนอคณะกรรมการวิชาชีพเพื่อพิจารณา

มาตรา ๔๗ ภายใต้บังคับมาตรา ๓๐ ห้ามมิให้ผู้ประกอบโรคศิลปะซึ่งอยู่ในระหว่างถูกสั่งพักใช้ใบอนุญาตหรือถูกสั่งเพิกถอนใบอนุญาตทำการประกอบโรคศิลปะหรือกระทำด้วยประการใด ๆ ให้ผู้อื่นเข้าใจว่าตนเป็นผู้มีสิทธิทำการประกอบโรคศิลปะนับแต่วันที่ทราบคำสั่งพักใช้ใบอนุญาตหรือสั่งเพิกถอนใบอนุญาตนั้น

มาตรา ๔๘ ผู้ประกอบโรคศิลปะผู้ใดฝ่าฝืนคำสั่งพักใช้ใบอนุญาตและถูกศาลพิพากษาลงโทษตามมาตรา ๕๘ คดีถึงที่สุดแล้ว ให้คณะกรรมการวิชาชีพสั่งเพิกถอนใบอนุญาตของผู้นั้น โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่ศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุด

มาตรา ๔๙ ผู้ประกอบโรคศิลปะซึ่งถูกสั่งเพิกถอนใบอนุญาตอาจขอรับใบอนุญาตอีกได้เมื่อพ้นสองปีนับแต่วันที่ถูกสั่งเพิกถอนใบอนุญาต แต่เมื่อคณะกรรมการวิชาชีพได้พิจารณาคำขอรับใบอนุญาตและปฏิเสธการออกใบอนุญาต ผู้นั้นจะยื่นคำขอรับใบอนุญาตได้อีกต่อเมื่อสิ้นระยะเวลาหนึ่งปีนับแต่วันที่คณะกรรมการวิชาชีพปฏิเสธการออกใบอนุญาต ถ้าคณะกรรมการวิชาชีพปฏิเสธการออกใบอนุญาตเป็นครั้งที่สอง ผู้นั้นมีสิทธิอุทธรณ์เป็นหนังสือต่อคณะกรรมการตามมาตรา ๕๓

ถ้าคณะกรรมการมีความเห็นยืนตามความเห็นของคณะกรรมการวิชาชีพ ผู้นั้นเป็นอันหมดสิทธิขอรับอนุญาตอีกต่อไป


พนักงานเจ้าหน้าที่

มาตรา ๕๐ ในการปฏิบัติหน้าที่ให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจ ดังนี้

(๑) เข้าไปในสถานที่ของผู้ประกอบโรคศิลปะในระหว่างเวลาทำการเพื่อตรวจสอบหรือควบคุมให้ดำเนินการตามพระราชบัญญัตินี้

(๒) เข้าไปในสถานที่ที่มีเหตุอันควรสงสัยว่ามีการกระทำความผิดตามพระราชบัญญัตินี้ในระหว่างพระอาทิตย์ขึ้นถึงพระอาทิตย์ตกหรือในระหว่างเวลาทำการของสถานที่นั้น เพื่อตรวจสอบเอกสาร หลักฐานหรือสิ่งของที่อาจใช้เพื่อประโยชน์ในการสอบสวนข้อเท็จจริงหรือดำเนินคดีการกระทำความผิดตามพระราชบัญญัตินี้ เว้นแต่

(ก) เมื่อได้เข้าไปและลงมือทำการตรวจสอบในเวลากลางวันถ้ายังดำเนินการไม่แล้วเสร็จจะกระทำต่อในเวลากลางคืนหรือนอกเวลาทำการก็ได้ หรือ

(ข) ในกรณีฉุกเฉินอย่างยิ่ง จะกระทำการตรวจสอบในเวลากลางคืนหรือนอกเวลาทำการก็ได้

(๓) ยึดหรืออายัดเอกสาร หลักฐานหรือสิ่งของที่เกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดตามพระราชบัญญัตินี้ เพื่อประโยชน์ในการสอบสวนข้อเท็จจริงหรือดำเนินคดี

