Search This Blog

Tuesday, October 22, 2013

เวชกรรมไทย เล่ม 1 (โรคไข้ต่างๆ) คัมภีร์ฉันทศาสตร์

เวชกรรมไทย เล่ม 1
(โรคไข้ต่างๆ)

คัมภีร์ฉันทศาสตร์





จัดทำโดย อ.หมอสุชาติ ภูวรัตน์
นธ.เอกบาลีประโยค 1-2
(อดีตพระธรรมทูตต่างประเทศ)
B.S. Engineering Design Tech.
 B.A. ศาสนศาสตร์บัณฑิต
B.S. Computer Information Systems
B.TM.  พทย์แผนไทยบัณฑิต
สาขาวิทยาศาสตร์สุขภาพ
บ.ภ.พท.ว.พท.ผ.พท.น.
ครูแพทย์แผนไทย 4 ด้าน
ศูนย์การแพทย์แผนไทยภูเก็ต
ทำเพื่อการศึกษาและประโยชน์แก่ผู้ชม


ว่าด้วยประเภทของไข้ต่างๆ

1. ลักษณะของไข้ ซึ่งเมื่อเวลาจับและกำลังวัน จะบอกว่าไข้นั้นเป็นไข้ประเภทใด มี 3 สถาน คือ


    1)  ไข้เอกโทษ  เริ่มจับเวลาย่ำรุ่ง ถึงบ่าย 2 โมง   
แล้วไข้นั้นจะค่อยๆ คลายลง

    2)  ไข้ทุวันโทษ เริ่มจับเวลาย่ำรุ่ง ถึง 2 ทุ่ม    
แล้วไข้นั้นจะค่อยๆ คลายลง
    3)  ไข้ตรีโทษ  เริ่มจับเวลาย่ำรุ่ง ถึงตี 2       
แล้วต่อถึงรุ่งเช้าแล้วไข้นั้นจะค่อยๆ 
สร่างคลายลง

2. ลักษณะของวันเวลาที่ไข้กำเริบ มี 4 สถาน คือ


    1) กำเดา    กำเริบ     4 วัน
    2) เสมหะ    กำเริบ     9 วัน
    3) โลหิต     กำเริบ     7 วัน 

    4) ลม          กำเริบ   13 วัน

3. กำลังของธาตุกำเริบ มี 4 สถาน คือ

    1) ตติยะชวร    คือ นับจากวันเริ่มไข้  ไปถึงวันที่    4    รวม  4 วัน
    2) ตรุณชวร     คือ นับจากวันที่  5      ไปถึงวันที่     7   รวม  3 วัน
    3) มัธยมชวร   คือ นับจากวันที่  8      ไปถึงวันที่   15   รวม  8 วัน
    4) โบราณชวร  คือ นับจากวันที่ 16   ไปถึงวันที่    17   รวม  2 วัน 

          ต่อไปจากนี้ ธาตุต่างๆ ได้พิการไปแล้วโดยไม่มีกำหนด วันเวลาว่านานเท่าไร ระยะนี้เราเรียกว่า จัตตุนันทชวร

4. ลักษณะไข้ กล่าวไว้ว่าแสดงโทษ ดังต่อไปนี้


   1) ไข้เอกโทษ มี 3 สถาน คือ
        (1) กำเดาสมุฏฐาน มีอาการจิตใจฟุ้งซ่าน ปวดหัว คลุ้มคลั่ง จิตหวั่นไหว ตัวร้อนจัด นัยน์ตาเหลือง แต่ปัสสาวะแดง อาเจียนมีสีเหลือง กระหายน้ำ ปากขม น้ำลายแห้ง ผิวแห้งแตกระแหง ผิวหน้าแดง ตัวเหลือง กลางคืนนอนไม่หลับ เวลาจับ จิตใจมักเคลิ้มหลงใหล น้ำตาไหล
        (2) เสมหะสมุฏฐาน มีอาการหนาวมาก? ขนลุกชันทั่วตัว จุกในอก แสยงขน กินอาหารไม่ได้ ปากหวาน ฝ่ามือฝ่าเท้าขาว อุจจาระปัสสาวะก็ขาวด้วย อาเจียน และเบื่อ เหม็นอาหาร จับสะท้านหนาว
        (3) โลหิตสมุฏฐาน (ไข้เพื่อโลหิต) มีอาการตัวร้อนจัด ปวดหัว กระหายน้ำ เจ็บตามเนื้อตามตัว ปัสสาวะเหลือง ผิวตัวแดง ฟันแห้ง ลิ้นคางแข็ง ปากแห้งน้ำลายเหนียว
   2) ไข้ทุวันโทษ มี 4 สถาน คือ
        (1) ทุวันโทษ ลม และกำเดา มีอาการจับหนาวสะท้าน ตัวร้อนจัด กระหายน้ำ เหงื่อตก จิตใจระส่ำระสาย วิงเวียน ปวดหัวมาก

        (2) ทุวันโทษ กำเดา และเสมหะ มีอาการหนาวสะท้าน แสยงขน จุกแน่นในอก หายใจขัดไม่สะดวก เหงื่อตก ปวดหัว ตัวร้อน

        (3) ทุวันโทษ ลม และเสมหะ มีอาการหนาว ต่อมาจะรู้สึกร้อน (ร้อนๆ หนาวๆ) วิงเวียน เหงื่อไหล ปวดหัว นัยน์ตามัว ไม่ยอมกินอาหาร
        (4) ทุวันโทษ กำเดา และโลหิต มีอาการนอนไม่หลับตอนกลางคืน แต่พอหลับตามักจะเพ้อ ปวดหัวมาก จิตใจกระวนกระวาย ร้อนในกระหายน้ำ เบื่ออาหารไม่ยอมกิน
    3) ไข้ตรีโทษ มี 3 สถาน คือ
        (1) ตรีโทษ เสมหะ กำเดา และลม มีอาการเจ็บตามข้อทั่วทั้งลำตัว ร้อนใน กระหายน้ำ จิตใจระส่ำระสาย เหงื่อไหลโทรมทั่วตัว ง่วงนอนมาก
        (2) ตรีโทษ กำเดา โลหิต และลม มีอาการปวดเมื่อยทั้งตัว ปวดหัวมากที่สุด เกิดวิงเวียนหนักหัว หนาวสะท้าน ไม่ใคร่รู้สึกตัว เหม็นเบื่ออาหาร เชื่อมซึม ง่วงนอน
        (3) ตรีโทษ โลหิต เสมหะ และกำเดา มีอาการเร่าร้อน กระหายน้ำ กลางคืนหลับไม่สนิท จิตใจระส่ำระสาย เหงื่อตก หน้าเหลือง อาเจียนเป็นสีเหลืองมีโลหิต นัยน์ตาแดงจัด อนึ่ง ถ้าหากกำเดา เสมหะ โลหิต และลม ๔ ประการนี้รวมกันให้โทษ 4 อย่าง คือ 1. ตัวแข็ง  2. หายใจขัด 3. ชักคางแข็ง 4. ลิ้นแข็ง ท่านเรียกโทษนี้ว่า มรณชวร หรือตรีทูต
5. กำเนิดไข้โดยรู้จากอาการของไข้นั้นๆ ที่แสดงให้เห็น เช่น

