Search This Blog

Friday, October 18, 2013

เวชกรรมไทย เล่ม 1 (การวินิจฉัยโรค) คัมภีร์สมุฏฐานวินิจฉัย

  เวชกรรมไทย เล่ม 1

(การวินิจฉัยโรค)
คัมภีร์สมุฏฐานวินิจฉัย



จัดทำโดย อ.หมอสุชาติ ภูวรัตน์
นธ.เอกบาลีประโยค 1-2
(อดีตพระธรรมทูตต่างประเทศ)
B.S. Engineering Design Tech.
 B.A. ศาสนศาสตร์บัณฑิต
B.S. Computer Information Systems
B.TM.  พทย์แผนไทยบัณฑิต
สาขาวิทยาศาสตร์สุขภาพ
บ.ภ.พท.ว.พท.ผ.พท.น.
ครูแพทย์แผนไทย 4 ด้าน
ศูนย์การแพทย์แผนไทยภูเก็ต
ทำเพื่อการศึกษาและประโยชน์แก่ผู้ชม

เวชกรรมไทย เล่ม 1
บทที่ 4
(การวินิจฉัยโรค)

คัมภีร์สมุฏฐานวินิจฉัย

        การที่จะตรวจวินิจฉัยโรคใดนั้น จะต้องรู้อาการไข้ รู้ประวัติ และสาเหตุที่เจ็บป่วย จึงจะทำให้รู้ว่าเป็นโรคอะไร แก้ไขด้วยวิธีใด จึงจะต้องมีวิธีตรวจไข้ โดยพิจารณาจากสิ่งแวดล้อมนอกร่างกาย ได้แก่ ภูมิประเทศ และภูมิอากาศ ดังรายละเอียดตามคัมภีร์ดังต่อไปนี้

คัมภีร์สมุฏฐานวินิจฉัย
ผู้แต่งคัมภีร์นี้ไม่ปรากฏชื่อ 
น่าจะเป็นพระอาจารย์แพทย์หลวงชีวกโกมารภัจจ์
คัมภีร์นี้ได้กล่าวถึง การค้นหาสาเหตุแห่งไข้ 
การวินิจฉัยโรค การตรวจโรค หรือการพยากรณ์โรค 
และไข้ต่างๆ โดยกล่าวถึงกองพิกัดสมุฏฐาน 
4 ประการ คือ
1. ธาตุสมุฏฐาน
2. อุตุสมุฏฐาน
3. อายุสมุฏฐาน
4. กาลสมุฏฐาน
        สมุฏฐานทั้ง 4 ประการนี้ แพทย์ทั้งหลาย
พึงเรียนรู้แจ้ง เพราะเป็นที่ตั้งแห่งภูมิโรค 
และภูมิแพทย์ทั้งปวง แพทย์ใดไม่ได้รู้แจ้ง 
แพทย์นั้นชื่อว่า มิจฉาญาณแพทย์” 
แพทย์ใดประกอบด้วยวิจารณปัญญารู้แจ้ง 
แพทย์นั้นชื่อว่า เสฎฐญาณแพทย์


กองพิกัดสมุฏฐาน 4 ประการ 
และเป็นมหาพิกัดสมุฏฐาน มีดังนี้

1. ธาตุสมุฏฐาน แบ่งออกได้ 4 กอง คือ

     1) สมุฏฐานเตโชธาตุพิกัด (ธาตุไฟ)
     2) สมุฏฐานวาโยธาตุพิกัด (ธาตุลม)
     3) สมุฏฐานอาโปธาตุพิกัด (ธาตุน้ำ)
     4) สมุฏฐานปถวีธาตุพิกัด (ธาตุดิน)

   1) สมุฏฐานเตโชธาตุพิกัด
เป็นที่ตั้งแห่งจตุกาลเตโช (ธาตุไฟ 4) 
ซึ่งจะเป็น ชาติ (เกิดขึ้น) จลนะ (เคลื่อนไป) 
ภินนะ (แตก) ก็อาศัย พัทธปิตตะ (ดีในฝัก) 
อพัทธปิตตะ (ดีนอกฝัก)  
กำเดา (เปลวแห่งความร้อน)  
ทั้ง 3 อย่างนี้ให้เป็นเหตุในกองเตโชธาตุ 
พิกัดสมุฏฐานกองหนึ่ง

   2) สมุฏฐานวาโยธาตุพิกัด
เป็นที่ตั้งแห่ง ฉกาลวาโย (ธาตุลม 6) 
ซึ่งจะวิปริตเป็นชาติ (เกิดขึ้น) จลนะ (เคลื่อนไป) 
ภินนะ (แตก)ก็อาศัย หทัยวาตะ (ลมที่หัวใจ)  
สัตถะวาตะ (ลมเสียดแทง) 
สุมนาวาตะ (ลมในเส้น) ทั้ง 3 อย่างนี้ 
เป็นเหตุในกองวาโยธาตุ พิกัดสมุฏฐานกองหนึ่ง

3. สมุฏฐานอาโปธาตุพิกัด
เป็นที่ตั้งแห่งทวาทศอาโป (ธาตุน้ำ 12) 
ซึ่งจะวิปริตเป็นชาติ (เกิดขึ้น) จลนะ (เคลื่อนไป) 
ภินนะ (แตก)ก็อาศัย ศอเสมหะ (เสมหะในลำคอ)  
อุระเสมหะ (เสมหะในทรวงอก) 
คูถเสมหะ (เสมหะที่ทวารหนัก) ทั้ง 3 อย่างนี้ 
เป็นเหตุในกองอาโปธาตุ พิกัดสมุฏฐานกองหนึ่ง

4. สมุฏฐานปถวีธาตุพิกัด
เป็นที่ตั้งแห่งวีสติปถวี (ธาตุดิน 20) 
ซึ่งจะวิปริตเป็นชาติ (เกิดขึ้น)  จลนะ (เคลื่อนไป)  
ภินนะ (แตก) ก็อาศัย หทัยวัตถุ (ก้อนเนื้อหัวใจ) 
อุทริยะ (อาหารใหม่) กรีสะ (อาหารเก่า) ทั้ง 3 อย่างนี้
เป็นเหตุในกองปถวีธาตุ พิกัดสมุฏฐานกองหนึ่ง


2. ฤดูสมุฏฐาน
ฤดูสมุฏฐาน มี 2 ฤดู คือ ฤดู 3 กับ ฤดู 6

1) ฤดู 3 ปี 1 แบ่งออกเป็น 3 ฤดูๆ ละ 4 เดือน คือ
           (1) คิมหันตฤดู  (ฤดูร้อน)
           (2) วสันตฤดู  (ฤดูฝน)
           (3) เหมันตฤดู (ฤดูหนาว)

2) ฤดู 6 ปี 1 แบ่งออกเป็น 6 ฤดูๆ ละ 2 เดือน คือ
           (1) คิมหันตฤดู
           (2) วสันตฤดู
           (3) วัสสานฤดู
           (4) สาระทะฤดู
           (5) เหมันตฤดู
           (6) ศิศิระฤดู


   1) ฤดู 3 
ในปี 1 แบ่งออกเป็น 3 ฤดูๆ ละ 4 เดือน คือ

        (1) คิมหันตฤดู นับตั้งแต่แรม 1 ค่ำเดือน 4 
ไปจนถึงขึ้น 15 ค่ำ เดือน 8
           พิกัดปิตตะสมุฏฐานให้เป็นเหตุ

        (2) วสันตฤดู นับตั้งแต่แรม 1 ค่ำเดือน 8 
ไปจนถึงขึ้น 15 ค่ำ เดือน 12
           พิกัดวาตะสมุฏฐานให้เป็นเหตุ

        (3) เหมันตฤดู นับตั้งแต่แรม 1 ค่ำเดือน 12 
ไปจนถึงขึ้น 15 ค่ำ เดือน 4
           พิกัดเสมะสมุฏฐานให้เป็นเหตุ