ในการปฏิบัติหน้าที่ของพนักงานเจ้าหน้าที่ตามวรรคหนึ่ง ให้บุคคลซึ่งอยู่ในสถานที่นั้นอำนวยความสะดวกแก่พนักงานเจ้าหน้าที่ตามสมควร

มาตรา ๕๑ ในการปฏิบัติหน้าที่ พนักงานเจ้าหน้าที่ต้องแสดงบัตรประจำตัว

บัตรประจำตัวพนักงานเจ้าหน้าที่ ให้เป็นไปตามแบบที่รัฐมนตรีประกาศกำหนด

มาตรา ๕๒ ในการปฏิบัติการตามพระราชบัญญัตินี้ ให้พนักงานเจ้าหน้าที่เป็นเจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญา


การอุทธรณ์

มาตรา ๕๓ ในกรณีที่คณะกรรมการวิชาชีพมีคำสั่งไม่รับขึ้นทะเบียนและออกใบอนุญาตให้แก่ผู้ขอเป็นผู้ประกอบโรคศิลปะ หรือปฏิเสธการออกใบอนุญาตให้แก่ผู้ประกอบโรคศิลปะที่ถูกสั่งเพิกถอนใบอนุญาตตามมาตรา ๔๙ ผู้นั้นมีสิทธิอุทธรณ์เป็นหนังสือต่อคณะกรรมการภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ได้รับหนังสือแจ้งการไม่รับขึ้นทะเบียนและออกใบอนุญาต หรือปฏิเสธการออกใบอนุญาต แล้วแต่กรณี

คำวินิจฉัยของคณะกรรมการให้เป็นที่สุด

มาตรา ๕๔ ผู้ประกอบโรคศิลปะซึ่งถูกสั่งพักใช้ใบอนุญาตหรือถูกสั่งเพิกถอนใบอนุญาตมีสิทธิอุทธรณ์เป็นหนังสือต่อคณะกรรมการภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ทราบคำสั่ง

การอุทธรณ์ตามวรรคหนึ่ง ย่อมไม่เป็นการทุเลาการบังคับตามคำสั่งพักใช้หรือคำสั่งเพิกถอนใบอนุญาต

คำวินิจฉัยของคณะกรรมการให้เป็นที่สุด

มาตรา ๕๕ หลักเกณฑ์และวิธีการยื่นอุทธรณ์และวิธีพิจารณาอุทธรณ์ตามมาตรา ๕๓ และมาตรา ๕๔ ให้เป็นไปตามระเบียบที่คณะกรรมการกำหนด


บทกำหนดโทษ

มาตรา ๕๖ ผู้ใดไม่ปฏิบัติตามหนังสือเรียกหรือหนังสือแจ้งที่ออกตามมาตรา ๒๘ หรือมาตรา ๔๑ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

มาตรา ๕๗ ผู้ซึ่งมิได้เป็นผู้ประกอบโรคศิลปะผู้ใดทำการประกอบโรคศิลปะอันเป็นการฝ่าฝืนมาตรา ๓๐ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินสามหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ผู้ซึ่งมิได้เป็นผู้ประกอบโรคศิลปะผู้ใดกระทำด้วยประการใด ๆ ให้ผู้อื่นเข้าใจว่าตนเป็นผู้มีสิทธิทำการประกอบโรคศิลปะอันเป็นการฝ่าฝืนมาตรา ๓๐ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปี หรือปรับไม่เกินสองหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

มาตรา ๕๘ ผู้ประกอบโรคศิลปะผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา ๓๕ หรือผู้ประกอบโรคศิลปะซึ่งอยู่ในระหว่างถูกสั่งพักใช้ใบอนุญาตหรือถูกสั่งเพิกถอนใบอนุญาตผู้ใดทำการประกอบโรคศิลปะอันเป็นการฝ่าฝืนมาตรา ๔๗ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปีหรือปรับไม่เกินสองหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ผู้ประกอบโรคศิลปะผู้ใดซึ่งอยู่ในระหว่างถูกสั่งพักใช้ใบอนุญาตหรือถูกสั่งเพิกถอนใบอนุญาตกระทำด้วยประการใด ๆ ให้ผู้อื่นเข้าใจว่าตนเป็นผู้มีสิทธิทำการประกอบโรคศิลปะอันเป็นการฝ่าฝืนมาตรา ๔๗ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