    1) ไข้สันนิบาต มี 3 ลักษณะ คือ


          (1) ไข้ใดให้มีอาการตัวร้อน กระหายน้ำ หมดแรง ปากแตกระแหง นัยน์ตาแดง เจ็บไปทั่วตัว ชอบอยู่ในที่เย็นๆ
          (2) ไข้ใดให้มีอาการตัวเย็น ชอบนอน เบื่ออาหาร เจ็บในคอ และลูกตา นัยน์ตาแดงจัด เจ็บหูทั้งซ้ายขวา เจ็บปวดตามร่างกาย กระหายน้ำ นอนไม่หลับ แน่นหน้าอก หายใจไม่ออก คลื่นไส้อาเจียนเป็นสีเหลือง
          (3) ไข้ใดให้มีอาการสะบัดร้อนสะบัดหนาว ปวดหัว ปวดฟัน เจ็บในคอ ขัดหน้าอก กระหายน้ำมาก ไม่มีแรง อ่อนเพลีย ปัสสาวะ และอุจจาระไม่ใคร่ออก
    2) ไข้สันนิบาตโลหิต  
คือ ไข้ใดให้มีอาการเจ็บที่สะดือแล้วลามขึ้นไปข้างบน วิงเวียน หน้ามืด เจ็บที่ท้ายทอย (กำด้น) ขึ้นไปถึงกระหม่อม สะบัดร้อนสะบัดหนาว ท้องอืดแน่น อาการเช่นนี้ท่านว่า เป็นสันนิบาตโลหิต
    3) ไข้สันนิบาตปะกัง 
คือ ไข้ใดให้เห็นมีเม็ดสีแดงผุดทั่วตัว มีอาการปวดหัวเมื่อตอนพระอาทิตย์ขึ้น 
ไข้นี้เรียกว่า ไข้สันนิบาตปะกัง
    4) ไข้ตรีโทษ 
คือ ไข้ใดเมื่อพิศดูรูปร่างแล้ว มีลายตามตัว มีอาการเพ้อละเมอไป ผู้อื่นพูดด้วยไม่ได้ยินเสียง (หูอื้อ) 
เรียกว่า ไข้ตรีโทษ
    5) ไข้ที่เกิดจากลม และเสมหะระคนกัน
คือ ไข้ใดมีอาการหนาวสะท้าน เกียจคร้าน วิงเวียน ปวดหัว แสยงขน กระหายน้ำ เจ็บบริเวณเอว และท้องน้อย ในปากคอ และน้ำลายแห้ง นอนหลับมักลืมตา ทั้งนี้เพราะลม และเสมหะระคนกัน
    6) ไข้ที่เกิดจากเสมหะ และดีระคนกัน
คือ ไข้ใดให้มีอาการหน้าแดง ผิวหน้าแห้ง กระหายน้ำ นอนไม่หลับ อาเจียน และปัสสาวะออกมามีสีเหลือง มักหมดสติไป ไข้นี้ท่านว่า เสมหะระคนกับดี
   7) ไข้ที่เกิดจากลม และกำเดา
คือ ไข้ใดให้มีอาการท้องขึ้น วิงเวียน สะอึก และอาเจียน ไข้นี้เป็นโทษลม และกำเดากระทำ 

    8) ไข้ที่เกิดจากเลือดลม และน้ำเหลือง 

คือ ไข้ใดที่มีอาการคลื่นไส้อาเจียนแต่น้ำลาย ไข้นี้ท่านว่า เลือดลมและน้ำเหลืองเข้ามาระคนกัน
   9) ไข้เพื่อ (เพราะ) ดี 
คือ ไข้ใดให้มีอาการขมในปาก เจ็บหัว นอนมาก และเจ็บตามตัว โทษนี้เกิดจากเป็นไข้เพื่อ (เพราะ) ดี
  10) ไข้เพื่อ (เพราะ) กำเดา 
คือ ไข้ใดให้มีอาการปวดหัว อาเจียน นอนไม่หลับ กระหายน้ำ? เจ็บในปากและในคอ หรือไข้ใดให้มีอาการเจ็บนัยน์ตา หัวร้อนดังกระไอควันไฟท่านว่ากำเดาให้โทษ
   11) ไข้เพื่อ (เพราะ) โลหิต
คือ ไข้ใดให้มีอาการเจ็บแต่ฝ่าเท้า และร้อนขึ้นไปทั่วตัวให้เร่งรักษาแต่ภายในกลางคืนนั้นอย่าให้ทันถึงรุ่งเช้าจะมีอันตราย มีอาการเจ็บมากที่หน้าผาก จิตใจกระวนกระวาย ท่านว่า เป็นไข้เพื่อ (เพราะ) โลหิต
  12) ไข้เพื่อ (เพราะ) เสมหะ 
คือ ไข้ใดให้มีอาการนอนฝัน เพ้อ น้ำลายมากในปาก มือ และเท้าเย็น อยากกินอาหารคาวหวาน มือและเท้ายกไม่ขึ้น สะบัดร้อนสะบัดหนาว โทษนี้เสมหะกระทำ
  13) ไข้เพื่อ (เพราะ) ลม คือ

           (1) ไข้ใดให้มีอาการ ขมในปาก อยากกินแต่ของแสลง เนื้อสั่นระริก และเสียวทั้งตัว เจ็บไปทั้งตัว จุกเสียด หรือ
          (2) ไข้ใดให้มีอาการหนาวสะท้าน บิดขี้เกียจ ยอกเสียดในอก ท่านว่าเป็นไข้เพื่อ (เพราะ) วาตะ (ลม) หรือ
          (3) ไข้ใดให้มีอาการหนาวสะท้าน อาเจียน แสยงขน ปากหวาน เจ็บไปทั่วตัว อยากนอนตลอดเวลา เบื่ออาหาร หรือ
          (4) ไข้ใดให้มีอาการสะอึก อาเจียน และร้อนรุ่มกลุ้มใจ ท่านว่าเป็นไข้เพื่อ เพราะ) ลม
          (5) ไข้ใดให้หมอดูร่างกายเศร้าดำไม่มีราศี ไอ กระหายน้ำ ฝาดปาก เจ็บอก หายใจขัด เพราะในท้องมีก้อนๆ ทั้งนี้เป็นไข้เพื่อ (เพราะ) ลม 