   2) ฤดู 6  
ในปี 1 แบ่งออกเป็น 6 ฤดูๆ ละ 2 เดือน

        (1) คิมหันตฤดู นับตั้งแต่แรม 1 ค่ำเดือน 4 
ไปจนถึงขึ้น 15 ค่ำ เดือน 6
    พิกัดปิตตะสมุฏฐาน เสมหะสมุฏฐาน
ระคนให้เป็นเหตุ

        (2) วสันตฤดู นับตั้งแต่แรม 1 ค่ำเดือน 6 
ไปจนถึงขึ้น 15 ค่ำ เดือน 8
    พิกัดปิตตะสมุฏฐาน วาตะสมุฏฐาน
ระคนให้เป็นเหตุ

        (3) วัสสานฤดู นับตั้งแต่แรม 1 ค่ำเดือน 8 
ไปจนถึงขึ้น 15 ค่ำ เดือน 10
    พิกัดวาตะสมุฏฐาน ปิตตะสมุฏฐาน
ระคนให้เป็นเหตุ

        (4) สาระทะฤดู นับตั้งแต่แรม 1 ค่ำเดือน 10 
ไปจนถึงขึ้น 15 ค่ำ เดือน 12
    พิกัดวาตะสมุฏฐาน เสมหะสมุฏฐาน
ระคนให้เป็นเหตุ

        (5) เหมันตฤดู นับตั้งแต่แรม 1 ค่ำเดือน 12 
ไปจนถึงขึ้น 15 ค่ำ เดือน 2
    พิกัดเสมหะสมุฏฐาน วาตะสมุฏฐาน
ระคนให้เป็นเหตุ

        (6) ศิศิระฤดู นับตั้งแต่แรม 1 ค่ำเดือน 2 
ไปถึงขึ้น 15 ค่ำ เดือน 4
    พิกัดเสมหะสมุฏฐาน ปิตตะสมุฏฐาน
ระคนให้เป็นเหตุ

กล่าวโดยพิสดารในฤดูสมุฏฐาน 3

1. คิมหันตฤดู (คิมหันตสมุฏฐาน) 
 คือ ตั้งแต่แรมค่ำ 1 เดือน 4 
ไปจนถึงขึ้น 15 ค่ำเดือน 8 (120 วัน)
เป็นพิกัดแห่งปิตตะ 
ใช่จะทำเต็มทั้ง 4 เดือนหามิได้ 
แบ่งออกโดยพิเศษ สมุฏฐานละ 3 ดังนี้:-

     1) ตั้งแต่แรม 1 ค่ำ เดือน 4 ไปจนถึง
แรม 10 ค่ำ เดือน 5 (40 วัน) เป็นพิกัดพัทธปิตตะ
สมุฏฐาน แต่พัทธปิตตะจะได้ทำเองหามิได้
อาศัยจตุกาลเตโช (ธาตุไฟ 4) กองใดกองหนึ่ง 
ระคนพัทธปิตตะสมุฏฐาน เหตุว่าเป็นเจ้าของ
ถ้าจะแก้อย่าให้เสียเจ้าของเดิมโดยพิกัด

     2) ตั้งแต่แรม 11 ค่ำ เดือน 5 ไปจนถึง
ขึ้น 5 ค่ำ เดือน 7 (40 วัน) เป็นพิกัดอพัทธะปิตตะ
สมุฏฐาน แต่อพัทธปิตตะจะได้ทำเต็มที่หามิได้
อพัทธปิตตะกระทำกึ่งหนึ่ง 
จตุกาลเตโช (ธาตุไฟ 4) กระทำกึ่งหนึ่งระคนกัน

     3) ตั้งแต่ขึ้น 6 ค่ำ เดือน 7 ไปจนถึง
ขึ้น 15 ค่ำเดือน 8 (40 วัน) เป็นพิกัดกำเดา
สมุฏฐาน แต่กำเดาจะได้ระคนด้วย
จตุกาลเตโช (ธาตุไฟ 4) กองใดกองหนึ่ง
หามิได้ ด้วยเหตุว่ากำเดานี้
อยู่ในสมุฏฐานทั้ง 3 คือ พัทธปิตตะ อพัทธปิตตะ 
และกำเดา จะให้กายบริบูรณ์ หรือไม่บริบูรณ์ 
ก็เพราะกำเดา ถ้าจะแก้อย่าให้เสียกำเดา
โดยพิกัด
          ท่านจึงจัดไว้ว่าใน 4 เดือนนี้
เป็นกำหนดคิมหันตสมุฏฐานแห่งกำเดา 
ด้วยว่ากำเดานี้คือเปลวแห่งวาโย โลหิต 
เสมหะ และสรรพสมุฏฐานทั้งปวง จะวิบัติ 
หรือไม่วิบัตินั้นก็อาศัยแห่งสมุฏฐาน
เป็นที่บำรุงว่าจะให้วัฒนะ หรือหายนะโดยแท้

2. วสันตฤดู (วัสสานสมุฏฐาน) 
คือ ตั้งแต่แรมค่ำ 1 เดือน 8 ไปจนถึง
ขึ้น 15 ค่ำเดือน 12 (120 วัน)เป็นพิกัดวาตะ
สมุฎฐาน แต่ว่าวาตะจะกระทำเต็มที่
ทั้ง 4 เดือนหามิได้ แบ่งออกโดยวิเศษ
สมุฏฐานละ 3 ดังนี้:-

      1) ตั้งแต่แรม 1 ค่ำเดือน 8 ไปจนถึง
แรม 10 ค่ำเดือน 9 (40 วัน) เป็นพิกัดหทัยวาตะ
สมุฏฐาน แต่หทัยวาตะจะได้กระทำเองนั้น
หามิได้ อาศัยแห่งฉกาลวาโย (ธาตุลม 6) 
กองใดกองหนึ่ง ระคนหทัยวาตะสมุฏฐาน 
เหตุว่าเป็นเจ้าของ ถ้าจะแก้อย่าให้เสีย
เจ้าของเดิมโดยพิกัด

      2) ตั้งแต่แรม 11 ค่ำเดือน 9 ไปจนถึง
ขึ้น 5 ค่ำเดือน 11 (40 วัน) เป็นพิกัดสัตถกะวาตะ
สมุฏฐานกระทำกึ่งหนึ่ง ฉกาลวาโย (ธาตุลม 6) 
กระทำกึ่งหนึ่งระคนกัน
ถ้าจะแก้อย่าให้เสียเจ้าของเดิมโดยพิกัด

      3) ตั้งแต่ขึ้น 6 ค่ำเดือน 11 ไปจนถึง
ขึ้น 15 ค่ำเดือน 12 (40 วัน)เป็นพิกัดสุมนาวาตะ
สมุฏฐาน แต่สุมนาวาตะจะได้ระคนด้วย
ฉกาลวาโย (ธาตุลม 6) กองใดกองหนึ่งนั้น
หามิได้ โดยเหตุว่าสุมนาวาตะนี้อยู่ใน
สมุฏฐานทั้ง 3 คือ หทัยวาตะ สัตถกะวาตะ 
สุมนาวาตะ และอาจให้กระวนกระวาย 
หรือไม่ได้กระวนกระวายก็เพราะสุมนาวาตะ 
ถ้าจะแก้อย่าให้เสียสุมนาวาตะสมุฏฐาน
         ท่านจึงจัดว่า 4 เดือนนี้เป็นกำหนด
วัสสานสมุฎฐาน คือ สมุฏฐานแห่งวาโย 
กล่าวคือ สุมนาวาตะ ด้วยสุมนาวาตะนี้
เป็นหลักแห่งสมุฏฐาน ซึ่งจะวิบัติ 
หรือไม่วิบัตินั้น ก็อาศัยสมุฏฐานนี้เป็นที่บำรุง 
อาจให้วัฒนะ และหายนะได้โดยแท้
         