มาตรา ๕๙ ผู้ใดไม่อำนวยความสะดวกตามสมควรแก่พนักงานเจ้าหน้าที่ตามมาตรา ๕๐ วรรคสอง ต้องระวางโทษปรับไม่เกินสองพันบาท

บทเฉพาะกาล

มาตรา ๖๐ ให้ผู้ซึ่งดำรงตำแหน่งกรรมการในคณะกรรมการควบคุมการประกอบโรคศิลปะตามพระราชบัญญัติควบคุมการประกอบโรคศิลปะ พุทธศักราช ๒๔๗๙ อยู่ในวันที่พระราชบัญญัตินี้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา คงปฏิบัติหน้าที่ต่อไปจนกว่าจะมีคณะกรรมการการประกอบโรคศิลปะตามพระราชบัญญัตินี้ ซึ่งต้องไม่เกินหนึ่งร้อยแปดสิบวันนับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ

มาตรา ๖๑ ในระยะเริ่มแรกที่ยังมิได้เลือกตั้งผู้ประกอบโรคศิลปะเป็นกรรมการวิชาชีพตามมาตรา ๑๕ (๓) มาตรา ๑๖ (๓) มาตรา ๑๗ (๓) หรือมาตรา ๑๘ (๓) ให้รัฐมนตรีแต่งตั้งผู้ประกอบโรคศิลปะสาขานั้น ๆ ตามจำนวนที่กำหนดไว้ในมาตราดังกล่าวเป็นกรรมการวิชาชีพ

ให้กรรมการวิชาชีพซึ่งรัฐมนตรีแต่งตั้งตามวรรคหนึ่งปฏิบัติหน้าที่ของกรรมการวิชาชีพตามพระราชบัญญัตินี้จนกว่ากรรมการวิชาชีพซึ่งได้รับเลือกตั้งตามพระราชบัญญัตินี้เข้ารับหน้าที่

การเลือกตั้งผู้ประกอบโรคศิลปะเป็นกรรมการวิชาชีพตามมาตรา ๑๕ (๓) มาตรา ๑๖ (๓) มาตรา ๑๗ (๓) หรือมาตรา ๑๘ (๓) ให้กระทำให้แล้วเสร็จภายในหนึ่งร้อยแปดสิบวันนับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ และให้กรรมการวิชาชีพซึ่งได้รับการเลือกตั้งตามมาตรานี้พ้นจากตำแหน่งพร้อมกับวาระของกรรมการวิชาชีพซึ่งรัฐมนตรีแต่งตั้งตาม มาตรา ๑๕ (๒) มาตรา ๑๖ (๒) มาตรา ๑๗ (๒) หรือมาตรา ๑๘ (๒) แล้วแต่กรณี

มาตรา ๖๒ ผู้ใดได้ขึ้นทะเบียนและรับใบอนุญาตเป็นผู้ประกอบโรคศิลปะตามพระราชบัญญัติควบคุมการประกอบโรคศิลปะ พุทธศักราช ๒๔๗๙ และใบอนุญาตนั้นยังคงใช้ได้ในวันที่พระราชบัญญัตินี้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา ให้ถือว่าผู้นั้นได้ขึ้นทะเบียนและรับใบอนุญาตเป็นผู้ประกอบโรคศิลปะตามพระราชบัญญัตินี้ต่อไป ดังนี้

(๑) ผู้ใดได้ขึ้นทะเบียนและรับใบอนุญาตเป็นผู้ประกอบโรคศิลปะแผนปัจจุบันสาขากายภาพบำบัด ให้ถือว่าผู้นั้นได้ขึ้นทะเบียนและรับใบอนุญาตเป็นผู้ประกอบโรคศิลปะสาขากายภาพบำบัด

(๒) ผู้ใดได้ขึ้นทะเบียนและรับใบอนุญาตเป็นผู้ประกอบโรคศิลปะแผนปัจจุบันสาขาเทคนิคการแพทย์ ให้ถือว่าผู้นั้นได้ขึ้นทะเบียนและรับใบอนุญาตเป็นผู้ประกอบโรคศิลปะสาขาเทคนิคการแพทย์