  14) ไข้เพื่อ (เพราะ) กำเดา
 
คือ ไข้ใดให้มีอาการเจ็บตามผิวหนัง ปัสสาวะเหลือง ร้อนใน กระวนกระวาย ชอบอยู่ที่เย็น นัยน์ตาแดง ลงท้อง กระหายน้ำ ทั้งนี้เป็นไข้เพื่อ เพราะ) กำเดา
   15) ไข้สำประชวร
คือ ผู้ใดมีอาการเป็นไข้เรื้อรังมาเป็นเวลานานๆ รักษาไม่หาย ทำให้ร่างกายซูบผอมไม่มีแรง เบื่ออาหาร ไข้นี้จะเนื่องมาจากไข้เพื่อเสมหะ โลหิต ดี กำเดาหรือลม เป็นเหตุก็ตาม ให้แพทย์สังเกตดูที่นัยน์ตาของคนไข้จะรู้ได้ว่า คนไข้นั้นเป็นไข้เพื่อ (เพราะ) อะไร ซึ่งมี 5 ประการด้วยกัน คือ
          (1) ไข้เพื่อ (เพราะ) กำเดา มีอาการปวดหัวตัวร้อน สะท้านร้อนสะท้านหนาว ไม่มีน้ำตา ปากคอแห้งกระหายน้ำ นัยน์ตาแดงดังโลหิต 
          (2) ไข้เพื่อ (เพราะ) โลหิต มีอาการปวดหัวตัวร้อน หน้าแดงนัยน์ตาแดง มีน้ำตาคลอ 
นัยน์ตาแดงดังโลหิต
          (3) ไข้เพื่อ (เพราะ) เสมหะ มีอาการหนาว แสยงขน ขนลุกทั้งตัว หรือไม่ร้อนมาก นัยน์ตาเหลืองดังขมิ้น
          (4) ไข้เพื่อ (เพราะ) ดี มีอาการตัวร้อน เพ้อคลั่ง ปวดหัว กระหายน้ำ ขอบนัยน์ตาสีเขียวเป็นแว่น
          (5) ไข้เพื่อ (เพราะ) ลม มีอาการวิงเวียน หน้ามืด ตัวไม่ร้อน นัยน์ตาขุ่นคล้ำ และมัว อีกพวกหนึ่งนัยน์ตาไม่สู้แดงนัก (แดงเรื่อๆ) ถ้าเป็นกับชาย เกิดจากเส้นอัมพฤกษ์ ถ้าเป็นกับหญิง เกิดจากเส้นปัตคาด
  16) ไข้เพื่อลม และเสมหะ 
คือ ไข้ใดให้มีอาการปวดหัวมาก ไอ หาวนอน บิดตัวเกียจคร้าน เหงื่อไหล ทั้งนี้เป็นเพราะถูกลมเสมหะมาทับระคน
   17) ไข้เพื่อเสมหะ และกำเดา
คือ ไข้ใดให้มีการซึมมัว กระหายน้ำ ขมปาก ท้องร้อง เจ็บตามตัว เหงื่อไหล ไอ ตัวไม่ร้อน เป็นปกติ ทั้งนี้เป็นเพราะเสมหะ และกำเดา
  18) ไข้ตรีโทษ 
คือ มีโทษ 3 ประการ คือ เจ็บไปทั่วตัว นอนไม่หลับ และเบื่ออาหาร อาการ 3 ประการนี้ จะเกิดขึ้นในขณะอยู่ในทุวันโทษ ซึ่งแพทย์พอรักษาได้
  19) ไข้สันนิบาต
คือ ไข้ใดให้มีอาการไอแห้ง หอบมีเสมหะในคอ เล็บมือ และเล็บเท้าเขียว นัยน์ตาสีเขียว มีกลิ่นตัวสาบดังกลิ่นสุนัข ,แพะ,แร้ง หรือนกกา โกรธง่าย เรียกว่าไข้สันนิบาต มักถึงที่ตาย
20) ลักษณะไข้แห่งปถวีธาตุ 
คือ ไข้ใดเมื่อล้มไข้ลงได้ 1-2 วัน ให้มีอาการเชื่อมมัว หมดสติ ไม่ถ่ายอุจจาระ ถ่ายยาก็ไม่ออก ไม่กินอาหาร แต่อาเจียนออกมาก ถ้าอาการเหล่านี้ยืนนานไปถึง 10-11 วัน ท่านว่า
ตายเพราะเป็นลักษณะแห่งปถวีธาตุ 

21) ลักษณะไข้แห่งวาโยธาตุ 
คือ ไข้ใดเมื่อล้มไข้ลงได้ 3-4 วัน ให้มีอาการนอนสะดุ้ง หมดสติ เพ้อ เรอ อาเจียนแต่น้ำลาย มือ และเท้าเย็น โรคนี้ตาย 2 ส่วน ไม่ตาย 1 ส่วน ทั้งนี้เป็นโทษแห่งวาโยธาตุ ถ้าแก้มือเท้าเย็นให้ร้อนไม่ได้ อาการจะทรงเรื้อรังไปถึง 9 -10 วัน จะตายอย่างแน่แท้
22) ลักษณะไข้แห่งอาโปธาตุ 
คือ ไข้ใดเมื่อล้มไข้ลงได้ 4 วัน มีอาการท้องเดิน บางทีมีเสมหะ และโลหิตตามช่องทวารทั้งหนักและเบา บางทีอาเจียนเป็นโลหิต ไข้ใดเป็นดังนี้ เป็นเพราะอาโปธาตุบันดาลให้เป็นไป ถ้ารักษาแล้วอาการไม่ดีขึ้นอยู่เป็นเวลา 8-9 วัน ต้องตายแน่นอน
23) ลักษณะไข้แห่งเตโชธาตุ 
คือ ไข้ใดเมื่อล้มไข้ลงได้ 3-4 วัน มีอาการร้อนไปทั้งตัว ทั้งภายนอก ภายในทุรนทุรายหัวใจสับสน ต้องใช้น้ำเช็ดตัวไว้เสมอ ลิ้นแห้ง คอแห้ง แห้งในอก กระหายน้ำ คลั่งไคล้ หมดสติไปให้เจ็บโน่นเจ็บนี่ทั่วร่างกาย คล้ายคนมีมารยา อยากกินของแสลง ดุจผีปอบ (ฉะมบปอบ) อยู่ภายใน โทษนี้คือโทษแห่งเตโชธาตุ ถ้าแก้ความร้อนไม่ตก และอาการยืนอยู่ต่อไป 7-8 วัน ต้องตายแน่ 