3. เหมันตฤดู (เหมันตสมุฏฐาน)  
คือ ตั้งแต่แรมค่ำ 1 เดือน 12 ไปจนถึง
ขึ้น 15 ค่ำเดือน 4 (120 วัน) เป็นพิกัดแห่งเสมหะ
สมุฏฐาน แต่เสมหะจะได้ทำเต็มทั้ง 4 เดือนนั้น
หามิได้แบ่งออกโดยพิเศษสมุฏฐานละ 3 ดังนี้:-

      1) ตั้งแต่แรมค่ำ 1 เดือน 12 ไปจนถึง
แรม 10 ค่ำเดือน 1 (40 วัน)เป็นพิกัดศอเสมหะ
สมุฏฐาน แต่ศอเสมหะจะได้กระทำเองนั้น
หามิได้ อาศัยกาลปะระเมหะ คือ อาโปเกรอะ
ลงมาระคนศอเสมหะสมุฏฐานเหตุว่าเป็นเจ้าของ 
ถ้าจะแก้อย่าให้เสียเจ้าของเดิมโดยพิกัด

      2) ตั้งแต่แรม 11 ค่ำ เดือน 1 ไปจน
ถึง 5 ค่ำ เดือน 3 (40 วัน) เป็นพิกัดอุระเสมหะ
สมุฏฐาน กระทำกึ่งหนึ่ง กาลปะระเมหะ
กระทำกึ่งหนึ่งระคนกัน
ถ้าจะแก้อย่าให้เสียเจ้าของเดิมโดยพิกัด

      3) ตั้งแต่ขึ้น 6 ค่ำ เดือน 3 ไปจนถึง
ขึ้น 15 ค่ำเดือน 4 (40 วัน)เป็นพิกัดคูถเสมหะ
สมุฏฐาน คูถเสมหะจะได้ระคนด้วยกาลปะระเมหะ 
คือ อาโปกองใดกองหนึ่งนั้นหามิได้ 
ด้วยเหตุว่าคูถเสมหะนี้อยู่ในสมุฏฐานทั้ง 3 
คือศอเสมหะ อุระเสมหะ คูถเสมหะ 
และอาจให้กายบริบูรณ์ หรือไม่บริบูรณ์
ก็เพราะคูถเสมหะ
ถ้าจะแก้อย่าให้เสียเจ้าของเดิมโดยพิกัด
        ท่านจึงจัดไว้ว่า 4 เดือนนี้เป็นเหมันต
สมุฏฐาน เป็นสมุฏฐานแห่งเสมหะ คือ 
คูถเสมหะ ด้วยว่าคูถเสมหะนี้
เป็นหลักแห่งสมุฏฐาน ซึ่งจะวิบัตินั้น 
ก็อาศัยแห่งสมุฏฐานนั้นเป็นที่บำรุง 
อาจจะให้วัฒนะ และหายนะได้โดยแท้ 
ดุจท่านตราลงไว้ให้แจ้งเป็นมหาพิกัด
สมุฏฐานฤดู 3 หมวดหนึ่ง


สรุปมหาพิกัดในสมุฏฐานแห่งฤดู 3

1. คิมหันตฤดู (คิมหันตสมุฏฐาน) 
ตั้งแต่แรม 1 ค่ำเดือน 4 ไปจนถึงขึ้น15 เดือน 8 
(120 วัน) เป็นพิกัดแห่งปิตตะสมุฏฐาน 
แบ่งออกเป็นพิเศษสมุฏฐานละ 3 ดังนี้
    1) พัทธปิตตะ 40 วัน
    2) อพัทธปิตตะ 40 วัน
    3) กำเดา 40 วัน

2. วสันตฤดู หรือ วัสสานฤดู (วัสสานสมุฏฐาน) 
ตั้งแต่แรม 1 ค่ำเดือน 8 ไปจนถึงขึ้น 15 ค่ำเดือน 12  
(120 วัน) เป็นพิกัดแห่งวาตะสมุฏฐาน 
แบ่งออกเป็นพิเศษสมุฏฐานละ 3 ดังนี้
     1) หทัยวาตะ 40 วัน
     2) สัตถกะวาตะ 40 วัน
     3) สุมนาวาตะ 40 วัน

3. เหมันตฤดู (เหมันตสมุฏฐาน)
ตั้งแต่แรม 1 ค่ำเดือน 12 ไปจนถึงขึ้น 15 เดือน 4  
(120 วัน) เป็นพิกัดแห่งเสมหะสมุฎฐาน 
แบ่งออกเป็นพิเศษสมุฏฐานละ 3 ดังนี้
     1) ศอเสมหะ 40 วัน 
     2) อุระเสมหะ 40 วัน
     3) คูถเสมหะ 40 วัน

กล่าวโดยพิสดารในฤดูสมุฏฐาน 6
การจัดแบ่งโดยพิสดารในฤดูสมุฏฐาน 6  
ดังต่อไปนี้
1. คิมหันตฤดู (คิมหันตสมุฏฐาน) 
    แบ่งออกเป็น 3 ช่วงๆ ละ 20 วัน
2. วสันตฤดู (วสันตสมุฏฐาน) 
    แบ่งออกเป็น 3 ช่วงๆ ละ 20 วัน
3. วัสสานฤดู (วัสสานสมุฏฐาน) 
    แบ่งออกเป็น 3 ช่วงๆ ละ 20 วัน
4. สาระทะฤดู (สาระทะสมุฏฐาน) 
    แบ่งออกเป็น 3 ช่วงๆ ละ 20 วัน
5. เหมันตฤดู (เหมันตสมุฏฐาน) 
    แบ่งออกเป็น 3 ช่วงๆ ละ 20 วัน
6. ศิศิระฤดู (ศิศิระสมุฏฐาน) 
    แบ่งออกเป็น 3 ช่วงๆ ละ 20 วัน

1. คิมหันตฤดู (คิมหันตสมุฏฐาน)
คือ นับตั้งแต่แรม 1 ค่ำเดือน 4 ไปจนถึง
ขึ้น 15 ค่ำเดือน 6 (60 วัน) เป็นพิกัดปิตตะสมุฏฐาน 
เสมหะสมุฏฐานระคน ใช่จะเป็นปิตตะทั้งฤดูก็หาไม่ 
แบ่งออกเป็นพิเศษสมุฏฐานละ 3 ดังนี้:-
1) นับตั้งแต่แรม 1 ค่ำเดือน 4 ไปจนถึงขึ้น 5 ค่ำ 
เดือน 5 (20 วัน)
เป็นพิกัดพัทธปิตตะสมุฏฐานกระทำ 
แต่จะได้จลนะ (เคลื่อนไป) นั้นหามิได้ 
อาศัยเสมหะกล้าระคน 1 ส่วน  
อพัทธปิตตะกล้าระคน 2 ส่วน รวมเป็น 3 ส่วน  
จตุกาลเตโช (ธาตุไฟ 4) เจือกระทบ
ให้พัทธปิตตะสมุฏฐานเจ้าเรือนจลนะ (เคลื่อนไป) 
ยิ่งขึ้น  ถ้าจะแก้อย่าให้เสียเจ้าของเดิม 3 ส่วน 
แก้เจือตามระคนโดยพิกัด
2) นับตั้งแต่ขึ้น 6 ค่ำ เดือน 5 ไปจนถึง
แรม 10 ค่ำเดือน 5 (20 วัน)
เป็นพิกัดอพัทธปิตตะสมุฏฐานจลนะ (เคลื่อนไป) 
กล้า เสมหะสมุฏฐานเป็นกลางระคน 1 ส่วน 
กำเดากล้าระคน 2 ส่วน รวมเป็น 3 ส่วน 
จตุกาลเตโช (ธาตุไฟ 4) เจือกระทบ
ให้อพัทธปิตตะเจ้าเรือนจลนะ (เคลื่อนไป) 
ยิ่งขึ้นถ้าจะแก้อย่าให้เสียเจ้าของเดิม 3 ส่วน 
แก้เจือตามระคนโดยพิกัด