(๓) ผู้ใดได้ขึ้นทะเบียนและรับใบอนุญาตเป็นผู้ประกอบโรคศิลปะแผนโบราณทั่วไป สาขาเวชกรรม ให้ถือว่าผู้นั้นได้ขึ้นทะเบียนและรับใบอนุญาตเป็นผู้ประกอบโรคศิลปะสาขาการแพทย์แผนไทย ประเภทเวชกรรมไทย

(๔) ผู้ใดได้ขึ้นทะเบียนและรับใบอนุญาตเป็นผู้ประกอบโรคศิลปะแผนโบราณทั่วไป สาขาเภสัชกรรม ให้ถือว่าผู้นั้นได้ขึ้นทะเบียนและรับใบอนุญาตเป็นผู้ประกอบโรคศิลปะสาขาการแพทย์แผนไทย ประเภทเภสัชกรรมไทย

(๕) ผู้ใดได้ขึ้นทะเบียนและรับใบอนุญาตเป็นผู้ประกอบโรคศิลปะแผนโบราณทั่วไป สาขาการผดุงครรภ์ ให้ถือว่าผู้นั้นได้ขึ้นทะเบียนและรับใบอนุญาตเป็นผู้ประกอบโรคศิลปะสาขาการแพทย์แผนไทย ประเภทการผดุงครรภ์ไทย

(๖) ผู้ใดได้ขึ้นทะเบียนและรับใบอนุญาตเป็นผู้ประกอบโรคศิลปะแผนโบราณแบบประยุกต์ ให้ถือว่าผู้นั้นได้ขึ้นทะเบียนและรับใบอนุญาตเป็นผู้ประกอบโรคศิลปะสาขาการแพทย์แผนไทยประยุกต์

มาตรา ๖๓ ให้ผู้ซึ่งได้ขึ้นทะเบียนและรับใบอนุญาตเป็นผู้ประกอบโรคศิลปะแผนปัจจุบัน สาขาเวชกรรมชั้นสองตามพระราชบัญญัติควบคุมการประกอบโรคศิลปะ พุทธศักราช ๒๔๗๙ และใบอนุญาตนั้นยังคงใช้ได้ในวันที่พระราชบัญญัตินี้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา มีสิทธิประกอบโรคศิลปะต่อไปตามข้อจำกัดและเงื่อนไข ตลอดจนต้องรักษามรรยาทแห่งวิชาชีพตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายนั้น

ให้คณะกรรมการมีอำนาจสั่งพักใช้หรือเพิกถอนใบอนุญาตเป็นผู้ประกอบโรคศิลปะแผนปัจจุบัน สาขาเวชกรรมชั้นสอง เมื่อปรากฏว่าผู้นั้นกระทำการฝ่าฝืนบทบัญญัติในวรรคหนึ่ง

มาตรา ๖๔ คำขอขึ้นทะเบียนและรับใบอนุญาตเป็นผู้ประกอบโรคศิลปะและคำขอแก้ไขหรือเพิ่มเติมข้อความที่ได้ขึ้นทะเบียนแล้ว ซึ่งได้ยื่นไว้ตามพระราชบัญญัติควบคุมการประกอบโรคศิลปะ พุทธศักราช ๒๔๗๙ ก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา ให้ถือปฏิบัติ ดังนี้

(๑) ถ้าคณะกรรมการควบคุมการประกอบโรคศิลปะตามพระราชบัญญัติควบคุมการประกอบโรคศิลปะ พุทธศักราช ๒๔๗๙ ยังมิได้มีคำสั่งอย่างหนึ่งอย่างใดเกี่ยวกับคำขอดังกล่าว ให้ถือว่าเป็นคำขอที่ได้ยื่นตามพระราชบัญญัตินี้ และให้ดำเนินการเกี่ยวกับคำขอดังกล่าวตามพระราชบัญญัตินี้

(๒) ถ้าคณะกรรมการควบคุมการประกอบโรคศิลปะตามพระราชบัญญัติควบคุมการประกอบโรคศิลปะ พุทธศักราช ๒๔๗๙ ได้มีคำสั่งอย่างหนึ่งอย่างใดเกี่ยวกับคำขอดังกล่าวแล้ว การดำเนินการเกี่ยวกับคำขอดังกล่าวให้อยู่ในบังคับของบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัติควบคุมการประกอบโรคศิลปะ พุทธศักราช ๒๔๗๙ ต่อไปจนกว่าจะถึงที่สุด