          ต่อไปนี้ขอให้แพทย์ให้จำไว้ให้แม่นยำว่า ไข้เอกโทษ ทุวันโทษ และไข้ตรีโทษนั้น ถ้ามีการทับสลับกัน ทำให้มีอาการผิดแปลกไปดังต่อไปนี้
        1. ลมเป็นเอกโทษ มักจะเกิดกับบุคคลอายุ 50 ปีขึ้นไปในฤดูวัสสานฤดู เริ่มแต่หัวค่ำให้สะท้านร้อนสะท้านหนาว ปากคอ เพดานแห้ง เจ็บไปทุกเส้นเอ็นทั่วตัว (ปวดเมื่อย) เป็นพรรดึก นอนไม่หลับ จับแต่หัวค่ำ และจะค่อยๆ คลายลงภายใน 4 นาที เรียกว่า เอกโทษลม
        ถ้าไข้นั้นไม่คลายไปจนถึงเที่ยงคืนก็จะเข้าเป็นทุวันโทษ เกิดเป็นเสมหะกับลม และถ้าไข้นั้นยังไม่คลาย จับต่อไปถึงย่ำรุ่งตลอดไปถึงเที่ยงคืน เรียกว่า ตรีโทษประชุมกันเป็นสันนิบาต 
          ท่านว่า ถ้าลมเป็นเอกโทษ พ้น 7 วัน จึงวางยา ถ้าไม่ถึง 7 วัน ไข้นั้นกำเริบ คือ ไข้ยังจับต่อไปอีก ให้แพทย์รีบวางยา
        2. ดีเป็นเอกโทษ มักเกิดกับบุคคลอายุ 30-40 ปี ไข้จะเกิดในคิมหันตฤดู เริ่มแต่เที่ยงวัน มีอาการตัวร้อน คลื่นไส้ อาเจียน กระหายน้ำ กระวนกระวายใจ มึนซึม ในคอมีเสมหะ อุจจาระ ปัสสาวะมีสีเหลืองปนแดง เหงื่อไหล เรียกว่าเอกโทษดี จับแต่เที่ยงไป 5 นาทีก็จะคลาย
        ถ้าดีเป็นเอกโทษจับไข้ยังไม่คลาย จับไปจนถึงค่ำก็เข้าเป็นทุวันโทษ เกิดเป็นลมระคนดี 
         ถ้าไข้นั้นยังไม่คลายลงจนถึงเที่ยงคืน และจับต่อไปจนรุ่งเช้า ท่านว่าเป็นสันนิบาตตรีโทษ ให้รีบวางยา           ท่านว่าถ้าจับเอกโทษดี เริ่มจับแต่เที่ยงวันเป็นต้นไป 4-5 นาที ก็จะสร่างคลาย กำหนด 9 วัน จึงวางยา
          3. เสมหะเอกโทษ มักเกิดกับบุคคลอายุ 15 ปี ในเหมันตฤดูเริ่มจับแต่เช้าตรู่ตอนไก่ขัน มีอาการร้อนข้างนอกกาย แต่ภายในหนาว แสยงขน ไอ คอตีบตื้น กินอาหารไม่ลง เชื่อมมัว ปากหวาน นัยน์ตาขาว อุจจาระปัสสาวะขาว ไข้จับแต่เช้าตรู่ไป 5 นาที เรียกว่า เสมหะเอกโทษ
          ถ้าไข้ยังไม่สร่างคลายไปจนถึงเที่ยงวันจนถึงบ่าย 5 นาที ดีจะมาระคนกับเสมหะ และถ้าไข้ยังจับต่อไปอีกจนถึงเย็นค่ำ และต่อไป เป็นสันนิบาตตรีโทษ
         1. ทุวันโทษเสมหะ และดี เกิดกับบุคคลอายุอยู่ในปฐมวัย คือ ภายใน 16 ปี เป็นไข้ในคิมหันตฤดู มีเสมหะเป็นต้นไข้ และดีเข้ามาระคนเป็น 2 สถาน ทำให้มีอาการสะท้านร้อนสะท้านหนาว ในปาก และคอเป็นเมือก กระหายน้ำ หอบ ไอ เชื่อมมัว ตัวหนัก ไข้เริ่มจับแต่เช้าตรู่ จะสร่างคลายตอนบ่ายโมง 3 นาที
         2. ทุวันโทษดี และลม เกิดกับบุคคลอายุ 30-40 ปี วสันตฤดู มีดีเป็นต้นไข้ เริ่มจับตั้งแต่เที่ยงวันไปจนถึง เย็นค่ำจึงจะสร่างคลาย มีอาการเชื่อมมัว ปวดเมื่อยตามข้อ หาว อาเจียน ปาก และคอแห้ง ขนลุกขนพอง มักสะดุ้ง ตัวร้อน ทั้งนี้เป็นเพราะลมเข้าระคนเป็น ทุวันโทษ
        3. ทุวันโทษลม และเสมหะ เกิดกับบุคคลอายุ 40-50 ปี เหมันตฤดู มีอาการหนักตัว ไอ ปวดหัว เมื่อยตามมือและเท้า มีลมเป็นต้นไข้ เริ่มจับแต่ตอนค่ำไปจนถึงรุ่งเช้าจะสร่างคลายลง มีอาการร้อนรนภายใน เหงื่อไม่มี ข้างนอกเย็น ทั้งนี้เป็นเพราะลม และเสมหะระคนกันเป็น ทุวันโทษ 
           ได้กล่าวถึงเอกโทษ และทุวันโทษแล้วตามลำดับมา ถ้าไข้นั้นยังมิสร่างคลายจับเรื่อยตลอดมา จะเป็นโทษ 3 ระคนกันเข้าเป็นโทษสันนิบาต
 
            สันนิบาตจะเกิดระหว่างฤดู 3 หรือ ฤดู 6  ห้กำหนดในตอนเช้าเป็นต้นไข้กำเริบเรื่อยไปจนถึงเย็น และเที่ยงคืน ท่านว่าไข้นั้นตกถึงสันนิบาต มีอาการสะท้านร้อนสะท้านหนาว เคืองนัยน์ตา น้ำตาไหล เจ็บปวดตามข้อและกระดูกไปจนถึงสมอง เหงื่อออกมาก นัยน์ตาเหลือง บางทีแดง นัยน์ตาถลนมองดูสิ่งใดไม่ชัด ดูดังคนบ้า หูปวดและตึง คันเพดาน หอบ และหายใจสะอื้น ลิ้นปากเป็นเม็ดเน่าเหม็น ลิ้นบวมดำ เจ็บในอก หัวสั่น เวลาหลับตาแต่ใจไม่หลับ ลุกนั่งไม่ไหว พูดพึมพำ อุจจาระบางทีเขียว บางทีดำ กะปริดกะปรอย รอบๆ ข้อมือมีเส้นมีลายสีเขียว สีแดง ถ้าเส้นสีเขียวมีตามตัว ท้องขึ้นผะอืดผะอมมีลมในท้อง ท่านว่าธาตุไฟทั้ง 4 นั้นดับสิ้นจากกาย 