3) นับตั้งแต่แรม 11 ค่ำเดือน 5 ไปจนถึง
ขึ้น 15 ค่ำเดือน 6 (20 วัน)
เป็นพิกัดกำเดาสมุฏฐานจลนะ (เคลื่อนไป) กล้า 
เสมหะสมุฏฐานอ่อนระคน 1 ส่วน 
อพัทธปิตตะกล้าระคน 2 ส่วน รวมเป็น 3 ส่วน 
จตุกาลเตโชเจือกระทบกำเดาเจ้าเรือน
ให้จลนะยิ่งขึ้นถ้าจะแก้อย่าให้เสียเจ้าของเดิม 
3 ส่วน แก้เจือระคนโดยพิกัด

2. วสันตฤดู (วสันตสมุฏฐาน)
คือ นับตั้งแต่แรม 1 ค่ำเดือน 6 ไปจนถึง
ขึ้น 15 ค่ำเดือน 8 (60 วัน)
เป็นพิกัดปิตตะสมุฏฐานระคน 
ใช่จะเป็นปิตตะทั้งฤดูก็หามิได้ 
แบ่งออกโดยพิเศษสมุฏฐานละ 3 ดังนี้:-
1)  นับตั้งแต่แรม 1 ค่ำเดือน 6 ไปจนถึง
ขึ้น 15 ค่ำเดือน 7 (20 วัน)
เป็นพิกัดพัทธสมุฏฐาน 
วาตะสมุฏฐานระคน 2 ส่วน 
อพัทธะปิตตะระคน 1 ส่วน 
รวมเป็น 3 ส่วน  
จตุกาลเตโช (ธาตุไฟ 4) เจือกระทบ
พัทธะปิตตะเจ้าเรือนให้จลนะ (เคลื่อนไป)
ถ้าจะแก้อย่าให้เสียเจ้าของเดิม3 ส่วน 
แก้เจือตามระคนโดยพิกัด

         2) ตั้งแต่ขึ้น 6 ค่ำ เดือน 7 ไปจนถึง
แรม 10 ค่ำ เดือน 7 (20 วัน)
เป็นพิกัดพัทธปิตตะสมุฏฐาน 
วาตะสมุฏฐานระคน 2 ส่วน 
กำเดาระคน 1 ส่วน 
รวมเป็น 3 ส่วน 
จตุกาลเตโช (ธาตุไฟ 4) เจืออพัทธปิตตะ
เจ้าเรือนให้จลนะ (เคลื่อนไป)
ถ้าจะแก้อย่าใหเสียเจ้าของเดิม 3 ส่วน 
แก้เจือตามระคนโดยพิกัด

        3) ตั้งแต่แรม 11 ค่ำ เดือน 7 ไปจนถึง
ขึ้น 15 ค่ำเดือน 8 (20 วัน)
เป็นพิกัดกำเดาสมุฏฐาน 
วาตะสมุฏฐานระคน 3 ส่วน 
อพัทธปิตตะระคน จตุกาลเตโช (ธาตุไฟ 4) 
เจือกระทบกำเดาเจ้าเรือนให้จลนะ (เคลื่อนไป)
ถ้าจะแก้อย่าให้เสียเจ้าของเดิม 3 ส่วน 
แก้เจือตามระคนโดยพิกัด

3. วัสสานฤดู (วัสสานสมุฏฐาน)
คือ นับตั้งแต่แรม 1 ค่ำเดือน 8 ไปจนถึง
ขึ้น 15 ค่ำเดือน 10 (60 วัน)
เป็นปิตตะแห่งวาตะสมุฏฐาน 
ปิตตะสมุฏฐานระคน ใช่จะเป็นวาตะ
ทั้งฤดูนั้นหามิได้แบ่งออกโดยพิเศษ
สมุฏฐานละ 3 ดังนี้:-
1) นับตั้งแต่แรม 1 ค่ำเดือน 8 ไปจนถึง
ขึ้น 5 ค่ำเดือน 9 (20 วัน)
เป็นพิกัดหทัยวาตะสมุฏฐาน 
ปิตตะสมุฏฐานระคน 1 ส่วน 
สัตถกวาตะระคน 2 ส่วน รวมเป็น 3 ส่วน  
ฉกาลวาโย (ธาตุลม 6) เจือกระทบ
หทัยวาตะเจ้าเรือนให้จลนะ (เคลื่อนไป)
ถ้าจะแก้อย่าให้เสียเจ้าของเดิม 3 ส่วน 
แก้เจือตามระคนโดยพิกัด
         2) นับตั้งแต่ขึ้น 6 ค่ำเดือน 9 ไปจนถึง
            แรม 10 ค่ำเดือน 9 (20 วัน)
เป็นพิกัดสัตถกะวาตะสมุฏฐาน 
ปิตตะสมุฏฐานระคน 1 ส่วน 
สุมนาวาตะระคน 2 ส่วน รวมเป็น 3 ส่วน  
ฉกาลวาโย (ธาตุลม 6) เจือกระทบ
สัตถกวาตะเจ้าเรือนให้จลนะ (เคลื่อนไป)
ถ้าจะแก้อย่าให้เสียเจ้าของเดิม 3 ส่วน 
แก้เจือตามระคนโดยพิกัด
         3) นับตั้งแต่แรม 11 ค่ำเดือน 9 ไปจนถึง
            ขึ้น 15 ค่ำเดือน 10 (20 วัน)
เป็นพิกัดสุมนาวาตะสมุฏฐานกล้า
ปิตตะสมุฏฐานอ่อนระคน 1 ส่วน 
สัตถกวาตะระคน 2 ส่วน รวมเป็น 3 ส่วน  
ฉกาลวาโย (ธาตุลม 6) เจือกระทบ
ให้สุมนาวาตะเจ้าเรือนให้จลนะ (เคลื่อนไป) 
ถ้าจะแก้อย่าให้เสียเจ้าของเดิม 3 ส่วน 
แก้เจือตามระคนโดยพิกัด

4. สาระทะฤดู (สาระทะสมุฏฐาน)
คือ นับตั้งแต่แรม 1 ค่ำเดือน 10 ไปจนถึง
ขึ้น 15 ค่ำเดือน 12 (60 วัน) 
เป็นพิกัดวาตะสมุฏฐาน เสมหะสมุฏฐานระคน
ใช่จะเป็นวาตะทั้งฤดูนั้นหามิได้
แบ่งออกโดยพิกัดพิเศษสมุฏฐานละ 3 ดังนี้:-
1)  นับตั้งแต่แรม 1 ค่ำเดือน 10 ไปจนถึง
ขึ้น 5 ค่ำเดือน 11 (20 วัน)
เป็นพิกัดหทัยวาตะสมุฏฐาน 
เสมหะสมุฏฐานระคน 2 ส่วน 
สัตถกะวาตะระคน 1 ส่วน รวมเป็น 3 ส่วน 
ฉกาลวาโย (ธาตุลม 6) เจือกระทบ
หทัยวาตะเจ้าเรือนให้จลนะ (เคลื่อนไป) 
ถ้าจะแก้อย่าให้เสียเจ้าของเดิม 3 ส่วน
 แก้เจือตามระคนโดยพิกัด
         2) นับตั้งแต่ขึ้น 6 ค่ำเดือน 11 ไปจนถึง
            แรม 10 ค่ำเดือน 11 (20 วัน)
เป็นพิกัดสัตถกะวาตะสมุฏฐาน 
เสมหะสมุฏฐานระคน 2 ส่วน
สุมนาระคน 1 ส่วน รวมเป็น 3 ส่วน  
ฉกาลวาโย (ธาตุลม 6) เจือกระทบ
ให้สัตถกะวาตะเจ้าเรือนจลนะ (เคลื่อนไป)
ถ้าจะแก้อย่าให้เสียเจ้าของเดิม 3 ส่วน 
แก้เจือตามระคนโดยพิกัด
         3) นับตั้งแต่แรม 11 ค่ำเดือน 11 ไปจนถึง
            ขึ้น 15 ค่ำเดือน 12 (20 วัน)
เป็นพิกัดสุมนาสมุฏฐาน
เสมหะสมุฏฐานระคน 3 ส่วน
สัตถกวาตะระคน
ไม่ควรแก้ ฉกาลวาโย (ธาตุลม 6) เจือกระทบ
สุมนาวาตะเจ้าเรือนให้จลนะ (เคลื่อนไป) 
ถ้าจะแก้อย่าให้เสียเจ้าของเดิม 3 ส่วน 
แก้เจือตามระคนโดยพิกัด