มาตรา ๖๕ การสอบสวน และการพิจารณาเพื่อวินิจฉัยสั่งพักใช้ใบอนุญาตเป็นผู้ประกอบโรคศิลปะหรือสั่งเพิกถอนใบอนุญาตเป็นผู้ประกอบโรคศิลปะที่อยู่ระหว่างดำเนินการตามพระราชบัญญัติควบคุมการประกอบโรคศิลปะ พุทธศักราช ๒๔๗๙ ในวันที่พระราชบัญญัตินี้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา ให้ดำเนินการตามพระราชบัญญัตินี้ เว้นแต่

(๑) กรณีที่คณะกรรมการควบคุมการประกอบโรคศิลปะได้ส่งเรื่องให้คณะอนุกรรมการสอบสวนทำการสอบสวนแล้วก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาและยังสอบสวนไม่เสร็จ ก็ให้สอบสวนตามพระราชบัญญัติควบคุมการประกอบโรคศิลปะ พุทธศักราช ๒๔๗๙ ต่อไป และเมื่อได้สอบสวนเสร็จแล้ว ให้สรุปผลการสอบสวนและเสนอสำนวนการสอบสวนพร้อมทั้งความเห็นต่อคณะกรรมการวิชาชีพตามมาตรา ๑๕ หรือมาตรา ๑๖ หรือมาตรา ๑๗ หรือมาตรา ๑๘ แล้วแต่กรณี พิจารณาวินิจฉัยเรื่องนั้นต่อไปตามพระราชบัญญัติควบคุมการประกอบโรคศิลปะ พุทธศักราช ๒๔๗๙ จนกว่าจะเสร็จ

(๒) ในกรณีที่ได้มีการสอบสวนหรือพิจารณาโดยถูกต้องตามพระราชบัญญัติควบคุมการประกอบโรคศิลปะ พุทธศักราช ๒๔๗๙ เสร็จไปแล้วก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา ให้การสอบสวนหรือพิจารณา แล้วแต่กรณีนั้น เป็นอันใช้ได้

(๓) กรณีที่ได้มีการเสนอเรื่องหรือนำเสนอสำนวนการสอบสวนให้คณะกรรมการควบคุมการประกอบโรคศิลปะพิจารณาโดยถูกต้องตามพระราชบัญญัติควบคุมการประกอบโรคศิลปะ พุทธศักราช ๒๔๗๙ และคณะกรรมการควบคุมการประกอบโรคศิลปะพิจารณาเรื่องนั้นยังไม่เสร็จ ก็ให้คณะกรรมการวิชาชีพตามมาตรา ๑๕ หรือมาตรา ๑๖ หรือมาตรา ๑๗ หรือมาตรา ๑๘ แล้วแต่กรณี พิจารณาวินิจฉัยเรื่องนั้นต่อไปตามพระราชบัญญัติควบคุมการประกอบโรคศิลปะ พุทธศักราช ๒๔๗๙ จนกว่าจะเสร็จ

มาตรา ๖๖ การใดอยู่ระหว่างดำเนินการตามพระราชบัญญัติควบคุมการประกอบโรคศิลปะ พุทธศักราช ๒๔๗๙ ในวันที่พระราชบัญญัตินี้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา การดำเนินการต่อไปสำหรับการนั้น ให้เป็นไปตามที่คณะกรรมการกำหนด

มาตรา ๖๗ ให้บรรดากฎกระทรวง ระเบียบ หรือประกาศที่ออกโดยอาศัยอำนาจตามพระราชบัญญัติควบคุมการประกอบโรคศิลปะ พุทธศักราช ๒๔๗๙ คงใช้บังคับได้ต่อไปเท่าที่ไม่ขัดหรือแย้งกับพระราชบัญญัตินี้ ทั้งนี้ จนกว่าจะได้มีกฎกระทรวง ระเบียบ หรือประกาศที่ออกโดยอาศัยอำนาจตามพระราชบัญญัตินี้

ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ

ชวน หลีกภัย

นายกรัฐมนตรี



อัตราค่าธรรมเนียม

(๑) ค่าขึ้นทะเบียนและรับใบอนุญาตเป็นผู้ประกอบโรคศิลปะ ฉบับละ ๓,๐๐๐ บาท

(๒) ค่าต่ออายุใบอนุญาต ฉบับละ ๑,๐๐๐ บาท

(๓) ค่าแก้ไขหรือเพิ่มเติมทะเบียนและใบอนุญาต ฉบับละ ๕๐๐ บาท

(๔) ค่าหนังสือรับรองการขึ้นทะเบียนเป็นผู้ประกอบโรคศิลปะ

และหนังสือรับรองอย่างอื่น ฉบับละ ๕๐๐ บาท

(๕) ค่าสอบความรู้ผู้ขอขึ้นทะเบียนและรับใบอนุญาต

เป็นผู้ประกอบโรคศิลปะ ฉบับละ ๒,๐๐๐ บาท

(๖) ค่าหนังสืออนุมัติให้แสดงว่าเป็นผู้มีความรู้

ความชำนาญในการประกอบโรคศิลปะ ฉบับละ ๑,๐๐๐ บาท

(๗) ค่าใบแทนใบอนุญาต ฉบับละ ๓๐๐ บาท

(๘) ค่าแปลใบอนุญาตของผู้ประกอบโรคศิลปะ

เป็นภาษาต่างประเทศ ฉบับละ ๑,๐๐๐ บาท

(๙) ค่าคำร้องต่าง ๆ ฉบับละ ๕๐ บาท

หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ โดยที่พระราชบัญญัติควบคุมการประกอบโรคศิลปะ พุทธศักราช ๒๔๗๙ ได้ใช้บังคับมาเป็นเวลานาน แม้จะมีการแก้ไขเพิ่มเติมหลายครั้ง แต่บทบัญญัติบางประการยังไม่สอดคล้องกับหลักวิชาและสภาพการณ์ในปัจจุบัน ประกอบกับได้มีการแยกการประกอบโรคศิลปะแผนปัจจุบันสาขาเวชกรรม การประกอบโรคศิลปะแผนปัจจุบันสาขาการพยาบาลและการผดุงครรภ์ การประกอบโรคศิลปะแผนปัจจุบันสาขาทันตกรรม และการประกอบโรคศิลปะแผนปัจจุบันสาขาเภสัชกรรม ไปบัญญัติไว้ในกฎหมายเฉพาะ รวมทั้งสมควรปรับปรุงองค์ประกอบและอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการการประกอบโรคศิลปะ และจัดให้มีคณะกรรมการวิชาชีพเพื่อควบคุมการประกอบโรคศิลปะสาขาการแพทย์แผนไทย การประกอบโรคศิลปะสาขาการแพทย์แผนไทยประยุกต์ การประกอบโรคศิลปะสาขากายภาพบำบัด การประกอบโรคศิลปะสาขาเทคนิคการแพทย์ และการประกอบโรคศิลปะสาขาอื่นตามที่กำหนดโดยพระราชกฤษฎีกา เพื่อให้การประกอบโรคศิลปะในสาขาต่าง ๆ ดังกล่าวมีความเหมาะสมและมีประสิทธิภาพ ตลอดจนเพื่อส่งเสริมการประกอบโรคศิลปะในสาขาเหล่านั้นให้มีความอิสระและคล่องตัวในการดำเนินงาน และเพื่อควบคุมมิให้มีการแสวงหาผลประโยชน์หรือใช้วิชาชีพโดยมิชอบ ทำให้เกิดความเสียหายแก่ประชาชน สมควรปรับปรุงกฎหมายว่าด้วยการควบคุมการประกอบโรคศิลปะให้เหมาะสมยิ่งขึ้น จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้

*พระราชกฤษฏีกาแก้ไขบทบัญญัติให้สอดคล้องกับการโอนอำนาจหน้าที่ของส่วนราชการให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม พ.ศ. ๒๕๔๕