            ถ้าผู้ใดป่วยเข้าขั้นสันนิบาต มีอาการบวมที่ต้นหู จะตายใน 7 วัน ถ้าบวมที่นัยน์ตาจะตายภายใน 5 วัน ถ้าบวมที่ปากจะตายภายใน 7 วัน
         จงจำไว้ว่า ถ้าทุวันโทษลม และเสมหะ อันใดอันหนึ่งจะกล้าหรือจะหย่อน เราจะรู้ได้จากอาการ คือ 
  • ถ้าลมกล้า จะมีอาการท้องผูกปวดเมื่อยตามข้อ ปวดหัว หมดแรง
  • ถ้าเสมหะกล้า ะมีอาการเป็นหวัด ไอ ลุกนั่งไม่สะดวก หนักตัว
  • ถ้าดีกล้า จะจับแต่เที่ยงไปถึงบ่าย และไข้จะค่อยคลายหายไป 
  • ถ้ามีอาการเชื่อมมัว อาเจียน คลื่นไส้ แสดงว่าดีมีกำลังกล้า 
  • ถ้ามีไข้แต่เช้ามืดถึง 3 โมง เชื่อมมัว ตึงตามตัว ตัวหนัก จะนอนไม่ใคร่หลับสนิท ไอ คือ เสมหะให้โทษกล้ากว่าดี ทุวันโทษดี และลม
  • ถ้าลมกล้า จะมีอาการจับไข้แต่บ่าย 3 โมง มีอาการเชื่อมมัว หาวเป็นคราวๆ นอนไม่หลับ จึงถึงเวลาพลบค่ำจึงสร่างคลาย คนไข้จะหลับสนิท ถ้าดีมีกำลังกล้า จะเริ่มจับไข้แต่เที่ยงไป จะมีอาการซวนเซเมื่อลุกนั่งหรือยืน ตัวร้อน อาการนี้จะมีไปถึงบ่าย 5 นาทีจะสร่างคลาย
  • สันนิบาต มี 3 สถาน คือ ดี เสมหะ และลม 
  • ทุวันโทษ ดี และเสมหะ มีลมมาแทรกทำให้แรงขึ้น คือ 
ตั้งแต่บ่าย 5 นาทีถึงสามยาม มีอาการเชื่อมมัว มึนตึงตามตัว หลับหรือตื่นไม่รู้สึกตัว มักนอนสะดุ้ง หูตึง ทั้งนี้เพราะลมมีกำลังกล้ามันจะพัดไปตามหู ตา และคอ 
  • ถ้าเสมหะกล้า จะเริ่มจับแต่บ่าย 5 นาที ไปจนถึงพลบค่ำต่อไปจนถึงสว่าง 3 นาที เช้าอาการจะสร่างคลายลง อาการนั้นมีดังนี้คือ ลุกนั่งไม่สะดวก หอบบ่อยๆ คลื่นไส้ ถ่มน้ำลาย หนักตัว ตึงผิวหน้า ปากลิ้นเป็นเมือก

----------------------------------------------------


คัมภีร์เวชศึกษา (กิจ 4 ประการ)

https://phuketthaitraditionalmedicinecenter.blogspot.com/2013/10/blog-post_19.html



ศูนย์การแพทย์แผนไทยภูเก็ต

https://phuketthaitraditionalmedicinecenter.blogspot.com/2013/03/blog-post.html

----------------------------------------------------

อ้างอิง ตำราแพทย์แผนโบราณทั่วไป สาขา เวชกรรม เล่ม 1
กองการประกอบโรคศิลปะ

ตรวจทานแล้ว





เวชกรรมไทย เล่ม 2 (โรคระบบทางเดินอาหาร) คัมภีร์ธาตุบรรจบ

เวชกรรมไทย เล่ม 2
(โรคระบบทางเดินอาหาร) 

คัมภีร์ธาตุบรรจบ





จัดทำโดย อ.หมอสุชาติ ภูวรัตน์
นธ.เอกบาลีประโยค 1-2
(อดีตพระธรรมทูตต่างประเทศ)
B.S. Engineering Design Tech.
 B.A. ศาสนศาสตร์บัณฑิต
B.S. Computer Information Systems
B.TM.  พทย์แผนไทยบัณฑิต
สาขาวิทยาศาสตร์สุขภาพ
บ.ภ.พท.ว.พท.ผ.พท.น.
ครูแพทย์แผนไทย 4 ด้าน
ศูนย์การแพทย์แผนไทยภูเก็ต
ทำเพื่อการศึกษาและประโยชน์แก่ผู้ชม

เวชกรรมไทย เล่ม 2
(โรคระบบทางเดินอาหาร)
คัมภีร์ธาตุบรรจบ


คัมภีร์ธาตุบรรจบ ว่าด้วย
โรคอุจจาระธาตุ และมหาภูตรูป

โรคอุจจาระธาตุ เป็นโรคทางเดินระบบทางเดินอาหาร 
เมื่อเกิดการเจ็บป่วยขึ้นทำให้มีลักษณะของอุจจาระ
ผิดปกติ เช่น สี กลิ่น และอาการผิดปกติต่างๆ 
เกี่ยวกับการถ่ายอุจจาระ

1. ว่าด้วยสาเหตุของโรคอุจจาระธาตุ  
ผู้ที่เป็นโรคอุจจาระธาตุ มีสาเหตุดังนี้

     1)  เนื่องจากผู้นั้นเป็นไข้ที่มีพิษจัด ตกถึงสันนิบาต 
แล้วเรื้อรังมา ธาตุนั้นแปรปรวน วิปริต 
อุจจาระไม่เป็นปกติ จึงกลายเป็นโรคอุจจาระธาตุ

     2) รับประทานอาหารที่แปลก หรือรับประทานอาหาร
มากเกินกว่ากำลังธาตุ เป็นต้นว่า เนื้อสัตว์ดิบ
หรือเนื้อสัตว์ที่มีคาวมาก และไขมันต่างๆ 
หรือของหมักดอง หรือของบูดเน่า ธาตุนั้นก็วิปริต
แปรปรวน กระทำให้ท้องขึ้น ท้องเฟ้อ เรอเหม็นเปรี้ยว 
ให้จุกเสียด อุจจาระก็วิปริตต่างๆ 
จึงกลายเป็นโรคอุจจาระธาตุ

     3) ธาตุสมุฎฐาน มหาภูตรูป 4 
ประชุมกันในกองสมุฎฐาน โทษละ 3 ละ 3 
ทำให้สมุฎฐานธาตุ กำเริบ หย่อน พิการ 
โดยพระอาทิตย์สถิตใน  12 ราศี 
ตามในพิกัดสมุฏฐาน ฤดู 6 กระทบให้เป็นเหตุ 
จึงกลายเป็นโรคอุจจาระธาตุ