5. เหมันตฤดู (เหมันตสมุฏฐาน)
คือ นับตั้งแต่แรม 1 ค่ำเดือน 12 ไปจนถึง
ขึ้น 15 ค่ำเดือน 2 (60 วัน)
เป็นพิกัดแห่งเสมหะสมุฏฐาน 
วาตะสมุฏฐานระคน ใช่จะเป็นเสมหะ
ทั้งฤดูนั้นหามิได้
แบ่งออกโดยพิเศษสมุฏฐานละ 3 ดังนี้:-
1)  นับตั้งแต่แรม 1 ค่ำเดือน 12 ไปจนถึง
ขึ้น 5 ค่ำเดือน 1 (20 วัน)
เป็นพิกัดศอเสมหะสมุฏฐาน 
วาตะสมุฏฐานระคน 2 ส่วน
อุระเสมหะระคน 1 ส่วน รวมเป็น 3 ส่วน 
กาลทวาทศอาโป (ธาตุน้ำ 12) เจือกระทบ
ศอเสมหะเจ้าเรือนให้จลนะ (เคลื่อนไป)
ถ้าจะแก้อย่าให้เสียเจ้าของเดิม 3 ส่วน 
แก้เจือตามระคนโดยพิกัด
         2)  นับตั้งแต่ขึ้น 6 ค่ำเดือน 1 ไปจนถึง
               แรม 10 ค่ำเดือน 1 (20 วัน)
เป็นพิกัดอุระเสมหะสมุฏฐาน 
วาตะสมุฏฐานระคน 2 ส่วน
คูถเสมหะระคน 1 ส่วน  รวมเป็น 3 ส่วน 
กาลทวาทศอาโป (ธาตุน้ำ 12) เจือกระทบ
อุระเสมหะเจ้าเรือนให้จลนะ (เคลื่อนไป)
ถ้าจะแก้อย่าให้เสียเจ้าของเดิม 3 ส่วน  
แก้เจือตามระคนโดยพิกัด
         3) นับตั้งแต่แรม 11 ค่ำเดือน 1 ไปจนถึง
            ขึ้น 15 ค่ำเดือน 2 (20 วัน)
เป็นพิกัดคูถเสมหะสมุฏฐานกล้า 
วาตะสมุฏฐานอ่อนระคน 1 ส่วน 
อุระเสมหะกล้าระคน 2 ส่วน รวมเป็น 3 ส่วน 
กาลทวาทศอาโป (ธาตุน้ำ 12) เจือกระทบ
คูถเสมหะเจ้าเรือนให้จลนะ (เคลื่อนไป)
ถ้าจะแก้อย่าให้เสียเจ้าของเดิม 3 ส่วน  
แก้เจือตามระคนโดยพิกัด

6. ศิศิระฤดู (ศิศิระสมุฏฐาน)
คือ นับตั้งแต่แรม 1 ค่ำเดือน 2 ไปจนถึง
ขึ้น 15 ค่ำเดือน 4 (60 วัน)
เป็นพิกัดเสมหะสมุฏฐาน 
ปิตตะสมุฏฐานระคน แต้จะเป็นเสมหะ
ทั้งฤดูนั้นหามิได้
แบ่งออกโดยพิเศษสมุฏฐานละ 3 ดังนี้:-
         1) นับตั้งแต่แรม 1 ค่ำเดือน 2 ไปจนถึง
            ขึ้น 5 ค่ำเดือน 3 (20 วัน)
เป็นพิกัดศอเสมหะสมุฏฐาน 
ปิตตะสมุฏฐานระคน 1 ส่วน 
อุระเสมหะระคน 2 ส่วน รวมเป็น 3 ส่วน 
กาลทวาทศอาโป (ธาตุน้ำ 12) เจือกระทบ
ศอเสมหะเจ้าเรือนให้จลนะ (เคลื่อนไป)
ถ้าจะแก้อย่าให้เสียเจ้าของเดิม 3 ส่วน  
แก้เจือตามระคนโดยพิกัด
         2) นับตั้งแต่ขึ้น 6 ค่ำเดือน 3 ไปจนถึง
            แรม 10 ค่ำเดือน 3 (20 วัน)
เป็นพิกัดอุระเสมหะสมุฏฐาน 
ปิตตะสมุฏฐานระคน 2 ส่วน
คูถเสมหะระคน 1 ส่วน รวมเป็น 3 ส่วน 
กาลทวาทศอาโป (ธาตุน้ำ 12) เจือกระทบ
อุระเสมหะเจ้าเรือนให้จลนะ (เคลื่อนไป)
ถ้าจะแก้อย่าให้เสียเจ้าของเดิม 3 ส่วน 
แก้เจือตามระคนโดยพิกัด
         3) นับตั้งแต่แรม 11 ค่ำเดือน 3 ไปจนถึง
            ขึ้น 15 ค่ำเดือน 4 (20 วัน)
เป็นพิกัดคูถเสมหะสมุฏฐาน 
ปิตตะสมุฏฐานระคน 3 ส่วน
อุระเสมหะระคน
ไม่ควรแก้ ทวาทศอาโป (ธาตุน้ำ 12) เจือกระทบ
คูถเสมหะเจ้าเรือนให้จลนะ (เคลื่อนไป) 
ถ้าจะแก้อย่าให้เสียเจ้าของเดิม 3 ส่วน 
แก้เจือตามระคนโดยพิกัด


สรุปกล่าวโดยพิสดารในฤดูสมุฏฐาน 6

1. คิมหันตฤดู แบ่งออกได้ดังนี้ (60 วัน)
1) พัทธะปิตตะ 20 วัน
2) อพัทธะปิตตะ 20 วัน
3) กำเดา 20 วัน
2. วสันตฤดู แบ่งออกได้ดังนี้ (60 วัน)
1) พัทธปิตตะ 20 วัน
2) อพัทธปิตตะ 20 วัน
3) กำเดา 20 วัน
3. วัสสานฤดู แบ่งออกได้ดังนี้ (60 วัน)
1) หทัยวาตะ 20 วัน 
2) สัตถกวาตะ 20 วัน 
3) สุมนาวาตะ 20 วัน
4. สาระทะฤดู แบ่งออกได้ดังนี้ (60 วัน)
1) หทัยวาตะ 20 วัน 
2) สัตถกวาตะ 20 วัน 
3) สุมนาวาตะ 20 วัน
5. เหมันตฤดู แบ่งออกได้ดังนี้ (60 วัน)
1) ศอเสมหะ 20 วัน 
2) อุระเสมหะ 20 วัน 
3) คูถเสมหะ 20 วัน
6. ศิศิระฤดู แบ่งออกได้ดังนี้ (60 วัน)
1) ศอเสมหะ 20 วัน 
2) อุระเสมหะ 20 วัน 
3) คูถเสมหะ 20 วัน

 

อายุสมุฏฐาน 
แบ่งออกเป็นได้ 3 วัย ดังนี้
1) ปฐมวัย (พาลทารก หรือวัยทารก) 
2) มัชฌิมวัย (พาลปานกลาง หรือวัยกลางคน) 
3) ปัจฉิมวัย (พาลผู้เฒ่า หรือวัยผู้เฒ่า)
1. ปฐมวัย (พาลทารก หรือวัยทารก)
นับแต่คลอดจากครรภ์มารดา จนอายุได้ 16 ปี 
เสมหะเป็นเจ้าเรือนเจือไปในสมุฏฐานทั้งปวง 
ถ้าจะให้โทษก็มีกำลังกว่าสมุฏฐานทั้งหลาย 
คือ หมายความว่า ตั้งแต่แรกเกิดถึงอายุ 16 ปี 
เป็นอายุแห่งเสมหะ ถ้าบังเกิดโรคมีกำลัง 12 องศา
เป็นกำหนด ถ้าเป็นโรคสิ่งใดให้ตั้งเสมหะ เป็นต้น 
วาตะเป็นที่สุด