มาตรา ๒๔ ในพระราชบัญญัติการประกอบโรคศิลปะ พ.ศ. ๒๕๔๒ ให้แก้ไขคำว่า สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุขในมาตรา ๑๕ (๑) และมาตรา ๑๖ (๑) เป็นกรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก

หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชกฤษฎีกาฉบับนี้ คือ โดยที่พระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม พ.ศ. ๒๕๔๕ ได้บัญญัติให้จัดตั้งส่วนราชการขึ้นใหม่โดยมีภารกิจใหม่ ซึ่งได้มีการตราพระราชกฤษฎีกาโอนกิจการบริหารและอำนาจหน้าที่ของส่วนราชการให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม นั้นแล้ว และเนื่องจากพระราชบัญญัติดังกล่าวได้บัญญัติให้โอนอำนาจหน้าที่ของส่วนราชการ รัฐมนตรีผู้ดำรงตำแหน่งหรือผู้ซึ่งปฏิบัติหน้าที่ในส่วนราชการเดิมมาเป็นของส่วนราชการใหม่ โดยให้มีการแก้ไขบทบัญญัติต่างๆ ให้สอดคล้องกับอำนาจหน้าที่ที่โอนไปด้วย ฉะนั้น เพื่ออนุวัติให้เป็นไปตามหลักการที่ปรากฏในพระราชบัญญัติและพระราชกฤษฎีกาดังกล่าว จึงสมควรแก้ไขบทบัญญัติของกฎหมายให้สอดคล้องกับการโอนส่วนราชการ เพื่อให้ผู้เกี่ยวข้องมีความชัดเจนในการใช้กฎหมายโดยไม่ต้องไปค้นหาในกฎหมายโอนอำนาจหน้าที่ว่าตามกฎหมายใดได้มีการโอนภารกิจของส่วนราชการหรือผู้รับผิดชอบตามกฎหมายนั้นไปเป็นของหน่วยงานใดหรือผู้ใดแล้ว โดยแก้ไขบทบัญญัติของกฎหมายให้มีการเปลี่ยนชื่อส่วนราชการ รัฐมนตรี ผู้ดำรงตำแหน่งหรือผู้ซึ่งปฏิบัติหน้าที่ของส่วนราชการให้ตรงกับการโอนอำนาจหน้าที่ และเพิ่มผู้แทนส่วนราชการในคณะกรรมการให้ตรงตามภารกิจที่มีการตัดโอนจากส่วนราชการเดิมมาเป็นของส่วนราชการใหม่รวมทั้งตัดส่วนราชการเดิมที่มีการยุบเลิกแล้ว ซึ่งเป็นการแก้ไขให้ตรงตามพระราชบัญญัติและพระราชกฤษฎีกาดังกล่าว จึงจำเป็นต้องตราพระราชกฤษฎีกานี้

พระราชบัญญัติการประกอบโรคศิลปะ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๔๗

หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ โดยที่ได้มีการแยกการประกอบโรคศิลปะสาขากายภาพบำบัด และการประกอบโรคศิลปะสาขาเทคนิคการแพทย์ไปบัญญัติไว้ในกฎหมายเฉพาะ สมควรปรับปรุงองค์ประกอบและคุณสมบัติของคณะกรรมการการประกอบโรคศิลปะ รวมทั้งปรับปรุงบทบัญญัติในส่วนที่เกี่ยวกับสาขาแห่งการประกอบโรคศิลปะ และคณะกรรมการวิชาชีพให้สอดคล้องกันด้วย จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้

พระราชบัญญัติการประกอบโรคศิลปะ (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๕๐

หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ โดยที่ประเพณีการปกครองประเทศไทยในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ห้ามมิให้เลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมต่อบุคคล เพราะเหตุแห่งความแตกต่างในเรื่องสภาพทางกาย แต่บทบัญญัติ (๖) ของมาตรา ๓๒ แห่งพระราชบัญญัติการประกอบโรคศิลปะ พ.ศ. ๒๕๔๒ เป็นบทบัญญัติที่ถือปฏิบัติต่อบุคคลเพราะเหตุแห่งความแตกต่างในเรื่องสภาพทางกาย สมควรแก้ไขบทบัญญัติดังกล่าวให้สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้