2. ว่าด้วยกองพิกัดสมุฎฐานมหาภูตรูป 
 (มหาภูตรูปเต็มหมวดหมู่) มีดังนี้

     1) พัทธะปิตตะ อพัทธปิตตะ กำเดา  
ทั้ง 3 อย่างนี้ เป็นพิกัดในกองสมุฎฐานเตโช

     2) หทัยวาตะ สัตถกะวาตะ สุมนาวาตะ 
ทั้ง 3 อย่างนี้ เป็นพิกัดในกองสมุฎฐานวาโย

     3) ศอเสมหะ อุระเสมหะ คูถเสมหะ     
ทั้ง 3 อย่างนี้ เป็นพิกัดในกองสมุฎฐานอาโป

     4) หทัยวัตถุ อุทริยะ กรีสะ 
ทั้ง 3 อย่างนี้ เป็นพิกัดในกองสมุฎฐานปถวี
ทั้ง 3 กองนี้ เรียกว่า มหาภูตรูปเต็มหมวดหมู่
         แต่สมุฎฐานปถวีนี้ได้เป็นชาติ จะละนะ ขึ้นนั้น
หามิได้ แต่เมื่อใดสมุฎฐานทั้ง 3 สิ่งใดสิ่งหนึ่งก็ดี 
เกิดเป็นชาติจะละนะขึ้นแล้ว สมุฎฐานปถวีก็พลอย
มีกำลังขึ้น และสมุฎฐานทั้งปวง ก็กำเริบแรงกว่าเก่า 
เหตุว่าปถวีนั้นเป็นที่ตั้งแห่งภูมิโรคทั้งหลาย 
และเป็นที่ค้ำชู อุดหนุนโรคให้จำเริญ และจึงได้นาม
ว่า มหาสันนิบาต หรือสันนิบาตกองใหญ่
          มหาภูติรูป 4 บังเกิดขึ้นเมื่อกองปถวีธาตุ กำเริบ 
หย่อน พิการ มีพิกัดสมุฎฐานให้เป็นเหตุ คือบุคคลใด 
ไข้ก็ดี ไม่ได้ไข้ก็ดี ถ่ายอุจจาระออกมาเป็นสีดำ สีแดง 
สีขาว สีเขียว มีลักษณะเป็น มูลแมว มูลไก่ มูลเต่า 
หยาบก็ดี ละเอียดก็ดี มีอาการให้โทษ 15 ประการ คือ
     1. ให้ปวดท้อง

2.  ให้บริโภคอาหารไม่ได้
3.  ให้อาเจียน
   4. ให้นอนไม่หลับ

   5. ให้มึนมัวจับสะบัดร้อนสะบัดหนาวเป็นพิษ

   6. ให้ถ่ายอุจจาระปัสสาวะ ไม่สะดวก

7.  ให้แน่นอกคับใจ
8.  ให้เสียวไปทั่วร่างกาย
   9. ให้เมื่อยทุกข้อทุกกระดูก

10.  ให้กลุ้มจิตระส่ำระสาย
11.  ให้เจรจาพร่ำพรู
12.  ให้ร้อนกระหายน้ำ
   13. ให้ร่างกายซูบผอม ผิวหนังสากแห้ง

   14. ให้เกิดละอองเป็นขุมขึ้นตามลิ้นตามปาก

15.  ให้เสียดตามชายโครง

       โทษทั้ง 15 ประการนั้นเรียกว่า 
อุจจาระธาตุลามก ระคนด้วยมหาสันนิบาต 
และระคนไปในธาตุอภิญญาณ คือธาตุเป็นเอกโทษ 
จะละนะทุวันโทษ ภินนะตรีโทษ และ
อสุรินทัญญาณธาตุคือธาตุนั้นสำแดงให้รู้ดุจผีสิง 
ตกเข้าระหว่างอชินธาตุคือธาตุไม่ย่อยไป 
ลักษณะอาการที่กล่าวมานี้เรียกว่า 
อุจจาระลามกระคนด้วยมหาสันนิบาต 
โรคอย่างนี้รักษายากกว่าโรคทั้งปวง 
เพราะเป็นโรคเรื้อรัง ถ้าให้ยาไม่ถูกกับโรค 
ครั้นอยู่นานเข้าก็แปรไปเป็นอสาทิยะอุจจาระ
คันธารธาตุ บังเกิดเป็นปะระเมหะเมือกมัน 
เปลวไต ทุลาวสา คือ ปัสสาวะพิการต่างๆ
           ความสำคัญกองมหาพิกัดสมุฎฐาน และ
มหาภูตรูปเต็มหมวดหมู่โดยย่อ ลักษณะกองโทษ
เกิดขึ้น 15 ประการ ซึ่งได้กล่าวมาแล้วนั้น 
เมื่อย่อลงแล้วจะมีลักษณะ 6 ประการ คือ:-
1.   อาการซึ่งกระทำให้วิปริตต่างๆ 
ระคนด้วยอังคะมังคานุสารีวาตา
2.    ให้ปวดอุทร ให้เสียวชายโครงและท้องน้อย 
โทษแห่งปิตคาด สัณฑฆาต รัตฆาต 
กระทำไม่ได้ เป็นปกติระคนกันเป็นเถาวัลย์เกลียว
3.    บริโภคอาหารมิได้ ให้อาเจียน 
โทษแห่งปิงคลา (เส้น) กระทำ
4.     ให้ร้อนกระหายน้ำ กระวนกระวาย 
เจรจาพร่ำพรู โทษแห่งสุมนากระทำให้กำเริบขึ้น 
พัดดวงหทัยระส่ำระสายไม่ได้เป็นปกติ
5.     นอนไม่หลับจับเป็นพิษ โทษแห่งอังพฤกษ์
กระทำตลอดถึงสุมนา กำเริบ หย่อน 
พิการ ไม่ได้เป็นปกติ
6.     อุจจาระปัสสาวะไม่สะดวก และให้แสบอกคับใจ 
โทษแห่งกุจฉิสยาวาตา และโกฎฐาสยาวาตา 
กำเริบขึ้นในลำไส้ไม่ได้ปกติ จัดเป็นหมวดหมู่แห่ง
อชินธาตุ ห้บังเกิดมีลักษณะ 6 ประการ
ดังกล่าวมานี้
3. ว่าด้วยลักษณะอุจจาระธาตุ
     1) ลักษณะอุจจาระธาตุเป็นเมือกมัน เปลวไต หยาบ
ก็มี ละเอียดก็มี มีลักษณะดังมูลแมว มูลไก่ มูลเต่า 
ลักษณะอุจจาระซึ่งจะวิปริตต่างๆนั้นเพราะอุจจาระธาตุ
เสียด้วยลม โกฐฐาสยาวาตา ไม่ได้พัดชำระปะระเมหะ 
และเมือกมันในลำไส้ให้ตกเป็นตะกรันติคราบไส้อยู่
ระคนด้วยด้วยอุจจาระธาตุ ครั้นเดินสู่ลงช่วงทวาร
ก็ลำลาบแตกออกเป็นโลหิต บางทีเป็นเม็ดยอดขึ้นตาม
ขอบทวารเจ็บแสบขบ บางทีขึ้นที่ต้นไส้ ต่อลำกรีสมัด 
(ทางเดินอาหารเก่า) ก็มี มีอาการดุจนิ่ว และไส้ด้วน 
ไส้ลาม สมมุติเรียกต่างๆ บางทีเรียก ดานเถามุตฆาต 
นิ่วปะระเมหะ กระษัยกล่อน และริดสีดวง 
บางทีเรียกว่า ลามกอติสาร และโทษดังนี้ 
เกิดแก่กองลามก แต่จะได้ถึงลามกเป็นมลทินในมูลธาตุ
ทั้งปวงดังที่กล่าวมาแล้ว
       2) ว่าด้วยอุจจาระธาตุ อุจจาระธาตุ
มีลักษณะเป็นสีดำ แดง ขาว เขียว