2. มัชฌิมวัย (พาลปานกลาง หรือวัยกลางคน)
นับตั้งแต่อายุ 16 ปีขึ้นไปจนถึง 30 ปี ปิตตะ
เป็นเจ้าเรือนย่อมเจือไปในสมุฏฐานทั้งปวง 
ถ้าจะให้โทษก็มีกำลังกว่าสมุฏฐานทั้งหลาย 
คือ หมายความว่า ตั้งแต่อายุ 16 - 30 ปี เป็นอายุ
แห่งปิตตะ ถ้าจะบังเกิดโรคมีกำลัง 7 องศา
เป็นกำหนด ถ้าเป็นไข้ลงในอายุสมุฏฐานนี้ 
ให้ตั้งปิตตะ เป็นต้น เสมหะเป็นที่สุด

3. ปัจฉิมวัย (พาลผู้เฒ่า หรือวัยผู้เฒ่า)
นับตั้งแต่อายุ 30 ปีขึ้นไป จนถึงอายุขัย วาตะเป็น
เจ้าเรือนเจือไปในสมุฏฐานทั้งปวง ถ้าจะให้โทษ
ก็มีกำลังกว่าสมุฏฐานทั้งหลาย คือ หมายความว่า 
ตั้งแต่อายุ  30 ปีขึ้นไป ถึงสิ้นอายุขัยเป็นอายุแห่ง
วาตะถ้าบังเกิดโรคมีกำลัง 10 องศา ถ้าเป็นไข้ลงใ
นอายุสมุฏฐานนี้ให้ตั้งวาตะ เป็นต้น ปิตตะเป็นที่สุด

กาลสมุฏฐาน

กล่าวถึงกาล 3 ว่า เป็นสมุฏฐานของโรค ดังนี้


1. กาล 3 กลางวัน
    1) ตั้งแต่ย่ำรุ่งจนถึง 4 โมงเช้า (06.00 น. - 10.00 น.)
         เป็นพิกัดเสมหะกระทำ

    2) ตั้งแต่ 4 โมงเช้าถึงบ่าย 2 โมง (11.00 น. - 14.00 น.)
         เป็นพิกัดปิตตะกระทำ

    3) ตั้งแต่บ่าย 2 โมงถึงย่ำค่ำ (15.00 น. - 18.00 น.)
         เป็นพิกัดวาตะกระทำ


2. กาล 3 กลางคืน
    1) ตั้งแต่ย่ำค่ำจนถึง 4 ทุ่ม (18.00 น. - 22.00 น.)
         เป็นพิกัดเสมหะ กระทำ

    2) ตั้งแต่ 4 ทุ่มถึงตี 2 (23.00 น. - 02.00 น.)

         เป็นพิกัดปิตตะกระทำ

    3)  ตั้งแต่ตี 2 ถึงย่ำรุ่ง (03.00 น. - 06.00 น.)

          เป็นพิกัดวาตะกระทำ

หมายเหตุ ช่วงระยะเวลาในกาลสมุฏฐานนี้ 
อ้างอิง ตำราแพทย์ศาสตร์สงเคราะห์

เสมหะ ปิตตะ และวาตะกำเริบ ในกาลดังนี้
1. เสมหะกำเริบ ในกาลเมื่อเช้าก็ดีื
เมื่อบริโภคอาหารแล้วก็ดี ในเมื่อพลบค่ำก็ดี 
เป็นกระทรวง (ส่วน) กาลสมุฏฐานเสมหะกระทำ

2. ปิตตะกำเริบ ในกาลเมื่อตะวันเที่ยงก็ดี 
ในกาลเมื่ออาหารยังไม่ย่อยยับก็ดี 
ในกาลเมื่อเที่ยงคืนก็ดี เป็นกระทรวง (ส่วน) 
กาลสมุฏฐานปิตตะกระทำ 

3. วาตะกำเริบ ในกาลเมื่อบ่ายก็ดี 
ในกาลเมื่ออาหารย่อยแล้ว และในกาล
เมื่อนอนหลับ เป็นกระทรวง (ส่วน) 
กาลสมุฏฐานวาตะกระทำ


สันนิบาต 
(คนไข้โรคนี้ในสมัยก่อนหมอต้องเฝ้าระวัง)
การที่จะเป็นสันนิบาติได้นั้น อาศัยกำลัง
จากสมุฏฐานทั้ง 3 คือ ปิตตะสมุฏฐาน 
วาตะสมุฏฐาน และเสมหะสมุฏฐาน ระคนกันเข้า
เป็นพร้อมกัน คือให้โทษพร้อมกัน จึงเรียกว่า
เป็นสันนิบาต กำหนดดังนี้
1. ปิตตะ มีกำลัง 7 องศา (7 วัน)
2. วาตะ มีกำลัง 10 องศา (10 วัน) 
3. เสมหะ มีกำลัง 12 องศา (12 วัน)
ปิตตะสมุฏฐาน 
นับแต่ล้มไข้ลง องศา 1 ไปจนถึง 7 องศา
เป็นกำหนด ไม่ได้ถอย และคลายลง 
รุ่งขึ้นเป็น 8 องศา ตกเข้าในระหว่างเสมหะสมุฏฐาน 
โรคบังเกิดปิตตะเจือไป 2 ส่วน จนถึง 12 องศา 
เข้ากันทั้งปิตตะ และเสมหะสมุฏฐาน เป็น 19 องศา 
และยังไม่ได้ถอย และคลายลง 
รุ่งขึ้นเป็น 20 องศา ตกเข้าในระหว่างวาตะสมุฏฐาน 
โรคปิตตะเจือติดไป 1 ส่วน เสมหะเจือไป 2 ส่วน 
จนถึง 10 องศา ระคนกันเข้าทั้ง 3 สมุฏฐาน 
เป็น 29 องศา ยังไม่ถอย และคลายลง 
พอรุ่งขึ้นเป็น 30 องศาแล้วจึงตกไประหว่าง
สันนิบาต จึงเรียกว่าเป็นสันนิบาตโทษ 3 ได้แก่ 

กาลเอกโทษ
ส = เสมหะ, ป = ปิตตะ, ว = วาตะ, 
ชาติ (เกิดขึ้น), เอก = 1

1. กาลเอกโทษ 
คือ โทษของเสมหะ ปิตตะ หรือวาตะ 
อย่างใดอย่างหนึ่ง กระทำในเวลาของกาลนั้นๆ 
จะมีอย่างอื่นระคนก็เพียงส่วนน้อย และมีเวลา
ของกาลนั้นกระทำเต็มที่ในโอกาสหนึ่ง 
จะได้ระคนอย่างอื่นหามิได้


    1) กาลเอกโทษเสมหะ
        (1) ตั้งแต่ย่ำรุ่ง ถึง 1 โมงเช้า (06.00-07.00) 
              เสมหะกระทำ 2 ส่วน 
              วาตะใกล้รุ่งเจือระคน 1 ส่วน

        (2) ตั้งแต่ 1 โมงเช้า ถึง 2 โมงเช้า (07.00-08.00) 
              เสมหะกระทำเต็มที่ 3 ส่วน 
              ไม่มีอะไรระคน

        (3) ตั้งแต่ 2 โมงเช้า ถึง 3 โมงเช้า (08.00-09.00) 
              เสมหะกระทำเต็มที่ 3 ส่วน 
              ไม่มีอะไรระคน 

        (4) ตั้งแต่ 3 โมงเช้า ถึง 4 โมงเช้า (09.00-10.00) 
              เสมหะ 2 ส่วน 
              ปิตตะ  1 ส่วน 

หมายเหตุ 
อันนี้เป็นพิกัดสมุฏฐานเสมหะในเวลาเช้า 4 ชั่วโมง

      2) กาลเอกโทษปิตตะ
          (1) ตั้งแต่ 4 โมงเช้า ถึง 5 โมงเช้า (10.00-11.00) 
                ปิตตะ   2 ส่วน 
                เสมหะ 1 ส่วน

          (2) ตั้งแต่ 5 โมงเช้า ถึง เที่ยง (11.00-12.00) 
                ปิตตะกระทำเต็มที่ 3 ส่วน 
                ไม่มีอะไรระคน

          (3) ตั้งแต่ เที่ยงถึง บ่ายโมง (12.00-13.00) 
                ปิตตะกระทำเต็มที่ 3 ส่วน 
                ไม่มีอะไรระคน 

          (4) ตั้งแต่บ่ายโมง ถึง 2 โมง (13.00-14.00) 
                ปิตตะ 2 ส่วน 
                วาตะ  1 ส่วน 

หมายเหตุ 
อันนี้เป็นพิกัดสมุฏฐานปิตตะในเวลากลางวัน 4 ชั่วโมง

      3) กาลเอกโทษวาตะ
          (1) ตั้งแต่ บ่าย 2 โมง ถึง 
               บ่าย 3 โมงเช้า (14.00-15.00) 
               วาตะ  2 ส่วน 
               ปิตตะ 1 ส่วน

          (2) ตั้งแต่ บ่าย 3 โมง ถึง 
               บ่าย 4 โมง (15.00-16.00) 
               วาตะกระทำเต็มที่ 3 ส่วน 
               ไม่มีอะไรระคน

          (3) ตั้งแต่ บ่าย 4 โมง ถึง 
               บ่าย 5 โมง (16.00-17.00) 
               วาตะกระทำเต็มที่ 3 ส่วน 
               ไม่มีอะไรระคน 

          (4) ตั้งแต่ บ่าย 5 โมง ถึง 
               ย่ำค่ำ (17.00-18.00) 
               วาตะ    2 ส่วน 
               เสมหะ 1 ส่วน

หมายเหตุ  
อันนี้เป็นพิกัดสมุฏฐานวาตะในเวลาเย็น 4 ชั่วโมง
กลางคืนให้แบ่ง 3 ฐานดุจเดียวกัน 
รวมเป็น 6 สมุฏฐาน เรียกว่า กองธาตุกาลเอกโทษ 
สมุฏฐานพิกัดหมวดหนึ่ง


กาลทุวันโทษ
ส = เสมหะ, ป = ปิตตะ, ว = วาตะ, 
จะละนะ (เคลื่อนไป), ทุวัน = 2

2. กาลทุวันโทษ 

        คือ โทษ 2 อย่างระคนกัน จะมีอย่างที่ 3 
มมาระคนก็เป็นส่วนน้อย
        และมีเวลาของกาลนั้นทำอยู่ในโอกาสหนึ่ง 
จจะไม่มีอะไรระคน

    1) เสมหะทุวันโทษ
         (1) ตั้งแต่ ย่ำรุ่ง ถึง 1 โมงเช้า (06.00-07.00) 

                   เสมหะ 1 ส่วน 
                   วาตะ   2 ส่วน

         (2) ตั้งแต่ 1 โมงเช้า ถึง 2 โมงเช้า (07.00-08.00) 

                   เสมหะ 2 ส่วน 
                   วาตะ   1 ส่วน

         (3) ตั้งแต่ 2 โมงเช้า ถึง 3 โมงเช้า (08.00-09.00) 
                   เสมหะ 2 ส่วน 
                   ปิตตะ  1 ส่วน

         (4) ตั้งแต่ 3 โมงเช้า ถึง 4 โมงเช้า (09.00-10.00) 

                   เสมหะ 1 ส่วน 
                   ปิตตะ  2 ส่วน

    2) ปิตตะทุวันโทษ
        (1) ตั้งแต่ 4 โมงเช้า ถึง 5 โมงเช้า (10.00-11.00) 

                  ปิตตะ   1 ส่วน 
                  เสมหะ 2 ส่วน

        (2) ตั้งแต่ 5 โมงเช้า ถึง เที่ยง (11.00-12.00) 

                  ปิตตะ  2 ส่วน 
                  เสมหะ 1 ส่วน

        (3) ตั้งแต่ เที่ยงถึง บ่ายโมง (12.00-13.00) 

                  ปิตตะ 2 ส่วน 
                  วาตะ  1 ส่วน

        (4) ตั้งแต่ บ่ายโมง ถึงบ่าย 2 โมง (13.00-14.00) 

                 ปิตตะ 1 ส่วน 
                 วาตะ  2 ส่วน

    3) วาตะทุวันโทษ
        (1) ตั้งแต่ บ่าย 2 โมง ถึง 
                  บ่าย 3 โมงเช้า (14.00-15.00) 
                 วาตะ  1 ส่วน 
                 ปิตตะ 2 ส่วน

        (2) ตั้งแต่ บ่าย 3 โมง ถึง 
                 บ่าย 4 โมง (15.00-16.00) 
                 วาตะ  2 ส่วน 
                 ปิตตะ 1 ส่วน

        (3) ตั้งแต่ บ่าย 4 โมง ถึง 
                  บ่าย 5 โมง (16.00-17.00) 
                 วาตะ    2 ส่วน 
                 เสมหะ 1 ส่วน

            (4) ตั้งแต่ บ่าย 5 โมง ถึง 
                     ย่ำค่ำ (17.00-18.00) 
                 วาตะ    1 ส่วน 
                 เสมหะ 2 ส่วน

หมายเหตุ 
กลางคืนให้แบ่งดุจเดียวกัน จัดเป็นกองจลนะ
  สมุฏฐานทุวันโทษหมวดหนึ่ง

กาลตรีโทษ
ส = เสมหะ, ป = ปิตตะ, ว = วาตะ, 
ภินนะ (แตก), ตรี = 3


3. กาลตรีโทษ 
         คือ โทษ 3 อย่างระคนกันไปโดยตลอด 
    จะได้มีช่องอย่างใดอย่างหนึ่งมากระทำมิได้ 
    ย่อมระคนกันอยู่ตลอดไปทั้ง 3 อย่าง

    1) ตรีโทษเสมหะ
        (1) ตั้งแต่ ย่ำรุ่ง ถึง 1 โมงเช้า (06.00-07.00) 

                  เสมหะ 1 ส่วน 
                  วาตะ   4 ส่วน 
                  ปิตตะ  1 ส่วน

        (2) ตั้งแต่ 1 โมงเช้า ถึง 
2 โมงเช้า (07.00-08.00) 
                      เสมหะ 2 ส่วน 
                  วาตะ   3 ส่วน 
                  ปิตตะ  2 ส่วน

        (3) ตั้งแต่ 2 โมงเช้า ถึง 3 โมงเช้า (08.00-09.00) 

                  เสมหะ 2 ส่วน 
                  วาตะ   2 ส่วน 
                  ปิตตะ  3 ส่วน

        (4) ตั้งแต่ 3 โมงเช้า ถึง 4 โมงเช้า (09.00-10.00) 

                  เสมหะ 1 ส่วน 
                  วาตะ   1 ส่วน 
                  ปิตตะ  4 ส่วน

     2) ตรีโทษปิตตะ

         (1) ตั้งแต่ 4 โมงเช้า ถึง 5 โมงเช้า (10.00-11.00) 

                   ปิตตะ   1 ส่วน 
                   เสมหะ 4 ส่วน 
                   วาตะ    1 ส่วน

         (2) ตั้งแต่ 5 โมงเช้า ถึง เที่ยง (11.00-12.00) 

                   ปิตตะ   2 ส่วน 
                   เสมหะ  3 ส่วน 
                   วาตะ    2 ส่วน