           (1) ปถวีธาตุ มีลักษณะอาการกระทำให้
เสมหะเน่า ให้เจ็บท้อง ท้องขึ้น ให้เสียดแทง และ
เป็นอัมพฤกษ์ก็มี เป็นกระษัย เป็นป้าง เป็นช้ำ 
เนื้อเล็บมือเล็บเท้าเหี่ยวให้โลหิตตกทวารหนัก 
ทวารเบา กินอาหารไม่ได้ (อุจจาระออกมาเป็นสีดำ)

           (2) อาโปธาตุ ให้ลงท้อง เจ็บหน้าอก 
แปรเป็นกล่อน อุจจาระปัสสาวะไม่ออก นอนไม่หลับ 
ขัดหัวเข่า ปวดท้องเป็นพรรดึก กลิ้งขึ้น ขัดสีข้าง 
ถ้าหญิงขัดซ้ายรักษายากนัก แล้วแปรไปให้ขัดหัวเข่า 
และน่อง ให้เท้าเย็นมือเย็น บังเกิดเสลดกล้า ผอมแห้ง 
เจ็บหน้าอก ร้อนหน้าตาดังไข้จับ 
(อุจจาระออกมาเป็นสีแดง)

           (3) วาโยธาตุ ให้ตาพร่า เมื่อยมือเมื่อยเท้า 
เป็นตะคริว และขัดหัวเข่า เมื่อยสันหลังสองเกลียว
ข้างแข็ง สมมุติว่าเป็นฝีเส้น อาเจียนแต่ลมเปล่า 
ขัดอกเจ็บในท้อง หนักหน้าตา 
(อุจจาระออกมาเป็นสีขาว)

           (4) เตโชธาตุ กระทำให้ร้อนปลายมือปลายเท้า 
ให้เจ็บปวดดุจปลาดุกยอก แปรไปให้สันหลังบวม 
และผื่นขึ้นทั่วสรรพางค์กายดังผด และหัด 
ทำให้เจ็บท้อง และตกบุพโพ (หนอง) โลหิต ให้มือ 
และเท้าตาย แก้มิฟังจะมรณะ 
(อุจจาระออกมาเป็นสีเขียว)

       3) ว่าด้วยอสาทิยะอุจจาระคันธารธาตุ
      (1) กลิ่นดังหญ้าเน่ ระคนด้วย มลอะชินะ 
(เตโชธาตุสมุฎฐาน) ให้เป็นเหตุ มีอาการให้ปากแห้ง 
คอแห้ง ให้หนักตัว ให้วิงเวียน ให้อุจจาระปัสสาวะ
ไม่สะดวก ให้เหงื่อไหลหยดย้อย 
(อาการให้โทษ 5 ประการ)
      (2)  กลิ่นดังข้าวบูด ระคนด้วย วิวัฒฑะอชินะ 
(วาโยธาตุสมุฎฐาน) ให้เป็นเหตุ มีอาการให้โทษ
 5 ประการคือ ให้เสียดแทง ให้เจ็บคอ ให้คันจมูก 
ให้เมื่อยทั่วร่างกาย ให้ตะครั่นตะครอ
      (3) กลิ่นดังปลาเน่า ระคนด้วยมะอะชินะ 
(อาโปธาตุสมุฎฐาน) ให้เป็นเหตุ มีอาการให้โทษ 
3 ประการ คือ ให้อุจจาระปัสสาวะไม่สะดวก 
ให้เจ็บอก ให้น้ำลายไหล

 (4) กลิ่นดังซากศพเน่าโทรม ระคนด้วย
วัฒฑะอชินะ (ปถวีธาตุสมุฏฐาน) ให้เป็นเหตุ 
มีอาการให้โทษ 3 ประการ คือ ให้เจ็บอก 
ให้เจ็บในท้อง ให้บวมมือ บวมเท้า 
บางที่บวมทั่วร่างกาย
          อนึ่งคันธะลามกโทษทั้ง 4 ประการนี้
แปรมาจากอุจจาระธาตุลามก ตกอยู่ในระหว่าง
อสาทิยะอุจจาระคันธารธาตุ แต่ในอสาทิยะ
พิกัดสมุฎฐานนั้นมีอยู่ 3 สมุฎฐาน คือ

       1.  อสาทิยะโบราณชวร
       2.  อสาทิยะมรณันติกชวร
       3.  อสาทิยะอชินชวร

1.      อสาทิยะโบราณชวร คือ อาศัยโดยแปร
ตามสมุฎฐานแห่งอายุเดินเข้าสู่ความชรา 
เปรียบดังผลไม้ที่บริสุทธิ์ เมื่อถึงกำหนดสุก 
และงอมแล้ว ผลนั้นก็หล่นลงเอง จัดเป็น
ปฐมอสาทิยะพิกัดสมุฎฐานหนึ่ง 
จะให้ยานั้นยากนัก

2.      อสาทิยะมรณันติกชวร คือ โรคบังเกิดเป็น
โอปักกะมิคโรค คือตกลงจากที่สูงหรือต้อง
ทุบถอง โบยตี ต้องราชอาญา อหิวาตกโรค 
และโรคที่เกิดเป็นพิษต่างๆ มีพิษดี พิษโลหิต 
และพิษเสมหะ เป็นต้น จัดเป็นมัชฌิมะอสาทิยะ 
พิกัดสมุฎฐานหนึ่ง จะให้ยานั้นยากนัก

3.      อสาทิยะชินชวร คือ โรคเก่าคร่ำคร่า เรื้อรัง 
หรือโรคธรรมดาก็ว่า ด้วยบังเกิดอชินโทษ
อยุู่เนืองๆ เหตุเพราะบริโภคอาหารไม่ถูกกับธาตุ 
ข้นั้นก็มีอาการทรุดไป อย่างนี้เรียกว่า อชินธาตุ 
ถ้าให้ยารับประทานไม่ถูกกับไข้ ไข้นั้นก็ไม่หาย 
เป็นแต่ทรงอยู่ และทรุดไป เรียกว่า อชินโรค 
ให้อาหารไม่ถูกกับธาตุหรือ แสลงกับธาตุนั้น
เรียกว่า อชินธาตุ ให้ยาไม่ถูกกับโรค อาการทรุดไป 
เรียกว่า อชินโรค (ให้อาหารไม่ถูกกับธาตุ 
หรือให้ยาไม่ถูกกับโรค เรียกว่า อชินโทษ)

4. ยารักษาโรคอุจจาระธาตุ มี 4 ขนาน คือ

ขนานที่ 1 ชื่อยาพรหมภักตร์

ส่วนประกอบ 
  
1. โกฐทั้งห้า  2. เทียนทั้งห้า  (อย่างละ 1 ส่วน)

3. ตรีผลา  4. ตรีกฎุก  5. เปราะหอม  
6. ผลเอ็น  (สิ่งละ 2 ส่วน)

 7. ผลจันทน์   8. การบูร   9. ขิง  10. ยาดำ  (สิ่งละ 4 ส่วน)

วิธีใช้  บดเป็นผง บดทำเป็นเม็ดไว้รับประทาน 
รับประทานครั้งละ 1 เม็ด ก่อนอาหาร 3 เวลา 
เช้า กลางวัน เย็น ละลายน้ำเปลือกมะรุมต้ม 
เป็นกระสาย
สรรพคุณ แก้ท้องเสีย แก้ปวดท้อง ขับลม

ขนานที่ 2 ชื่อยามหาพรหมภักตร์

ส่วนประกอบ   
1. โกฐสอ  2. โกฐหัวบัว  3. โกฐชฎามังสี  
4. เทียนดำ  5. เทียนขาว  (สิ่งละ 1 ส่วน)

6. เปราะหอม  7. ผลเอ็น  8. ลูกผักชีทั้งสอง   
9. ลูกโหระพาเทศ  (สิ่งละ 2 ส่วน)

10. รากส้มกุ้งน้อย  11. เปล้าน้อย  (สิ่งละ 3 ส่วน)
12. หัศคุณเทศ  13. ยาดำ  (สิ่งละ 4 ส่วน )
14. ตรีกฎุก  15. มหาหิงคุ์  16. กานพลู  
17. การบูร (สิ่งละ 5 ส่วน)

18. ลูกสมอไทย   (สิ่งละ 8 ส่วน)
19. ยางสลัดไดประสะ  (สิ่งละ 24 ส่วน)

วิธีใช้  บดเป็นผง เอาน้ำโสฬสเบญจกูล เป็นกระสาย 
บดทำเป็นเม็ด ไว้กินตามกำลัง
สรรพคุณ แก้อุจจาระธาตุไม่ปกติ

ขนานที่ 3 ชื่อยามหิทธิมหาพรหมภักตร์

ส่วนประกอบ 
 
1. โกฐกระดูก  2. โกฐเชียง  3. โกฐจุฬาลัมพา  
4. โกฐจุฬารส  5. เทียนดำ  (สิ่งละ 1 ส่วน)
 
6. ลูกราชดัด   7. ลูกโหระพาเทศ  8. ลูกผักชีทั้งสอง  
(สิ่งละ 2 ส่วน)

9. เปราะหอม  10. สมุลแว้ง  11. จันทน์ทั้งสอง  
(สิ่งละ 3 ส่วน)

12. ลูกสมอไทย  13. กานพลู   14. ลูกจันทน์   
(สิ่งละ 3 ส่วน)

15. ตรีกฎุก  16. มหาหิงคุ์  17. ยาดำ  18. หัศคุณเทศ  
(สิ่งละ 4 ส่วน)

19. รากจิงจ้อ  20. การบูร  21. รากส้มกุ้ง  (สิ่งละ 4 ส่วน)

22. ยางสลัดไดประสะ  (สิ่งละ 32 ส่วน)

วิธีใช้ บดเป็นผง ใช้พิกัดเบญจกูลเป็นกระสายยา 
ทำเป็นเม็ดไว้รับประทานก็ได้ หรือใช้น้ำผึ้งปั้น
เป็นลูกกลอนก็ได้ 
รับประทานครั้งละ 1 เม็ด 3 เวลาก่อนอาหาร
สรรพคุณ แก้ท้องเสีย และแก้โรคธาตุผิดปกติ

ขนานที่ 4 ชื่อยาอัศฎาธิวัต

ส่วนประกอบ 
 
1. ดอกบุนนาค  2. เกสรบัวหลวง  3. เทียนดำ  (สิ่งละ 2 ส่วน)

4. เบญจกูล  5. กะทือ   6. ไพล  
7. ข่า  8. กระชาย  9. หัวหอม  (สิ่งละ 4 ส่วน)

10. กระเทียม  11. ขมิ้นอ้อย  12. ผลมะตูมอ่อน  
(สิ่งละ 4 ส่วน)

13. ยาดำ  (5 ส่วน)

14. ลูกสมอเทศ  15. ลูกสมอพิเภก  (สิ่งละ 8 ส่วน)

16. ลูกสมอไทย  17. เปลือกต้นไข่เน่า  
18. รากเล็บมือนาง  (สิ่งละ 1 กำมือ)

19. รากอ้ายเหนียว  20. กระพังโหม  
21. กะเพราทั้งห้า (สิ่งละ 1 กำมือ)

22. ฝักราชพฤกษ์  (จำนวน 10 ฝัก)

วิธีใช้  ขยำเอาน้ำเป็นกระสาย ต้มตามวิธี ให้รับประทาน
สรรพคุณ แก้จุกเสียด แก้อาเจียน บริโภคอาหารไม่ได้ 
แก้ปวดท้อง ท้องเสีย และรักษาโรคริดสีดวงทวาร

5. ยารักษาโรคอุจจาระธาตุ 
ยาสามัญประจำบ้านแผนโบราณ

ขนานที่ 1. ชื่อยาธรณีสันฑะฆาต

ส่วนประกอบ  
ลูกจันทน์  ดอกจันทน์  ลูกกระวาน  กานพลู  เทียนดำ  
เทียนขาว  หัวดองดึง  หัวบุก หัวกลอย  หัวกระดาดขาว  
หัวกระดาดแดง ลูกเร่ว ขิง ชะเอมเทศ รากเจตมูลเพลิงแดง  
โกฐกระดูก โกฐเขมา โกฐน้ำเต้า (หนักสิ่งละ 1 ส่วน) 
ฟักแพวแดง  เนื้อลูกมะขามป้อม (หนักสิ่งละ 2 ส่วน)  
เนื้อลูกสมอไทย มหาหิงคุ์ การบูร (หนักสิ่งละ 6 ส่วน)
รงทอง (ประสะแล้ว) หนัก 4 ส่วน
ยาดำ หนัก 20 ส่วน
พริกไทยล่อน หนัก 96 ส่วน
วิธีทำ บดเป็นผง
สรรพคุณ
แก้กระษัยเส้น เถาดาน ท้องผูก

ขนาดรับประทาน วันละ 1 ครั้ง ก่อนอาหารเช้า
หรือก่อนนอน ครั้งละ 1/2 - 1 ช้อนกาแฟ 
ละลายน้ำสุก หรือผสม น้ำผึ้งปั้นเป็นลูกกลอน

คำเตือน คนเป็นไข้ หรือสตรีมีครรภ์ ห้ามรับประทาน
--------------------------------------------------------------

ศูนย์การแพทย์แผนไทยภูเก็ต

https://phuketthaitraditionalmedicinecenter.blogspot.com/2013/03/blog-post.html

--------------------------------------------------------------
อ้างอิง ตำราแพทย์แผนโบราณทั่วไป 
สาขาเวชกรรม เล่ม 2
กองการประกอบโรคศิลปะ

--------------------------------------------------------------
ตรวจทานแล้ว