             (3) ตั้งแต่ เที่ยงถึง บ่ายโมง (12.00-13.00) 
                   ปิตตะ   2 ส่วน 
                   เสมหะ  2 ส่วน 
                   วาตะ     3 ส่วน

         (4) ตั้งแต่ บ่ายโมง ถึง 2 โมง (13.00-14.00)

                   ปิตตะ   1 ส่วน 
                   เสมหะ  1 ส่วน 
                   วาตะ     4 ส่วน

     3) ตรีโทษวาตะ
         (1) ตั้งแต่ บ่าย 2 โมงถึง
                   บ่าย 3 โมงเช้า (14.00-15.00) 
                   วาตะ    1 ส่วน 
                   ปิตตะ   4 ส่วน 
                   เสมหะ  1 ส่วน

        (2) ตั้งแต่ บ่าย 3 โมง ถึง 
                  บ่าย 4 โมง (15.00-16.00) 
                  วาตะ    2 ส่วน 
                  ปิตตะ   3 ส่วน 
                  เสมหะ  2 ส่วน

        (3) ตั้งแต่ บ่าย 4 โมง ถึง 
                 บ่าย 5 โมง (16.00-17.00) 
                  วาตะ    2 ส่วน 
                  ปิตตะ   2 ส่วน 
                  เสมหะ  3 ส่วน

        (4) ตั้งแต่ บ่าย 5 โมง ถึง 
                  ค่ำ (17.00-18.00) 
                  วาตะ   1 ส่วน 
                  ปิตตะ  1 ส่วน 
                  เสมหะ 4 ส่วน

  หมายเหตุ 
      กลางคืนให้แบ่งดุจเดียวกัน จัดเป็นกองภินนะ
      สมุฏฐานตรีโทษหมวดหนึ่ง


ธาตุทั้ง 4 กำเริบ หย่อน พิการ 
ตามสุริยะคติดำเนินในห้วงจักรราศี มีดังนี้
 
       1. พระอาทิตย์สถิตย์ในราศีเมษ สิงห์ ธนู 
               เป็นราศีของเตโชธาตุ

       2. พระอาทิตย์สถิตในราศี พฤษภ กันย์ มังกร 
               เป็นราศีของปถวีธาตุ

       3. พระอาทิตย์สถิตในราศี เมถุน ตุลย์ กุมภ์ 
               เป็นราศีของวาโยธาตุ

       4. พระอาทิตย์สถิตในราศี กรกฎ พิจิก มีน 
              เป็นราศีของอาโปธาตุ



1. พิกัดราศีเตโชธาตุ กำเริบ หย่อน พิการ


      1) เตโชธาตุกำเริบ ตั้งแต่แรมค่ำ 1 เดือน 4 ถึง
              ขึ้น 15 ค่ำเดือน 5 
       พระอาทิตย์สถิตในราศีเมษ 
           เตโชธาตุสมุฏฐานกำเริบ 
       พัทธปิตตะ (ดีในฝัก) ระคนให้เป็นเหตุ

      2) เตโชธาตุหย่อน ตั้งแต่แรมค่ำ 1 เดือน 8 ถึง
               ขึ้น 15 ค่ำเดือน 9
       พระอาทิตย์สถิตในราศีสิงห์ 
           เตโชธาตุสมุฏฐานหย่อน 
       อพัทธปิตตะ (ดีนอกฝัก) ระคนให้เป็นเหตุ

      3) เตโชธาตุพิการ ตั้งแต่แรม 1 ค่ำเดือน 12 ถึง
             ขึ้น 15 ค่ำเดือน 1
       พระอาทิตย์สถิตในราศีธนู 
           เตโชธาตุสมุฏฐานพิการ 
       กำเดา (เปลวแห่งวาโยโลหิต) ระคนให้เป็นเหตุ


 

2. พิกัดราศีปถวีธาตุ กำเริบ หย่อน พิการ
        1) ปถวีธาตุกำเริบ ตั้งแต่แรมค่ำ 1 เดือน 5 ถึง
            ขึ้น 15 ค่ำเดือน 6 
        พระอาทิตย์สถิตย์ในราศีพฤษภ 
        ปถวีธาตุสมุฏฐานกำเริบ 
        หทัยวัตถุ (ก้อนเนื้อหัวใจ) ระคนให้เป็นเหตุ
       
           2) ปถวีธาตุหย่อน ตั้งแต่แรม 1 ค่ำเดือน 9 ถึง
           ขึ้น 15 ค่ำเดือน 10
       พระอาทิตย์ในราศีกันย์ ปถวีธาตุสมุฏฐานหย่อน 
       อุทริยะ (อาหารใหม่) ระคนให้เป็นเหตุ

       3) ปถวีธาตุพิการ ตั้งแต่แรมค่ำ 1 เดือน 1 ถึง
           ขึ้น 15 ค่ำเดือน 2 
       พระอาทิตย์ในราศีมังกร ปถวีธาตุสมุฏฐานพิการ 
       กรีสะ (อาหารเก่า) ระคนให้เป็นเหตุ




   3. พิกัดวาโยธาตุ กำเริบ หย่อน พิการ
       1) วาโยธาตุกำเริบ ตั้งแต่แรมค่ำ 1 เดือน 6 ถึง
           ขึ้น 15 ค่ำเดือน 7 
       พระอาทิตย์ในราศีเมถุน 
       วาโยธาตุสมุฏฐานกำเริบ 
       หทัยวาตะ (ลมที่หัวใจ) ระคนให้เป็นเหตุ

       2) วาโยธาตุหย่อน ตั้งแต่แรม 1 ค่ำเดือน 9 ถึง
          ขึ้น 15 ค่ำเดือน 10 
      พระอาทิตย์ในราศีตุลย์ 
      วาโยธาตุสมุฏฐานหย่อน 
      สัตถกวาตะ (ลมเสียดแทง) ระคนให้เป็นเหตุ

      3) วาโยธาตุพิการ ตั้งแต่แรม 1 ค่ำ  เดือน 2 ถึง
          ขึ้น 15 ค่ำเดือน 3 
      พระอาทิตย์ในราศีกุมภ์ วาโยธาตุสมุฏฐานพิการ 
      สุมนาวาตะ (ลมในเส้น) ระคนให้เป็นเหตุ



   4. พิกัดราศีอาโปธาตุ กำเริบ หย่อน พิการ
       1) อาโปธาตุกำเริบ ตั้งแต่แรม 1 ค่ำเดือน 7 ถึง
          ขึ้น 15 ค่ำเดือน 8
       พระอาทิตย์สถิตย์ในราศีกรกฏ 
       อาโปธาตุสมุฏฐานกำเริบ 
       ศอเสมหะ (เสมหะในลำคอ) ระคนให้เป็นเหตุ

       2) อาโปธาตุหย่อน ตั้งแต่แรม 1 ค่ำเดือน 11 ถึง
          ขึ้น 15 ค่ำเดือน 12
   พระอาทิตย์สถิตย์ในราศีพิจิก 
       อาโปธาตุสมุฏฐานหย่อน
   อุระเสมหะ (เสมหะในทรวงอก) ระคนให้เป็นเหตุ

       3) อาโปธาตุพิการ ตั้งแต่แรม 1 ค่ำเดือน 3 ถึง
          ขึ้น 15 ค่ำเดือน 4 
       พระอาทิตย์สถิตย์ในราศีมีน 
       อาโปธาตุสมุฏฐานพิการ 
       คูถเสมหะ (เสมหะที่ทวารหนัก) ระคนให้เป็นเหตุ




---------------------------------------------------------

ศูนย์การแพทย์แผนไทยภูเก็ต

https://phuketthaitraditionalmedicinecenter.blogspot.com/2013/03/blog-post.html

---------------------------------------------------------

อ้างอิง ตำราแพทย์แผนโบราณทั่วไป 
สาขาเวชกรรม
กองการประกอบโรคศิลปะ




1 comment: